"หลวงพ่อพระอินทร์แปลง" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ภายในพระวิหาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับตำนานพระอินทร์
หลวงพ่อพระอินทร์แปลง วัดเสนาสนารามเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก สูง 3 ศอก 2 นิ้ว มีฐานชุกชีในตัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวร มหาศักดิพลแสน นำมาจากเมืองเวียงจันทน์ ในครั้งที่ยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2401 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานที่วัดเสื่อ (ซึ่งเป็นวัดร้าง) มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าเมื่อปี พ.ศ.2310 ปัจจุบันเป็นวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
มีตำนานเล่าเรื่องเกี่ยวกับหลวงพ่อพระอินทร์แปลง ว่า ชาวเมืองเวียงจันทน์ ต้องการจะสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาประจำเมืองเวียงจันทร์ จึงรวบรวมเงินบริจาคพอที่จะหล่อเป็นองค์พระได้ โดยนำช่างหล่อที่มีฝีมือมาหล่อ การหล่อครั้งนั้นมีความพยายามอยู่หลายครั้ง แต่ปรากฏว่าทองสำริดไม่จับกับองค์พระ ใช้เวลาหล่ออยู่ถึง 9 วัน 9 คืน เนื้อทองจึงจับกับตัวองค์พระได้ โดยมีชีปะขาวคนหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน เป็นผู้ทำให้การหล่อองค์พระประสบความสำเร็จ ชาวเมืองเวียงจันทน์ต่างสอบถามว่าผู้ที่เข้าทำพิธีเป็นใครมาจากไหน ได้รับคำตอบว่าไม่มีใครรู้จัก
ชาวเมืองเวียงจันทน์ เชื่อกันว่า เป็นพระอินทร์แปลงร่างมาทำพิธีให้ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ถวายพระนามพระองค์นี้ว่า "พระอินทร์แปลง"
พระอินทร์แปลง เดิมจะนำไปไว้ที่วัดมหาพฤฒาราม หรือวัดตะเคียน สืบเนื่องมาจากพระอธิการแก้ว เจ้าอาวาส มีอายุถึง 107 ปี ได้ถวายพยากรณ์แก่รัชกาลที่ 4 ว่าจะได้เป็นเจ้าชีวิตเร็วๆ นี้ จึงรับสั่งตอบว่า ถ้าได้ครองแผ่นดินจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะวัดตะเคียนใหม่ทั้งพระอาราม ใช้เวลาบูรณะถึง 12 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2397 ถึง พ.ศ.2409 โดยจะนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดตะเคียน แต่เนื่องจากบูรณะอยู่เป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุให้ทรงนำพระอินทร์แปลงประดิษฐานไว้ที่วัดเสื่อแทน
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดเสื่อ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สมเด็จพระมหาธรรมราชา โปรดให้สร้างวังจันทร์ หรือวังหน้า ปัจจุบัน คือ พระราชวังจันทร์เกษม เมื่อพ.ศ.2120 เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ช่วงเสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยา โดยมีอาณาเขตด้านทิศใต้ของวังนี้ติดกับวัดเสื่อ ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ขยายเขตของวังออกไป ทำให้วัดเสื่อรวมอยู่ในเขตวังด้วย วัดเสื่อจึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์
เมื่อสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดเสื่อ กลายเป็นวัดร้างทรุดโทรมมาก จนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นประธานในการบูรณะวัดเสื่อ ได้พระราชทานเงินในการบูรณะ 300 ชั่งเศษ การดำเนินงานแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2406 แล้วพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเสนาสนาราม เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
ภายในพระอุโบสถมีพระสัมพุทธมุนี เป็นพระพุทธรูปประธาน รายล้อมด้วยพระพุทธปฏิมาวาสนัฏฐารสม์ และพระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่วัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่บนหินเรียงต่อกันยาว ประมาณ 14 เมตร ที่ผนังภายในมีจิตกรรมภาพดอกสาละบูชาองค์พระ เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่สักการะของประชาชนโดยทั่วไป
ปัจจุบัน มีพระราชสุทธิโมลี (พินิจ วราจาโร) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ วิเชียร นรสิงห์