
หนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์
โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประวัติการสร้างพระพุทธรูป จากหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์
มีในหนังสือตอน
เรื่องตำนานพระแก่นจันทน์(ได้แปลพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว) กล่าวว่า
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดา
ค้างอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์หนึ่งพรรษานั้น
พระเจ้าประเสนชิตกรุงโกศลราฐมิได้เห็นพระพุทธองค์อยู่ช้านาน มีความรำลึกถึง
จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดงประดิษฐานไว้เหนือ
อาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ
พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นปฏิสันถารพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์
แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับ
เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูปซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้าง
พระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว
ตามที่กล่าวในตำนานประสงค์จะอ้างว่า
พระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้นเป็นต้นแบบอย่างของ
พระพุทธรูปซึ่งสร้างกันต่อ มาภายหลัง
หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่ง
คืออ้างว่า
พระพุทธรูปมีขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์
เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล
เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่าหนังสือเรื่อง
ตำนานพระแก่นจันทน์จะเกิดขึ้นในลังกา
ทวีป แต่มาพบในหนังสือจดหมายระยะทางของหลวงจีนฟาเหียนซึ่งไปอินเดียเมื่อราว
พ.ศ.๙๕๐(พระภิกษุฟาเหียนอยู่ในประเทศอินเดียตั้งแต่พ.ศ.๙๔๔ จนถึง พ.ศ.๙๕๔)
กล่าวว่าเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถี ได้ฟังเล่าเรื่องพระเจ้าประเสนชิตให้
สร้างพระพุทธรูป
ตรงกับที่กล่าวใน
หนังสือตำนานพระแก่นจันทน์
จึงรู้ว่าเป็นเรื่องตำนานในอินเดียมีมาแต่โบราณ
ถึงกระนั้นความที่กล่าวในตำนานก็ขัดกับหลักฐานที่มีโบราณวัตถุเป็นเครื่องพิสูจน์
เป็นต้นว่าถ้าเคย
สร้างพระพุทธรูป แต่เมื่อในพุทธกาล
และพระพุทธองค์ได้โปรดประทานพระบรมพุทธานุญาตให้สร้างกันต่อมา ดังอ้างในตำนานไซร้
พระเจ้าอโศกมหาราชก็คงสร้างพระพุทธรูปเป็นเจดีย์วัตถุอย่างหนึ่งเช่นเราชอบ
สร้างกันในชั้นหลัง แต่ในบรรดาพุทธเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้หามีพระพุทธรูปไม่
ใช่แต่เท่านั้น แม้อุเทสิกะเจดีย์ที่สร้างกันเมื่อล่วงสมัยพระเจ้าอโศกแล้วจนราว
พ.ศ.๔๐๐(ความจริงจนถึงราว พ.ศ.๖๐๐ กว่า) เช่นลายจำหลักรูปภาพเรื่องพุทธประวัติ
ซึ่งทำเป็นเครื่องประดับพระมหาธาตุเจดีย์ดังกล่าวมาในตอนก่อน ทำแต่รูปคนอื่น
ตรงไหนจะต้องทำพระพุทธรูป คิดทำรูปสิ่งอื่น
