เขตอภัยทาน
หรือจะเรียกว่าพื้นที่คุ้มครองนั้น มีมาตั้งแต่โบราณ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
พระองค์มีพระราชโองการให้จัดตั้ง "เขตอภัยทาน"
กำหนดพื้นที่หวงห้ามในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือเขตสงวนสำหรับล่าสัตว์ป่า
เพื่อคุ้มครองสัตว์ ปลา และป่า นับได้ว่าเป็นการคุ้มครองสัตว์ป่ายุคแรกเริ่ม
กลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติวงศ์ วัดราชโอรสาราม ป.ธ.9 ราชบัณฑิต อธิบายความคำว่า
อภัยทาน แปลว่า ให้อภัย ให้ความไม่มีภัย ให้ความปลอดภัย
เรียกสถานที่ที่ให้อภัยเช่นนั้นว่า เขตอภัยทาน เช่น
บริเวณวัดที่มีนกอาศัยอยู่ชุกชุมหรือบริเวณหน้าวัดที่เลี้ยงปลาชนิดต่างๆ ไว้
ทางวัดจะเขียนประกาศไว้ว่า "เขตอภัยทาน" หรือ "เขตอภัยทาน
ห้ามยิงนก ห้ามจับปลา" เป็นต้น
อภัยทาน
จัดเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง คือ ให้ความรักความเมตตาต่อสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์
ไม่เบียดเบียนสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดความปลอดภัย เกิดความอบอุ่น
หากให้อภัยทานแก่มนุษย์ด้วย ก็จะทำให้ไม่มีเวรมีภัยต่อกันอีกต่อไป
ผู้ให้อภัยทานได้ชื่อว่าเป็นคนประพฤติเมตตาธรรม เป็นคนมีจิตใจสูงเทียบเท่าพรหม"
วัดทุกวัด ถือเป็นเขตอภัยทาน ปลอดการทำร้ายทำอันตรายแก่ชีวิตคนและสัตว์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ให้วัดต่างๆ กำหนดเขตอภัยทานขึ้น
เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก ได้อาศัยความร่มเย็นเป็นสุข
ปราศจากการถูกเบียดเบียนหรือถูกรบกวน
แนะนำชักชวนประชาชนให้เห็นความสำคัญของเขตอภัยทาน
แล้วให้การสนับสนุนโดยไม่รบกวนเบียดเบียนสัตว์บกสัตว์น้ำหรือหมู่นกที่อาศัย
อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอภัยทาน จัดทำป้ายขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร
ความยาวไม่ต่ำกว่า 70 เซนติเมตร เขียนข้อความให้ชัดเจนว่า
"เขตอภัยทาน"
แม้สถานที่ที่ไม่ใช่วัดอย่าง
"พุทธมณฑล" พุทธานุสรณียสถานของชาวไทย ก็ถือเป็น
เขตอภัยทาน คูคลองหนองน้ำในพุทธมณฑลอุดมไปด้วยพันธุ์ปลาและเต่า
แต่ละวันมีประชาชนจากทั่วสารทิศ เดินทางแวะเวียนไปทำบุญ และพักผ่อนหย่อนใจ
การให้อาหารปลา เต่า ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมของครอบครัว
แต่ลำคลอง หนองน้ำ
ที่ท่านทั้งหลายได้โปรยอาหารลงเป็นทานแก่หมู่มัจฉาเหล่านี้อยู่หลายสิบปี มีสภาพเป็น
"น้ำตาย" ที่ไม่มีโอกาสไหลเอื่อยเรื่อยล่องลงสู่แม่น้ำน้อยใหญ่สายใด
ดีที่สุดเขยื้อนเลื่อนไหลก็ด้วยพลังกังหันน้ำ อีกทั้งจำนวนปลาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แหวกว่ายเบียดเสียดเยียดยัด โอกาสที่น้ำจะเกิดการเน่าเสียจึงมีความเป็นไปได้สูง พอๆ
กับโอกาสที่ปลาทั้งหลายจะขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
สิ้นใจตายฟ่องผิวน้ำ
ปัญหานี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยสำนักงานพุทธมณฑล ได้พยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงมาโดยลำดับ
เพื่อให้สัตว์น้ำในเขตอภัยทานของพุทธมณฑลได้อยู่อาศัยด้วยความร่มเย็นเป็น สุข
เขตอภัยทาน
คงไม่มีผู้ใดคิดเบียดเบียนทำร้ายบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เข้ามาอยู่อาศัย
เว้นเสียแต่ชีวิตสัตว์เหล่านั้นอาจต้องตายไปด้วยสาเหตุที่เหนือการควบคุมของ
มนุษย์และเป็นเรื่องที่คาดคิดไม่ถึง
"ปลาตะกละกินอาหารมากเกิน ไปอาจถึงตาย"
"ปลาช็อกน้ำตายเพราะห่าฝนต้นฤดู"
ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่หลายคนเชื่อว่าทำให้เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าได้ด้วย
เช่นกัน
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์
หน้าต่างศาสนา
ปราณสุวีร์ อาวอร่ามรัศมิ์
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