พระคันธารราษฎร์ วัดหน้าพระเมรุ จ.อยุธยา |
"พระคันธารราษฎร์ วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.อยุธยา" เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ประทับนั่งห้อยพระบาท ศิลปะแบบทวารวดี ปางปฐมเทศนา หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร ขนาดสูง 5.20 เมตร พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำอยู่บนพระชานุ เบื้องพระปฤษฎางค์มีพนักและเหนือขึ้นไปหลังพระเศียรมีประภามณฑลหรือรัศมี สลักลายที่ขอบ
พระคันธารราษฎร์ สร้างจากศิลาเขียว ประดิษฐานอยู่ในวิหารสรรเพชญ์ หรือวิหารเขียว หรือวิหารน้อย ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งสร้างวิหารขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
วิหารคันธารราษฎร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอุโบสถ เป็นวิหารขนาดเล็ก กว้าง 11.50 เมตร ยาว 25 เมตร หันหน้าออกไปทางทิศใต้หรือไปทางแม่น้ำลพบุรี มีมุขหน้าหลังคามุงกระเบื้องดินเผาประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันสลักลายดอกไม้และนก มีประตูเข้าสู่ภายในพระวิหารเฉพาะด้านหน้าประตูเดียว เป็นประตูไม้แกะสลักลายก้านขดเคล้าภาพเป็นภาพเทพนม ครุฑ นาค และนก ตอนล่างแกะลายฐานสิงห์
ตอนบนเป็นวิมานและลายเปลว (ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจเป็นสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นปิดทอง ตรงกลางทำเป็นรูปอาคารแบบยุโรป ล้อมด้วยลายดอกไม้มีลายเครือเถาอยู่ที่กรอบ เป็นลายแบบฝรั่งปนจีนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 ผนังด้านข้างของวิหารมีหน้าต่างด้านละ 1 บาน ผนังด้านในมีจิตรกรรมฝาผนัง เขียนภาพเล่าเรื่องชาดก ปัจจุบันภาพเขียนยังคงอยู่แม้จะเลือนรางไปบ้างตามกาลเวลา
พระคันธารราษฎร์ มีอยู่ทั้งหมด 6 องค์ พบในประเทศไทยเพียง 5 องค์ อยู่ที่พระคันธารราษฎร์ วัดพระปฐมเจดีย์3 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสาม พระยา (พระนครศรีอยุธยา) 1 องค์ วัดหน้าพระเมรุ 1 องค์ และอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ มีเพียงองค์เดียวที่สร้างด้วยศิลาเขียว อยู่ที่วัด หน้าพระเมรุ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือทั้งหมดสร้างด้วยศิลาขาว
พระคันธารราษฎร์ เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว เมื่อผ่านกาลเวลามายาวนาน ทำให้กลายเป็นสีเข้ม จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ จะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียว ด้วยแกะสลักจากหินทราย
พระพุทธรูปศิลาองค์นี้ สันนิษฐานว่าเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ มาก่อน ซึ่งวัดมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการบูรณะ ได้ขุดพบพระพุทธรูปศิลาองค์นี้ แล้วได้มีการเคลื่อนย้ายนำไปไว้ที่วัดหน้าพระเมรุ เชื่อกันว่าผู้ใดได้มาสักการบูชาแล้วจะอายุยืนมั่นคงดั่งศิลา ความเก่าแก่ของหลวงพ่อคันธารราษฎร์ เก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของบุโรพุทโธ บนเกาะชวา ในประเทศอินโด นีเซีย
วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัว ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง เดิมชื่อว่า "วัดพระเมรุราชิการาม" เป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกพม่าทำลายในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เนื่องจากพม่าไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่แห่งนั้น จึงยังคงสภาพดี พระองค์อินทร์ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดหน้าพระเมรุ เมื่อพ.ศ.2046 ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหา จักรพรรดิ ได้ทรงตั้งพลับพลาระหว่างวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส เป็นที่ทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
สถาปัตยกรรมของวัด อยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น คือ พระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องไว้เป็นลูกกรง พระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่องปางมารวิชัย งดงามเป็นที่ยิ่ง หน้าบันไม้สักลงรักปิดทองสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดเศียรนาคหน้าราหูล้อม รอบด้วยหมู่เทพนม 26 องค์ ตรงอาสนสงฆ์มีจารึกเป็นกาพย์ห่อโคลงและกาพย์ยานี วัดหน้าพระเมรุได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วิหารน้อยหรือวิหารเขียนมีบานประตูไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในเคยมีจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบปัจจุบันลบเลือนมาก
ปัจจุบัน วัดแห่งนี้ มีชื่อเต็มว่า วัดหน้าพระเมรุราชิการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท คณะธรรมยุติกนิกาย มีพระครูวิมลวิหารการ เป็นเจ้าอาวาสวัด
ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
วิเชียร นรสิงห์