พุทธมณฑล จ.นครปฐม
ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา มีสิ่งสำคัญที่ควรจะกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง
คือ "มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน" แห่งเดียวในประเทศไทย
ภายในเนื้อที่ 9 ไร่
สาเหตุที่มีเนื้อที่ 9 ไร่
เพราะจัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9
มหาวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ
อยู่ด้านหลังองค์พระประธานพุทธมณฑล เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สถาปัตยกรรมไทย
ลักษณะเป็นรูปทรงจัตุรมุข 4 ทิศ มีเจดีย์ใหญ่อยู่ตรงกลาง รายล้อมด้วยพระเจดีย์ 9
ยอด แต่ละองค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ
พระธาตุพระสิวลี และพระผงวัดปากน้ำ
พระมหาวิหารประดิษฐาน
พระไตรปิฎกหินอ่อน
ภายในอาคารเป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน จำนวน 1,418
แผ่น หรือ 84,000 พระธรรมขันธ์
พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
แบ่งเป็น 3 ปิฎก คือ
1.พระวินัยปิฎก
ว่าด้วยวินัยหรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม
และการดำเนินสังฆกิจต่างๆ ของพระภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
2.พระสุตตันตปิฎก
ว่าด้วยสูตรหรือพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ เป็นคำสนทนาโต้ตอบบ้าง
การบรรยายธรรมบ้าง หรือร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง
ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกองค์สำคัญๆ บางรูป
3.พระอภิธรรมปิฎก
ว่าถึงหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายด้านวิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล
หรือเหตุการณ์ส่วนมาก เป็นคำสอนด้านจิตวิทยา
และอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา
การจารึกพระไตรปิฎกลงบนหินอ่อน
เกิดจากดำริของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งที่พระธรรมปัญญาบดี และคณะศิษยานุศิษย์
โดยการนำของท่านอาจารย์ตรีธา เนียมขำ ได้พิจารณาเห็นว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2530
คณะสงฆ์และรัฐบาลได้สังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 5
รอบ สมควรจะได้จารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อนให้เป็นสิ่งที่คงทนถาวรยืนนาน
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อบูชาพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในมงคลสมัยรัชมังคลาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระ
เจ้าอยู่หัว
จึงได้ดำเนินการจารึกพระไตรปิฎก จำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์
เป็นภาษาบาลีลงบนแผ่นหินอ่อน ขนาดกว้าง 1.10 เมตร สูง 2 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น
ใช้งบประมาณในการจัดสร้าง 200
ล้านบาทเศษ
สมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญให้งบประมาณในการจัดสร้าง
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีเปิดและสมโภชพระไตรปิฎกหินอ่อน
ณ พุทธมณฑล เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2542
พระมหาวิหาร
นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อนแล้ว
ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก
และประวัติเกี่ยวกับความเป็นมาพร้อมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานในงานจารึก
พระไตรปิฎกหินอ่อน
เพื่อจะได้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน
ด้วยระยะเวลาอันยาวนานถึง 2,552 ปี
หากสถานศึกษาสนใจนำคณะนักเรียน นิสิต
นักศึกษา ชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจเข้าไปศึกษาหาความรู้หรือหาโอกาสเข้าชม
มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน
ขอเรียนเชิญเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โทร. 0-2441-9009 ต่อ
1210 หรือ 0-2441-4515
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา ข่าวพระ ข่าวพระสงฆ์
โดย จุไรรัตน์
มีศิริ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