
" วัดบ้านหงาว" ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์ โดยพระธุดงค์รูปหนึ่ง ชื่อ หลวงพ่อเขียด ออกธุดงค์จากจังหวัดปัตตานี มาปักกลดบำเพ็ญกลางบ้านทุ่งหงาว จนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาสร้างที่พักชั่วคราวให้ท่านพำนัก วัดแห่งนี้ มีการพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นสำนักสงฆ์และได้ยกฐานะเป็นวัดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ชื่อ พระครูประจักษ์สุตาสาร เป็นพระนักพัฒนา และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลหงาว
วัดบ้านหงาว ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระนอง เนื่องจากภายในวัดเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งมีการรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เก็บรักษาให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า นอกจากนี้ ยังมีวังมัจฉามีพันธุ์ปลาน้ำจืดนานาชนิดที่สามารถให้อาหารได้อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญมีบันไดคอนกรีตกว่า 300 ขั้น ที่สามารถใช้เดินขึ้นไปบนยอดของภูเขาเพื่อดูทิวทัศน์ของจังหวัดระนองได้รอบ 360 องศา ได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
ปัจจุบัน วัดบ้านหงาว กำลังก่อสร้างอุโบสถเป็น 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า อุโบสถลอยฟ้ากว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร รอบอุโบสถเทคอนกรีตเป็นลานกว้าง 14.50 เมตร ยาว 63 เมตร มีลูกกรงล้อมรอบ ในแต่ละมุมทั้ง 4 ด้าน มีอาคารจัตุรมุขกว้าง 3 เมตร ยาว 4.50 เมตร มีบันไดขึ้นลงรอบทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ด้านล่างของอุโบสถเป็นห้องโถงใช้สำหรับการประ ชุมสัมมนา
ในอุโบสถวัดบ้านหงาว เป็นที่ประดิษ ฐานพระประธาน มีนามว่า "หลวงพ่อดีบุก" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีชื่อเป็นทางการว่า "พระติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์" อันมีความหมายว่า "พระพุทธรูปดีบุกองค์ใหญ่เป็นสิริมงคลและศักดิ์ศรีของเมืองระนอง"
ด้วยเมืองระนอง มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่ดีบุก อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับแร่ดีบุกมายาวนาน แร่ดีบุกเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนระนอง สร้างความมั่งคั่งมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเมืองระนอง ผู้บุกเบิกตำนานแร่ดีบุกเมืองระนอง คือ "คอซู้เจียง" ที่เข้ามายื่นขอประมูลอากรดีบุก เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2387 ปลายรัชกาลที่ 3 ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นเจ้าเมืองระนองคนแรก รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 ถึงอสัญกรรมเมื่ออายุได้ 86 ปี แม้ปัจจุบันการทำเหมืองดีบุกจะไม่ มีแล้ว จะมีเพียงการร่อนแร่ในลำคลองที่พอมีให้เห็นบ้างเท่านั้น จึงเป็นการย้อนอดีตคืนสู่ความทรงจำให้แก่คนรุ่นหลังได้รู้จักแร่ดีบุก และรู้คุณค่า
หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว สร้างเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 ตรงกับขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 มหาฤกษ์ 13.39 น. ขนาดพระประธานหลวงพ่อดีบุก เป็นตัวเลขล้วนมีความหมายลึกซึ้งในแง่ของธรรมะและประวัติศาสตร์ คือ หน้าตักกว้าง 9 ฟุต หมายถึง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 หรือมงคล 9 สูงสุดแห่งมงคล ส่วนสูงจากฐานถึงเกตุมาลา 4 เมตร หรืออริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์แสดงปฐมเทศนา หรืออีกความหมายหนึ่งในอดีตพระมหากษัตริย์ได้เคยเสด็จเมืองระนองถึง 4 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 นับว่าเป็น พระประธานที่หล่อด้วยแร่ดีบุกองค์แรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้แร่ดีบุกถึง 3 ตัน รวมถึงพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 4 ล้านบาท
หลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว แม้จะไม่ได้เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ แต่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แร่ดีบุกที่ใช้ในการสร้างองค์พระประธานเป็นแร่ที่มีนัยแห่งความดี คือ ดีบุก หมายถึง ความดีที่บุกเอาชนะความชั่วในวันประกอบพิธีพราหมณ์ ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดา พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ท่ามกลางแดดจ้า และมีเสียงฟ้าร้อง เสมือนหนึ่งการรับรู้ของฟ้าดิน
วันที่ 18 ตุลาคม 2551 ก่อนประกอบพิธียกพระประธานขึ้นประดิษฐานไว้บนพระอุโบสถชั้น 2 ซึ่งใช้รถเครนขนาดใหญ่ 2 คันยก ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักเสมือนหนึ่งว่าเทวดามาอวยพรสรงน้ำให้กับพระประธาน ครั้นถึงเวลาตามฤกษ์ เวลา 14.39 น. ท้องฟ้าเปิดขึ้นมาทันที เป็นที่น่ามหัศจรรย์ สำหรับพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมพิธีนับพันคน ต่างยกมือขึ้นสาธุพร้อมกัน
หลวงพ่อดีบุก เป็นธงชัยของวัดบ้านหงาวและชาวระนอง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการก่อสร้างอุโบสถลอยฟ้า ใครจะกราบไหว้สักการะพระพุทธรูปดีบุกองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะต้องนึกถึงจังหวัดระนอง และมากราบไหว้บูชาหลวงพ่อดีบุกที่วัดบ้านหงาวซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองระนอง เพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น
ส่วนการบูชา เริ่มด้วยการตั้งนะโม 3 จบ พร้อมกับ คาถาบูชาหลวงพ่อดีบุก วัดบ้านหงาว คือ "วันทามิ ภันเต ติปุกะพุทธมหาศากยมุนีศรีรณังค์ ตัสสะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา"
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระ
วิมล หนูแก้ว ที่มา... ข่าวสดรายวัน
...............................................................................................