เช่นรอยพระพุทธบาทหรือพระธรรมจักรและพระพุทธอาสน์เป็นต้น
สมมติแทนพระพุทธรูปทุกแห่งไป
ข้อนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าประเพณีที่ทำพระพุทธรูปยังไม่มีในสมัยนั้น
หรือยังเป็นข้อห้ามอยู่ในมัชฌิมประเทศจนถึงพ.ศ. ๔๐๐(ความจริงจนถึงราว พ.ศ.๖๐๐ กว่า)
ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า
ตำนานพระแก่นจันทน์นั้นจะเกิดขึ้นต่อสมัยเมื่อมี
ประเพณีสร้างพระพุทธรูปกันแพร่หลายแล้ว ราวในพ.ศ. ๗๐๐ หรือ ๘๐๐ ปี

พระพุทธรูปศิลา พุทธศตวรรษที่ 7-10
เรื่องประวัติการสร้างพระพุทธรูป
นักปราชญ์ในชั้นหลังสอบเรื่องพงศาวดาร
ประกอบกับพิจารณาโบราณวัตถุที่ตรวจพบในอินเดียได้ความเป็นหลักฐานว่า พระพุทธรูปเป็นของพวกโยนก
(คือฝรั่งชาติกรีก) ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
เริ่มคิดประดิษฐ์ขึ้นในคันธารราฐเมื่อราวพ.ศ.๓๗๐(ปัจจุบันเชื่อกันว่าราวพ. ศ.๖๐๐
กว่า) มีเรื่องตำนานดังจะกล่าวต่อไปคือครั้งพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์มหาราช
สามารถแผ่อาณาเขตตั้งแต่ยุโรปตลอดมาจนในอินเดียข้างฝ่ายเหนือ เมื่อพ.ศ.๒๑๗ นั้น
ตั้งพวกโยนกที่เป็นแม่ทัพนายกองครองบ้านเมืองรักษาพระราชอาณาเขตตลอดมา
ครั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ผู้อื่นไม่สามารถจะรับรัชทายาทได้
ราชอาณาเขตก็กลับแยกกันออกเป็นประเทศต่างๆ
ทางฝ่ายอาเซียนี้พวกโยนกที่เป็นเจ้าบ้านพานเมืองต่างก็ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระ
หลายอาณาเขตด้วยกัน แล้วชักชวนชาวโยนกพรรคพวกของตนให้มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน
เป็นมูลเหตุที่จะมีพวกโยนกมาอยู่ในแผ่นดินอินเดียตอนชายแดนข้างด้านตะวันตก
เฉียงเหนือ
ซึ่งเรียกว่าอาณาเขตคันธารราฐ(อาณาเขตคันธารราฐเดี๋ยวนี้อยู่ในแดนประเทศอา
ฟฆานิสถานบ้าง อยู่ในแดนอินเดียของอังกฤษมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือบ้าง(ปัจจุบันนี้เป็น
ประเทศปากีสถาน) ในสมัยนั้นขึ้นอยู่ในประเทศบัคเตรีย
ซึ่งแม่ทัพโยนกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาเจ้าเมืองบัคเตรียแพ้สงคราม
ต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะ
อันเป็นองค์พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช
แต่นั้นคันธารราฐก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของมคธราฐเพราะฉะนั้น
เมื่อพระเจ้าอโศกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงให้ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในคันธารราฐ
และพึงสันนิษฐานว่า พวกโยนกที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ
ที่นั้นคงเข้ารีตเลื่อมใสมิมากก็น้อย
แต่เมื่อพ้นสมัยราชวงศ์โมริยะมาถึงสมัยราชวงศ์ศุงคะๆมีอานุภาพน้อย
ไม่สามารถปกครองไปถึงคันธารราฐได้
พวกโยนกในประเทศบัคเตรียก็ขยายอาณาเขตบุกรุกอินเดียเข้ามาโดยลำดับ
