พระพุทธภัทรปิยปกาศิต วัดกองดิน จ.ระยอง
“เหนือลิขิต ประกาศิตฟ้าดิน” เสาร์นี้ขอนำท่านผู้อ่านตามรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเส้นทางแห่งการกู้เอกราช พร้อมสัมผัสที่ตั้ง “ทัพพระเจ้าตาก” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ พระพุทธภัทรปิยปกาศิต หรือ หลวงพ่อปิยปกาศิต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่หล่อแบบโบราณองค์แรกของภาคตะวันออก
หลวงพ่อปิยปกาศิต เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถของวัดกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยมีประวัติความเป็นมา พอให้ทราบความกันโดยย่อว่า
ประวัติหลวงพ่อปิยปกาศิต วัดกองดิน จ.ระยอง สร้างขยายส่วนมาจากพระพุทธรูปองค์ต้นแบบองค์หนึ่ง ที่มีพระนามว่า พระพุทธปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งที่ “ถูกลืม” ไปจากจิตใจของคนไทย เชื่อว่ามีชาวพุทธอีกมากมายหลายสิบล้านคน ที่อาจไม่เคยได้ยินพระนามของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มาก่อน อีกทั้งอาจจะไม่ทราบว่า ครั้งหนึ่งในอดีต เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว มีพระพุทธรูปปางวิชัย หรือปางสะดุ้งมารองค์หนึ่ง ได้รับการอัญเชิญนำไปในสมรภูมิสนามรบ อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เคียงคู่บารมีของวีรกษัตริยาธิราชผู้กล้าพระองค์หนึ่ง ผู้มีน้ำพระทัยกล้าแกร่ง ไม่ย่อท้อในการทำศึกสงคราม จนสามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมาจากพม่าได้ นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระผู้เป็นมิ่งขวัญ กำลังใจของทหารหาญ ในการกอบชาติกู้เมือง กู้ชาติไทย ให้เป็นไท จากพวกพม่า ที่เข้ามายึดครองผืนแผ่นดินไทย เมื่อคราวปี พุทธศักราช ๒๓๑๐
นับเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนที่อยู่ในภาคตะวันออก ที่ได้ พระพุทธปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต กลับคืนมาสู่พื้นที่กองดินนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังผ่านกาลเวลาไปแล้ว ถึง ๒๓๖ ปี นับแต่คราวที่พระยาตาก(สิน) ได้เคลื่อนกำลังพล ยกทัพไปตีเมืองจันทบูรณ์ ราวปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และได้มาหยุดพักตั้งค่ายทหารที่หมู่บ้านแห่งนี้ ได้ทราบเรื่องราวจากผู้ปฏิบัติธรรมหลายท่าน เล่าให้ฟังว่า “เคยได้นิมิตเห็นพระยาตาก(สิน) ยกพระพุทธรูปบูชาองค์หนึ่ง เข้าไปในวิหารที่วัดเก่าคงคาจืด และให้ทหารหาญที่มาด้วยอธิษฐานจิตขอพรเป็นชัยมงคล ให้มีชัยชนะศึกสงครามที่เมืองจันทบูรณ์” จึงมีความเชื่อกันว่า พระพุทธรูปองค์นั้นก็คือ พระพุทธปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต องค์ต้นแบบนี้นั่นเอง
วัดกองดินเป็นวัดสุดท้ายของจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ในตำแหน่งจุดกึ่งกลางของภูมิภาค ๔ จังหวัดทางภาคตะวันออกคือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด โดยทางสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ ปราจีนบุรี ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอแกลง และสำนักงานเทศบาลตำบล ได้ร่วมสำรวจและตั้งหมุดประวัติศาสตร์ ในสถานที่ของวัดกองดิน นับเป็นลำดับที่ ๒๖ สุดท้ายของเขตจังหวัดระยอง ในเส้นทางสายเอกราชการเดินทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คราวยกทัพไปเพื่อตีเมือง จันทบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐
เทศบาลตำบลกองดิน ได้บันทึกประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ไว้ว่า “...เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยามีข้าศึกพม่า ยกทัพมาประชิดพระนคร บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายระส่ำระสายไม่มีใครคิดที่จะต่อสู้กับข้าศึกพม่า ต่างพยายามที่จะหนีเอาตัวรอดกัน ครั้งนั้นพระยาวชิรปราการเห็นว่าพม่ามีกำลังเสริมเพิ่มขึ้น และล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทุกด้าน เห็นทีจะเสียกรุงแก่พม่าเป็นแน่แท้... หากเราขืนชักช้า...อยู่ช่วยรบทำการป้องกันพระนคร ก็อาจจะพ่ายแพ้แก่ข้าศึกศัตรูพวกพม่าได้ จนลุถึงวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ พุทธศักราช ๒๓๐๙ ปีจอ อัฐศก
