พระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ วัดชัยภูมิพิทักษ์ จ.ชัยภูมิ |
"พระพุทธชัยภูมิพิทักษ์" ประดิษฐาน ณ วัดชัยภูมิพิทักษ์ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดสูงจากฐานถึงยอด 14 ศอก (7 เมตร) ก่ออิฐถือปูน หุ้มด้วยกระเบื้องโมเสกสีทองทั้งองค์
พระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ เป็นพระพุทธรูปยืน ปางประทานพร ยกพระหัตถ์ขวาเหนือพระอุระ เม็ดพระศกใหญ่ ยอดพระเกศเป็นดอกบัวรองรับพระรัศมีเปลว พระจีวรแนบพระวรกาย ห่มเฉวียงบ่าซ้าย ชายสังฆาฏิพลิ้ว ทิ้งชายระดับพระอุระ พระวรกายมีชายพระจีวรสองชายเป็นริ้ว ประดิษฐานบนฐานบัวกลุ่มหินขัดสีน้ำตาลแดง ด้านล่างเป็นฐานเขียงหินกาบสองชั้น ด้านหลังเป็นกำแพงหินกาบ เสาแปดเหลี่ยมหินขัดสีน้ำตาลแดง มีลวดลายบัว ยอดเสาเป็นโคมไฟแปดเหลี่ยมลงรักปิดทอง
ประวัติพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ วัดชัยภูมิพิทักษ์ เริ่มก่อสร้าง วันที่ 15 มกราคม 2512 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2516 โดยนายประมูล ศรัทธาทิพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น มีช่างกรมศิลปากร อาจารย์ประกิต (จิตต์) บัวบุษย์ ควบคุมงานก่อสร้างองค์พระ
นายประมูล เล็งเห็นพื้นที่บริเวณผาเกิ้งมีบรรยากาศร่มรื่น จึงมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุทยาน โดยสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร สูง 7 เมตร ยืนตระหง่านเป็นศรีสง่า ประดิษฐานที่หน้าผาเกิ้ง ซึ่งเป็นหน้าผาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอหนองบัวแดง ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกที่มาบรรจบกัน บางครั้งชาวบ้านจะเรียกว่า ช่องบุญกว้าง ซึ่งเป็นเส้นทางลัดที่ใช้เป็นที่หมายในการเดินทางจาก หุบเขาภูเขียว (ทิวเขาเพชรบูรณ์) มายังจังหวัดชัยภูมิ ผาเกิ้ง อยู่ทางฝั่งภูแลนคา เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างได้อย่างชัดเจน
คำว่า ผาเกิ้ง หรือ อีเกิ้ง เป็นภาษาอีสาน หมายถึงพระจันทร์ ดังนั้น ผาเกิ้งจึงเป็นชื่อผาที่มีลักษณะครึ่งวงกลมยื่นออกไป มองดูเหมือนพระจันทร์เสี้ยว พ.ศ.2516 นายอนันต์ อนันตกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เห็นว่าการที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ราคานับล้าน ตั้งอยู่กลางป่า โดยปราศจากผู้ดูแลนั้น เป็นการไม่สมควร น่าจะมีพระอยู่จำพรรษาช่วยพัฒนาสถานที่และดูแลองค์พระให้รุ่งเรืองสง่างาม
ท่านจึงได้นิมนต์ พระมหาบุญมา ปุญญาภิรโต ต่อมา ได้ดำรงสมณศักดิ์ พระศีลวราลังการ เจ้าอาวาสวัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) และรองเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ ให้มาดูแลสำนักสงฆ์แห่งนี้ ช่วงระยะที่ก่อสร้างได้เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์หลายอย่าง ในราวปี พ.ศ.2523 บริเวณดังกล่าวมีการเตรียมทำถนนลาดยางผ่านเขา มีการระเบิดหิน ปกติการระเบิดหินนั้น เมื่อระเบิดก้อนหินน้อยใหญ่จะปลิวว่อน ทุกครั้งที่ระเบิดพนักงานเจ้าหน้าที่จะเตือนพระภิกษุ-สามเณร แม่ชีให้หลบก้อนหิน โดยสั่งให้ไปหลบใต้ถุนกุฏิ พอเสียงระเบิดตูม ก้อนหินเหล่านั้นจะปลิวว่อนไปตกทั่วบริเวณวัด เล่นเอาสังกะสีกุฏิและศาลาทะลุเป็นช่องถึง 20 กว่าหลัง
ครั้นเมื่อคณะบริษัทเขาหยุดระเบิดแล้ว ได้มาตรวจสอบความเสียหายเพื่อซ่อมแซมให้ ปรากฏว่า บริเวณรอบองค์พระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ ไม่ได้รับอันตรายจากก้อนหินแม้แต่น้อย เป็นอีกเรื่องหนึ่งแห่งความน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์
ดังนั้น ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ต้องแวะสักการะขอพรจากพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ หรือหากรีบเร่งเดินทาง คนขับรถก็จะบีบแตร คนที่นั่งมาด้วยจะยกมือไหว้ขอพรท่านอยู่มิได้ขาด ปัจจุบัน วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) ตั้งอยู่ในเขต ต.กุดชุมแสง อ.หนองบัวแดง เขตรอยต่อ ต.ห้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ ห่างจากจังหวัดชัยภูมิ 33 กิโลเมตร อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูแลนคา โดยมีพระราชภาวนาวราจารย์ (หลวงพ่อผาเกิ้ง) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
ภายในวัดมีสถานที่สำคัญ อาทิ พระบรมธาตุผาเกิ้ง เป็นศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของวัดผาเกิ้ง มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงน้ำเต้ากลม เป็นศิลปะที่ผสมผสานระหว่างพระธาตุพนมกับพระปฐมเจดีย์ ความกว้างรอบฐาน 20 เมตร สูงจากฐาน 9 ศอก นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์ตึกสมเด็จพระพุฒาจารย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2541 เป็นที่รวบรวมผลงานและของโบราณแร่ธาตุกายสิทธิ์ต่างๆ
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
สุรพงษ์ สวัสดิ์ผล