จนได้คันธารราฐและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุ
มีเมืองตักศิลาเป็นต้นไว้ในอาณาเขตโดยมาก จึงรวมอาณาเขตเข้าเป็นประเทศคันธารราฐ
ตั้งเป็นอิสระมีพระเจ้าแผ่นดินโยนกปกครองตั้งแต่ราว พ.ศ.๓๔๓ เป็นต้นมา

พระพุทธรูปอินเดีย แบบคันธารราฐ
พุทธศตวรรษที่๗-๑๐
ก็ประเทศคันธารราฐนั้น
ชาวเมืองโดยมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช
พวกโยนกตามมาชั้นหลังเมื่อมาได้สมาคมสมพงศ์กับพวกชาวเมือง
ก็มักเข้ารีตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นยังถือศาสนาเดิมของพวกโยนกมาจนถึงราว พ.ศ.๓๖๓
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่ามิลินท์(เรียกในภาษากรีกว่า เมนันเดอร์
Menander ชาวอินเดียเรียกว่ามิลินท์
พระองค์เดียวกับที่สนทนากับพระนาคเสนในเรื่องมิลินทปัญหา
พระเจ้ามิลินท์ทรงครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.๓๖๓ จนถึง พ.ศ. ๓๘๓ ) มีอานุภาพมาก
ทำสงครามแผ่อาณาเขตเข้าไปในมัชฌิมประเทศจนถึงมคธราฐ
ชะรอยจะได้ไปทราบวิธีการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช
และได้สมาคมคุ้นเคยกับผู้รอบรู้พระพุทธศาสนาคือพระนาคเสนเป็นต้น
ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศแสดงองค์เป็นพระพุทธศาสนูปถัมภก
ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองขึ้นในประเทศคันธารราฐ
พุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้นในคันธารราฐครั้งพระเจ้ามิลินท์นั้น
ก็เอาแบบอย่างไปจากมัชฌิมประเทศ
แต่พวกโยนกเป็นชาวต่างประเทศไม่เคยถือข้อห้ามการทำรูปเคารพ
ซ้ำคติศาสนาเดิมของพวกโยนกก็เลื่อมใสในการสร้างเทวรูปสำหรับสักการบูชาด้วย
เพราะเหตุนี้ พวกโยนกไม่ชอบแบบของชาวอินเดียที่ทำรูปสิ่งอื่นสมมติแทนพระพุทธรูป
จึงคิดทำพระพุทธรูปขึ้นในเครื่องประดับเจดียสถาน
พระพุทธรูปจึงมีขึ้นในคันธารราฐเป็นปฐม(เมื่อในระหว่างพ.ศ.๓๖๕ จน พ.ศ.๓๘๓)
ความที่กล่าวนี้มีหลักฐาน ด้วยพระพุทธรูปชั้นเก่าที่สุดซึ่งตรวจพบในอินเดีย
พบในคันธารราฐ และเป็นแบบอย่างช่างโยนกทำทั้งนั้น
แต่เมื่อพิจารณาดูลักษณะพระพุทธรูปคันธารราฐที่พวกโยนกทำ
เห็นได้ว่ามิใช่เป็นแต่ความคิดช่างเชลยศักดิ์หรือทำแต่ตามอำเภอใจของพวกโยนก
ประวัติการสร้างพระพุทธรูปขึ้นทีแรก
น่าจะเป็นพระราชดำริของพระเจ้าแผ่นดิน
และให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตกับพวกนายช่างประชุมปรึกษาหารือกันว่าควรจะทำอย่าง ไร
และพวกที่ปรึกษากันนั้นก็รู้สึกว่าเป็นการยากมิใช่น้อย ด้วยการสร้างพระพุทธรูป มีข้อสำคัญบังคับอยู่ ๒
อย่าง คือ อย่าง๑จะต้องคิดให้แปลกกับรูปภาพคนอื่นๆ
ใครเห็นให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า กับอีกอย่าง๑
จะต้องให้งามชอบใจคนทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา(ในประกาศพระราชพิธี
จรดพระนังคัลว่าชาวคันธารราฐคิดสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนขึ้น)
และในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ว่าเทวดานฤมิตพระพุทธรูปแก้วมรกต
ถวายพระนาคเสนที่เมืองปาฏลีบุตร (ร่วมสมัยกับพระเจ้ามิลินท์) ตรงตามตำนาน
แต่ผู้แต่งจะได้หลักฐานมาจากที่ไหนหาปรากฏไม่) ก็ในขณะเมื่อแรกคิดแบบพระพุทธรูปนั้น
พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหลายร้อยปี
รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผู้เคยเห็น
มีแต่คำบอกเล่ากล่าวกันสืบมาว่าเป็นเช่นนั้นๆ
เช่นว่ามีลักษณะอย่างมหาบุรุษในคัมภีร์มหาปุริสลักขณของพราหมณ์
ซึ่งแต่งไว้แต่ก่อนพุทธกาลเป็นต้น
ช่างผู้คิดทำการสร้างพระพุทธรูปได้อาศัยคำบอกเล่าเช่นว่าอย่างหนึ่ง
กับอาศัยความรู้เรื่องพุทธประวัติ
เช่นว่าพระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ของชาวมัชฌิมประเทศเสด็จออกทรงผนวชเป็นสมณะ
เป็นต้นอย่างหนึ่ง กับอาศัยแบบอย่างอันปรากฏอยู่ในจารีตประเพณีของชาวมัชฌิมประเทศ
ดังเช่นกิริยาที่นั่งขัดสมาธิและครองผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนเช่นพระภิกษุซึ่ง
มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นต้นอีกอย่างหนึ่ง
นอกจากนั้นก็อาศัยแต่คติที่นิยมว่าดีงามในกระบวนช่างของโยนก
เป็นหลักความคิดที่ทำการสร้างพระพุทธรูปขึ้นโดยรู้อยู่ว่าไม่เหมือนองค์พระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ที่สามารถให้คนทั้งหลายนิยมยอมนับถือว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า
ต้องนับว่าเป็นความคิดฉลาดแท้ทีเดียว

พระพุทธรูปศิลา
ศิลปอินเดียแบบคันธารราฐ
พุทธศตวรรษที่ 7-9
ลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนกคิดทำขึ้นในคันธารราฐ
สังเกตได้ว่าอนุโลมตามคัมภีร์มหาปุริสลักขณ หลายข้อ เป็นต้นคือข้อว่า อุณณา โลมา
ภมุกนตเร ทำพระอุณาโลมไว้ที่หว่างพระขนงอย่าง๑ บางทีจะเอาความในบท อุณหิสสิโส
อันแปลว่าพระเศียรเหมือนทรงอุณหิส(คำว่าอุณหิสแปลกันหลายอย่าง ว่ากรอบหน้าบ้าง
ผ้าโพกบ้าง มงกุฎบ้าง แต่รวมความเป็นอันเดียวกันว่าเครื่องทรงที่พระเศียร)
มาคิดอนุโลมทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีพระเกตุมาลาอีกอย่าง๑
แต่พระเกตุมาลาตามแบบช่างโยนกทำเป็นพระเกศายาว
กระหมวดมุ่นเป็นเมาฬีไว้บนพระเศียรอย่างพระเกศากษัตริย์
เป็นแต่ไม่มีเครื่องศิราภรณ์ ความคิดเรื่องทำพระเกตุมาลานี้
ศาสตราจารย์ฟูเชร์(นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส)สันนิษฐานว่า จะเกิดโดยจำเป็นในกระบวนช่าง
ด้วยในลายจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติมีภาพสมณะทั้งพระพุทธรูปและรูปพระภิกษุ
พุทธสาวก ถ้าทำพระพุทธรูปแต่เป็นอย่างสมณะ
ก็จะสังเกตยากว่าพระพุทธรูปหรือรูปพระสาวก
ช่างโยนกประสงค์จะให้คนดูรู้จักพระพุทธรูปได้โดยง่าย
จึงถือเอาเหตุที่พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติและเป็นสมณะโดยเพศนั้น
ทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ
แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์
เป็นแต่ลดเครื่องศิราภรณ์ออกเสียพระพุทธรูปจึงแปลกกับรูปภาพอื่นๆ
ถึงจะอยู่ปะปนกับรูปใครๆ ก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า
ความคิดข้อนี้ช่างพวกอื่นในสมัยชั้นหลังต่อมาไม่สามารถจะคิดแก้ไขไปเป็น
อย่างอื่นได้ ก็ต้องเอาแบบอย่างของช่างโยนกทำต่อมา
การสร้างพระพุทธรูปจึงมีพระเกตุมาลาด้วยประการฉะนี้(คำอธิบายเช่นกล่าวในหนังสือปฐม
สมโพธิว่า รูปพระเศียรเป็นเช่นนั้นเองผิดธรรมดา
เห็นว่าจะเป็นความคิดเกิดขึ้นเมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว)
ลักษณะที่ทำตามจารีตประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้น เช่นอาการทรงนั่งขัดสมาธิ
(ช่างโยนกทำนั่งขัดสมาธิเพชรอย่างเดียว)
และอาการที่ทรงครองผ้าทำทั้งอย่างห่มดองแลห่มคลุม
แต่มักชอบทำแบบห่มคลุมจำหลักกลีบผ้าให้เหมือนจริงตามกระบวนช่างโยนก
นอกจากที่กล่าวมาในบรรดาลักษณะซึ่งมิได้มีที่บังคับแล้ว
พวกช่างโยนกทำตามคติของชาวโยนกทั้งนั้น
เป็นต้นว่าดวงพระพักตร์พระพุทธรูปก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก(คือ
เทวรูปอปอลโล)
พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของ ภาพโยนก
ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น เพราะทำพระพุทธรูปในลายเรื่องพระพุทธประวัติ
พระพุทธรูปซึ่งทำตรงเรื่องตอนไหน
ช่างก็คิดทำกิริยาท่าทางพระพุทธรูปให้เข้ากับเรื่องตอนนั้น
เป็นต้นว่าพระพุทธรูปตรงเรื่องเมื่อก่อนเวลาตรัสรู้
ทำนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกิริยาสมาธิ พระพุทธรูปตรงเมื่อชนะพระยามาร
ทำพระหัตถ์ขวามาห้อยที่พระเพลาแสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเป็นพยาน
พระพุทธรูปตรงเมื่อประทานปฐมเทศนา ทำจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม
หมายความว่าพระธรรมจักร
พระพุทธรูปตรงเมื่อมหาปาฏิหาริย์(คือยมกปาฏิหาริย์)ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอก บัวรอง
คิดทำตามเรื่องพระพุทธประวัติทำนองดังกล่าวมานี้(รูปที่๔)
ต่อไปตลอดจนถึงเมื่อเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน ก็ทำเป็นรูปพระพุทธไสยา
(ตามการค้นคว้าในปัจจุบัน
เชื่อกันว่าพระพุทธรูปเป็นรูปมนุษย์เริ่มเกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในแคว้นคัน
ธารราฐ ในรัชกาลของพระเจ้ากนิษกะ วงศ์กุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๗
และเป็นฝีมือของช่างกรีก-โรมัน)
เมื่อพระพุทธรูปมีขึ้น ใครเห็นก็คงชอบใจ
จึงเลยเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูปในคันธารราฐ
แต่ความนิยมยังไม่แพร่หลายไปถึงประเทศอื่นในอินเดีย
ด้วยอาณาเขตคันธารราฐเมื่อสมัยพระเจ้ามิลินท์ไม่กว้างขวางเท่าใดนัก
ซ้ำเมื่อสิ้นพระเจ้ามิลินท์แล้ว เชื้อวงศ์ได้ครองคันธารราฐต่อมาเพียงซัก ๓๐ ปี