พระยาวชิรปราการ จึงได้ตัดสินใจรวบรวมไพร่พลราว ๕๐๐ คน ตีฝ่าวงล้อมพวกพม่าไปทางค่ายวัดพิชัย บ้านโพธิ์สังหาร แล้วมุ่งตรงไปยังหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังไพร่พล โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองจันทบูรณ์ ในระหว่างการเดินทัพ ได้ผ่านเมืองระยอง บ้านไร่ บ้านกร่ำ เมืองแกลง ประแส เพื่อมุ่งไปสู่จันทบูรณ์นั้น กองทัพของพระยาตากฯ ได้มาตั้งค่ายหยุดพักทัพม้าทัพช้างและไพร่พลอยู่ที่บริเวณวัดแห่งหนึ่ง และใช้สถานที่ดังกล่าวในการตำดินปืนเพื่อเตรียมไว้ใช้ในการออกศึกสงคราม...” สถานที่ตำดินปืนในครั้งนั้นจึงถูกเรียกว่า “กองดินปืน” เป็นเหตุที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือตำบล นานเข้าก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ตำบลกองดิน” สืบมาจนถึงปัจจุบัน
การสร้างหลวงพ่อปิยปกาศิตในภาคตะวันออกนี้ มีประวัติเล่ากันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ ได้ขยายส่วน สร้างโดยใช้แบบมาจากพระพุทธรูปองค์เดิม ซึ่งมีพระนามว่า พระพุทธปกาศิต หรือ หลวงพ่อปกาศิต เป็นองค์ต้นแบบ มีขนาดหน้าตัก ๑๒ นิ้ว สำเร็จด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ขาว โดยกษัตริย์พระองค์หนึ่งในยุคสมัยเชียงแสน ราวปีพุทธศักราช ๑๗๐๐ เพื่อเทิดพระเกียรติ ในคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๔ รอบ
ในตำนานได้เล่าว่า ในพระเศียรจอมกระหม่อมเกศบัวตูมขององค์หลวงพ่อปกาศิตองค์ต้นแบบนี้ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้จำนวนหนึ่ง และมีเหล่าเทพเทวาชั้นสูง ผู้มีมหิทธานุภาพรักษาอยู่ถึง ๙ พระองค์ มีตำนานความเชื่ออีกส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อปิยปกาศิต ที่ได้มีผู้มาสร้างไว้ในภาคตะวันออกนี้ว่า “หลวงพ่อปิยปกาศิต” องค์ต้นแบบนี้ มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาแต่สมัยที่ท่านยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุคู่กับนายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือรัชกาลที่ ๑) ที่หัวเมืองพิษณุโลก เมื่อลาสิกขาแล้ว พระองค์ได้นำเอาพระพุทธรูป คือ หลวงพ่อปกาศิตมาด้วย ภายหลังได้เข้ารับราชการ ไปรบทัพจับศึกที่ไหน ก็จะนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปด้วย ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บุญบารมีประจำพระองค์ และมักได้ชัยชนะกลับมาทุกครั้ง จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “พระไชยหลังช้าง” หรือ “พระนำชัย” มีผู้กล่าวว่า แม้การยกทัพไปเมืองจันทบูรณ์คราวนั้น “หลวงพ่อปิยปกาศิต” ก็ได้มากับกองทัพของพระยาตาก(สิน)นี้ด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ที่ท่าน พระมหารัตน์ เขมธัมโม ได้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดกองดิน ได้สืบค้นคว้าเสาะหาข้อมูล ประวัติเรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อปิยปกาศิต จนได้ทราบข้อมูลที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องถึงกัน มีคำพูดว่า ด้วยบารมีของหลวงพ่อพระ พุทธโสธร ช่วยเหลือหมู่คนได้ทั้งเมืองแปดริ้ว ด้วยบารมี หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นที่พึ่งของคนได้ทั้งแม่กลอง ในกาลภายหน้า เชื่อว่าด้วย บารมีของหลวงพ่อปิย ปกาศิต จักเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในภาคตะวันออกได้
ปัจจุบัน วัดกองดิน ได้ทำโครงการร่วมกับสำนักงานเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลกองดิน ก็ได้เริ่มทำโครงการเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พื้นที่ เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อประโยชน์สุขของพุทธศาสนิกชน ถือเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในอนาคต ที่จักเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธแห่งใหม่ในภาคตะวันออก นอกจากไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง) และไปชมพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ ที่เขาวัดสุกิม จังหวัดจันทบุรีแล้ว
จึงขอเชิญชวนชาวพุทธทุกท่าน ทุกถิ่น สถานทั่วเมืองไทย ที่ได้มีโอกาสมาสู่ภาคตะวันออก ได้เข้ามานมัสการอธิษฐานจิตขอพร จากหลวงพ่อปิยปกาศิต เพื่อความเป็นสิริชัยมงคล สมบูรณ์พูนผล ประกอบด้วยจตุรพิธพรชัย ได้โดยทุกประการ นอกจากนมัสการหลวงพ่อปิยปกาศิตแล้ว ทางวัดยังขอเชิญชวนชาวพุทธร่วมสักการะโพธิ์อธิษฐานจิต หรือโพธิ์สามต้นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีขนาดลำต้นประมาณ ๑๕ คนโอบอีกด้วย ทั้งนี้ทางวัดกองดิน ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ศูนย์รวมจิตใจแห่งใหม่ของชาวพุทธภาคตะวันออก เปิดให้นมัสการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๗.๓๐ น.
ที่มาหนังสือพิมพ์เดลินิวส์