หลวงพ่อพระอินทร์แปลง วัดพระอินทร์แปลง จ.นครพนม |
"วัดพระอินทร์แปลง" ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร อ.เมือง จ.นครพนม ตั้งเมื่อ พ.ศ.2393 เดิมชื่อว่า "วัดอุโมงค์" กระทั่งใน พ.ศ.1637 สมัยเจ้าครูอุด อดีตเจ้าอาวาสวัด เห็นว่าอุโมงค์ได้รื้อทิ้งแล้ว จนสร้างเป็นสิม (อุโบสถ) จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกวัดแห่งนี้ ว่า "อินแปง" ตามชื่อพระประธานมาหลายยุคสมัย
จนมาถึงในปี พ.ศ.2470 กรมการศาสนา มีการสำรวจวัดทั่วราชอาณาจักร เพื่อขึ้นทะเบียนไว้ในทำเนียบวัด โดยให้ใช้ชื่อว่า "วัดพระอินทร์แปลง" ตั้งแต่ปีนั้นมาถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2485 โดยมีพระครูอินทรกัลยาณคุณ เป็นเจ้าอาวาส
ในอุโบสถวัด มีพระพุทธรูปประธานศักดิ์สิทธิ์ มีนามเรียกขานว่า "หลวงพ่อพระอินทร์แปลง" เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่สวยงาม และมีประวัติการสร้างเป็นตำนานเล่าขาน
ประวัติหลวงพ่อพระอินทร์แปลง วัดพระอินทร์แปลง จ.นครพนม
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า มีพวกมารศาสนาและมิจฉาชีพจำนวนมาก พยายามจะลักลอบเข้ามาขโมยองค์พระพุทธรูป จนเป็นเหตุให้เมื่อเสร็จกิจของสงฆ์ภายในวัดแล้ว ประตูอุโบสถจะถูกปิดลงในทันที ทำให้ชาวบ้านที่จะเข้ามาสักการะหรือบนบาน เป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลให้คนรุ่นหลังแทบไม่ทราบเลยว่า มีพระพุทธรูปคู่เมืองนครพนมมานับพันปี ประดิษฐานอยู่ ณ ที่วัดแห่งนี้
"หลวงพ่อพระอินทร์แปลง" เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย ตามตำนานเล่าว่า ในปี พ.ศ.1390-1393 พระหน่อหลักคำ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 1 มีความประสงค์จะจัดสร้างพระประธาน ขนาดหน้าตักกว้าง 59 นิ้วขึ้นมาองค์หนึ่ง เพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถ
แต่ปรากฏว่าสร้างไม่สำเร็จ เพราะไม่ว่าจะหล่อกี่ครั้งก็ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเศียรเป็นรูอัปลักษณ์ จนช่างหล่อพระและเจ้าอาวาส ตลอดจนญาติโยมพากันหมดกำลังใจ จึงเลิกล้มและปล่อยให้เป็นพระเศียรขาดอยู่อย่างนั้นส่วนทองที่เหลือได้นำไป หล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดต่างๆ แทน อย่างไรก็ตาม การที่เอาพระพุทธรูปเศียรขาด ตั้งประดิษฐานไว้ สร้างความกระทบกระเทือนใจของชาวพุทธที่พบเห็นเป็นยิ่งนัก ด้วยเหตุดังกล่าวพระหน่อหลักคำ จึงได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันก่ออุโมงค์ดินครอบองค์พระเอาไว้ จนเป็นที่มาขอชื่อวัดอุโมงค์ในอดีตนั่นเอง
ส่วนเหตุที่ตั้งชื่อวัดว่า วัดพระอินทร์แปลง ตามตำนานเล่าอีกว่า เจ้าอาวาสรูปเดิมได้นิมิตฝันว่า มีพระอินทราธิราช พร้อมด้วยเทพยดา เหาะเสพมโหรีแห่เศียรพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามลงมาจากสรวงสวรรค์ แล้วแปลงกายเป็นชีปะขาวเสด็จลงมาช่วยหล่อและลงมือแกะบล็อกเอง โดยให้พระและญาติโยมช่วยกันสูบทองต้มทอง ส่วนท่านเป็นผู้เทเศียร แล้วนำไปต่อกับพระศอ ก่อนที่พระอินทราธิราชจะเสด็จหายไป หลังจากที่พระหน่อหลักคำตื่นจากฝัน จึงเล่าให้ญาติโยมฟัง ทุกคนจึงลงความเห็นทันที ว่า พระอินทร์เสด็จลงมาช่วย ตามตำนานยังมีเรื่องเล่าขานถึงความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระอินทร์แปลง โดยย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 70 ปี ทุกวันพระ 15 ค่ำ จะพบลูกไฟขนาดผลส้มโอ สีนวลสว่าง ลอยข้ามไปยังพระธาตุศรีโคตรบอง เมืองท่าแขก ประเทศลาว
กระทั่งจวนรุ่ง จึงลอยกลับคืนมา และเมื่อสมัยสงครามไทย-ฝรั่งเศส ลูกปืนที่ยิงข้ามแม่น้ำโขงมาจากฝั่งลาว ไม่สามารถกล้ำกรายที่วัดได้เลย แต่ที่อื่นโดนลูกปืนพรุนไปหมด พอสงครามสงบลง ชาวบ้านลงไปงมหอย กลับพบว่าลูกปืนจมเกลื่อนใต้แม่น้ำเต็มไปหมด ด้วยพุทธลักษณะของหลวงพ่อพระอินทร์แปลง หากมองเวลากลางวันสีพระพักตร์จะเหลืองอร่ามเป็นเงาวับสดใสไม่มีหมองมานานนับ พันปี ผิดกับพระพุทธรูปอื่นๆ ที่ต้องคอยขัดถูพระพักตร์เป็นประจำ ส่วนในเวลาใกล้ค่ำหรือกลางคืน สีพระพักตร์ของหลวงพ่อจะเปลี่ยนไปคล้ายกับว่ามีสีทองอมเขียวทึบ คล้ายมรกต อิ่มเอิบมีอำนาจ น่าเคารพเลื่อมใส
ผู้ที่ได้มากราบไหว้ รวมทั้งได้บนบานศาลกล่าวจากหลวงพ่อพระอินทร์แปลง จะประสบความสัมฤทธิผล โดยเฉพาะด้านหน้าที่การงาน การสอบแข่งขัน ของหายได้คืน และขอให้หายเจ็บไข้
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
ชนะ วสุรักคะ ที่มา...