ก็เสียบ้านเมืองแก่พวกศะกะซึ่งลงมาจากกลางทวีปอาเซีย
พวกศะกะได้ครองคันธารราฐอยู่ชั่วระยะเวลาตอนหนึ่งแล้ว ก็มีพวกกุษาณะ(จีนเรียกว่า
ยิวชี Yueh-chi) ยกมาจากทางปลายแดนประเทศจีน ชิงได้คันธารราฐจากพวกศะกะอีกเล่า
แต่ในสมัยเมื่อพวกกุษาณะครอบครองคันธารราฐนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินในกุษาณะราชวงศ์องค์
๑ ทรงพระนามว่าพระเจ้ากนิษกะได้ครองราชย์สมบัติในระหว่าง พ.ศ.๖๖๓ จน พ.ศ.๗๐๕
สามารถแผ่ราชอาณาเขตออกไปทั้งทางข้างเหนือและข้างใต้
ได้มัชฌิมประเทศทั้งหมอไว้ในราชอาณาเขต
เป็นพระเจ้าราชาธิราชขึ้นเหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช
ชะรอยเมื่อพระเจ้ากนิษกะคิดหาวิธีปกครองของพระเจ้าอโศก
ซึ่งรวมพุทธจักรกับอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พระเจ้ากนิษกะก็เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก
ปกครองพระราชอาณาเขตตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ก็แต่พฤติการณ์ต่างๆ
ในสมัยพระเจ้ากนิษกะผิดกันกับสมัยพระเจ้าอโศกเป็นข้อสำคัญอยู่หลายอย่าง
เป็นต้นแต่ภูมิประเทศต่างกัน ด้วยพระเจ้าอโศกมหาราชตั้งราชธานีอยู่ ณ
เมืองปาฏลีบุตรในมัชฌิมประเทศ
อันเป็นท้องถิ่นที่พระพุทธเจ้าเที่ยวทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนา
มีเจดียสถานที่เนื่องต่อพระพุทธองค์และพระพุทธประวัติเป็นเครื่องบำรุงความ เลื่อมใส
แต่พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองบรุษบุรี(เดี๋ยวนี้เรียกว่า
เมืองเปษวาร์)ในคันธารราฐ อันเป็นปัจจันตประเทศปลสยแดนอินเดีย
ซึ่งพึ่งได้รู้จักพระพุทธศาสนาตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชให้ไปสั่งสอนอีก ประการ๑
พระไตรปิฎกที่รวบรวมพระธรรมวินัยมาจนถึงเวลานั้นก็เป็นภาษามคธของชาวมัชฌิม ประเทศ
แต่ชาวคันธารราฐเป็นคนต่างชาติต่างภาษา
ถึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะเข้าใจพระธรรมวินัยได้ซึมซาบเหมือน
อย่างชาวมัชฌิมประเทศเพราะเหตุดังกล่าวมา เมื่อพระเจ้ากนิษกะฟื้นพระพุทธศาสนา
แม้พยายามตามแบบอย่างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งในการสร้างพุทธเจดีย์
การสังคายนาพระธรรมวินัยและให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนายังนานาประเทศก็ดี
ลักษณะการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาครั้งพระเจ้ากนิษกะจึงผิดกับครั้งพระเจ้าอโศก
จะพรรณนาแต่ที่เป็นสำคัญ

พระพุทธเจดีย์
ตำนานพระพุทธเจดีย์
เรื่องสร้างพุทธเจดีย์
ปรากฏว่าเจดียสถานที่เกิดขึ้นในคันธารราฐเมื่อครั้งพระเจ้ากนิษกะ
มีทั้งพระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และอุเทสิกะเจดีย์
พระธาตุเจดีย์นั้นพระเจ้ากนิษกะได้เสาะหาพระบรมธาตุในมัชฌิมประเทศ
เชิญไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ปรากฏอยู่หลายแห่ง ส่วนบริโภคเจดีย์นั้น
