พระครูพิทักษ์ประทุมเขต
สายทายาทธรรม-หลวงปู่ซุน
คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6
 พระครูพิทักษ์ประทุมเขต
|
" พระครูพิทักษ์ประทุมเขต" อดีตเจ้าอาวาสวัดตระคลอง
(วัดบ้านโคกไร่) และอดีตเจ้าคณะตำบลงัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
เป็นพระนักปฏิบัติที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างสูง
สืบทอดปฏิปทาและวิทยาคมจากพระครูสุนทรสาธุกิจ หรือหลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก
อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม บูรพาจารย์รุ่นเก่ารูปหนึ่งของภาคอีสาน
อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า สุดใจ แสนโง เกิดในปี พ.ศ.2447 ณ
บ้านหนองแวงต้อน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นบุตรของพ่อศรีสมบัติ-แม่ทุม แสนโง
ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
ด้วยฐานะทางบ้านค่อนข้างจะยากจน
หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนในหมู่บ้านแล้ว
ได้ออกมาทำงานช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา จนอายุย่าง 15 ปี โยมบิดา-มารดา
ได้นำไปบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน
เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบ้านหนองแวงต้อน ต.งัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
โดยมีพระครูสุนทรสาธุกิจ หรือหลวงปู่ซุน เจ้าอาวาสวัดบ้านเสือโก้ก เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเกิด
ทุกวันท่านจะเดินเท้าเข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดโสมนัสฯ
ในเขตอำเภอวาปีปทุม ซึ่งเป็นสำนักเรียนใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น
ด้วยความขยันขันแข็งมุมานะจึงสอบได้นักธรรมชั้นเอกและจบมูลกัจจายน์
นอกจากนี้ ท่านยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม
จึงเดินทางไปเรียนวิทยาคมกับหลวงปู่ซุน รวมทั้งได้เรียนการอ่านเขียนอักษรลาว
ขอมและไทยน้อย ต่อมา วัดตระคลอง หรือวัดบ้านโคกไร่ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง
คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาวัดในทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะการศึกษา
ท่านให้ความสำคัญมาก เพราะผู้บวชเรียนส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน
รวมทั้งสำนักเรียนใหญ่อยู่ไกลถึงในตัวอำเภอวาปีปทุม
ท่านจึงเปิดสำนักเรียนขึ้นและให้ความอุปถัมภ์จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน
ต่างๆ ให้กับสำนักเรียนวัดบ้านโคกไร่
อีกทั้งให้ทุนการศึกษากับพระภิกษุ-สามเณรที่เรียนดีทุกปี ตำแหน่งงานด้านปกครอง
พระครูพิทักษ์ประทุมเขต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตระคลอง เป็นเจ้าคณะตำบลงัวบา
ส่วนสมณศักดิ์
ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นเอกที่
พระครูพิทักษ์ประทุมเขต
เนื่องจาก พระครูพิทักษ์ประทุมเขต
เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีเมตตาธรรมสูง
ครองตนอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์อย่างสมถะเสมอต้นเสมอปลาย
ทำให้ท่านมีชื่อเสียงอยู่ในศรัทธาของชาวอำเภอวาปีปทุม
ในแต่ละวันมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมจาก
ท่านอย่างล้นหลาม เพื่อขอประพรมน้ำพระพุทธมนต์
รวมทั้งปรารถนาในวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนและตระกรุดโทนที่เข้มขลัง
มีพุทธคุณรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นแคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพัน
และเมตตามหานิยม
สำหรับปัจจัยที่ได้รับการบริจาคจากศรัทธาญาติโยม
ท่านได้นำไปพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้ อาทิ
พระอุโบสถ ประตูโขง กำแพงแก้ว กุฏิ เป็นต้น
นอกจากนั้นหลวงปู่ยังร่วมพัฒนาชุมชนในทุกๆ ด้าน
ถึงแม้วิทยาคมของท่านจะเข้มขลังเพียงใด ท่านก็ไม่เคยโอ้อวด
กลับพร่ำสอนญาติโยมให้ยึดคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ขอให้ทุกคนหมั่นประกอบแต่กรรมดี ละความชั่ว
และอย่าดำรงชีวิตอยู่ด้วยความประมาท รู้จักตอบแทนบุญคุณบุพการี ครู อาจารย์
เพียงเท่านี้ชีวิตของตนเองและครอบครัวก็จะพานพบแต่ความสุขความเจริญตลอดไป
ไม่มีตกต่ำ
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงปู่อาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา
สุดท้าย ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ในปี พ.ศ.2529 สิริอายุ 82 พรรษา 62 ณ วันนี้
แม้ร่างสังขารพระครูพิทักษ์ประทุมเขต จะแตกดับสูญสลายไปนานแล้ว
แต่คุณงามความดีของท่านยังคงปรากฏอยู่ในใจของชาวมหาสารคามสืบไป
ที่มา...