เพราะในคันธารราฐไม่มีสถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาตไว้ให้เป็นพระ
บริโภคเจดีย์ เหมือนเช่นที่มีในมัชฌิมประเทศ จึงสมมติที่ตำบลต่างๆ
ซึ่งอ้างเข้าเรื่องพุทธประวัติ
เช่นว่าเมื่อพระพุทธองค์ยังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอย่าง นั้นๆ ณ
ที่ตำบลนั้นๆ
แล้วสร้างพระพุทธเจดีย์ขึ้นเป็นบริโภคเจดีย์(เรื่องบริโภคเจดีย์ในคันธารราฐ
กล่าวตามอธิบายในหนังสือพรรณนาระยะทางของหลวงจีนฟาเหียนและหลวงจีนฮ่วนเจียง
ที่ไปถึงคันธารราฐ เมื่อราว พ.ศ.๙๔๔ และ พ.ศ.๑๑๗๓)
คติอันนี้ภายหลังมาเลยสมมติต่อไปจนอ้างว่าอดีตพระพุทธเจ้า คือ พระกกุสัณฑ
พระโกนาคมน์ และพระกัสสป ทั้ง๓
องค์ได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ในคันธารราฐแล้วสร้างบริโภคเจดีย์เนื่อง
ในเรื่องประวัติของอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓
พระองค์นั้นด้วย(คติที่ถือกันว่าคันธารราฐเป็นที่อดีตพระพุทธเจ้าทั้ง ๓
พระองค์ได้ทรงประดิษฐานพระศาสนา
ปรากฏอยู่ในหนังสือพรรณนาระยะทางของหลวงจีนฮ่วนเจียง ซึ่งไปถึงคันธารราฐเมื่อ
พ.ศ.๑๑๗๓ แต่อาจจะถือกันขึ้นต่อเมื่อภายหลังรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะก็เป็นได้)
เลยเป็นปัจจัยไปถึงคติของพวกถือลัทธิมหายานซึ่งจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า
ส่วนอุเทสิกะเจดีย์นั้น เพราะพวกโยนกได้คิดทำพระพุทธรูปขึ้นในคันธารราฐ
ตั้งแต่ครั้งพระเจ้ามิลินท์ พระเจ้ากนิษกะก็เป็นเชื้อชาวต่างประเทศ
จึงเลื่อมใสในการสร้างพระพุทธรูป
ให้หาช่างชาวโยนกที่มีฝีมือดีมาคิดทำพระพุทธรูปให้งามสง่ายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
จึงเกิดความคิดแก้ไขแบบพระพุทธเจดีย์
ใหม่พระพุทธรูปเป็นประธานแต่นั้นมา
เป็นต้นว่าแต่ก่อนมาจำหลักเรื่องพุทธประวัติเป็นลายประดับพระสถูป แก้ทำเป็นซุ้มจรนำ
๔ ทิศ ติดกับองค์(ระฆัง)พระสถูป แล้วทำพระพุทธรูปให้เป็นขนาดใหญ่ กิริยาต่างกัน
ตามเค้าพระพุทธรูปในลายเรื่องพุทธประวัติในซุ้มจรนำนั้น
ใครเห็นก็รู้ได้ว่าเป็นพระพุทธรูปเมื่อตอนไหนในเรื่องพุทธประวัติ
อันนี้น่าจะเป็นต้นเค้าที่สร้างแต่เฉพาะพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานใน
เจดียสถานต่างๆ(อย่างวัดที่สร้างกันภายหลัง) รูปพระโพธิสัตว์ก็สร้าง(รูปที่๖)
แต่ในสมัยนั้นสร้างแต่รูปพระสักยโพธิสัตว์เมื่อก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ความที่กล่าวมามีหลักฐานด้วยพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ของโบราณที่ค้นพบใน คันธารราฐ
โดยเฉพาะที่ทำงานอย่างยิ่ง เป็นฝีมือช่างโยนก สร้างในสมัยพระเจ้ากนิษกะเป็นพื้น
ใช่แต่เท่านั้น พระพุทธรูปโบราณที่พบทางกลางทวีปอาเซียก็ได้ ที่พบในมัชฌิมประเทศ
เช่นที่เมืองพาราณสี เมืองมธุรา(รูปที่๗) และทางฝ่ายใต้จนเมืองอมราวดี(รูปที่๘)ก็ดี
ที่เป็นชั้นเก่าล้วนเอาแบบอย่างพระพุทธรูปคันธารราฐไปทำทั้งนั้น
จึงยุติได้ว่าการสร้างพระพุทธรูปแพร่หลายต่อไปถึงนานาประเทศ
แต่ครั้งพระเจ้ากนิษกะบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นต้นมา(พระพุทธรูปแบบมถุราในชั้น
เดิมไม่ได้รับอิทธิพลของศิลปะคันธารราฐเลย แต่เป็นแบบอินเดียแท้
สันนิษฐานว่าช่างอินเดียคงจะได้ทราบข่าวว่าช่างคันธารราฐคิดทำพระพุทธรูป
เป็นมนุษย์ขึ้น จึงคิดทำขึ้นบ้าง ส่วนพระพุทธรูปแบบอมราวดีนั้น
แก้ไขแบบจีวรเป็นอีกอย่างหนึ่งและเปลี่ยนเส้นพระเกศาเป็นขมวด)

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์
ศิลปะทวารวดี
(พุทธศตวรรษที่ 11-16)
เรื่องทำสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น ปรากฏในเรื่องพงศาวดารแต่ว่า
พระเจ้ากนิษกะทรงอาราธนาพระสงฆ์ที่เป็นชาวมัชฌิมประเทศและเป็นชาวประจัน ตประเทศ
ให้ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยที่เมืองบุรุษบุรีราชธานี(อีกนัยหนึ่ง
ว่าประชุมกัน ณ เมืองชลันธร ในอาณาเขตกัสปิละซึ่งเป็นประเทศราช)
แล้วแปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤต
และว่าครั้งนั้นพระมหาเถรทางฝ่ายเหนือแต่งอรรถกถาขึ้นใหม่หลายคัมภีร์
แต่นั้นพระสงฆ์ในอินเดียก็แยกกันเป็น ๒ นิกาย
พวกนิกายฝ่ายเหนือถือพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต
พวกนิกายฝ่ายใต้คงถือพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกภาษามคธของเดิม
เป็นมูลเหตุที่การถือพระพุทธศาสนาจะเกิดต่างกันเป็นคติมหายานและคติหินยานใน ภายหลัง
ดังจะแสดงในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า
เมื่อพิเคราะห์ดูถึงเหตุที่พระเจ้ากนิษกะได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยและให้
แปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤตครั้งนั้น เห็นว่าน่าจะมีความจำเป็นทั้ง ๒
อย่าง ด้วยพระธรรมวินัยอันเป็นหลักพระพุทธศาสนา
ได้ร้อยกรองไว้เป็นภาษามคธตั้งแต่พระอรหันต์พุทธสาวกทำปฐมสังคายนา
ต่อมาเมื่อทุติยสังคายนาที่เมืองเวสาลีและทำตติยสังคายนาที่เมืองปาฏลีบุตร
ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็ทำในภาษามคธ ถึงขั้นนี้จัดพระธรรมวินัยเป็น ๓ หมวด คือ
พระวินัย พระสูตร และพระปรมัตถ์
เรียกรวมกันว่าพระไตรปิฎกและเริ่มเขียนเป็นตัวอักษรภาษามคธ
มีขึ้นในมคธราฐก่อนที่อื่นแต่ยังไม่แพร่หลาย
พระสงฆ์ในประจันตประเทศยังนิยมในการท่องจำพระไตรปิฎกอยู่เป็นพื้น
ถึงกระนั้นที่มีพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรเกิดขึ้นก็คงเป็นปัจจัยให้พระสงฆ์ใน
มคธราฐถือพระธรรมวินัยมั่นคงกว่าพวกพระสงฆ์ในคันธารราฐ
อันเป็นเชื้อสายสืบมาแต่พวกพระสงฆ์มหาสังฆิกะ
ซึ่งหลบหลีกไปจากมัชฌิมประเทศเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก
แต่พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ในคันธารราฐ
ก็คุ้นกับพระสงฆ์ชาวประจันตประเทศยิ่งกว่าพระสงฆ์ในมัชฌิมประเทศ
เมื่อเห็นว่าพระสงฆ์ในคันธารราฐกับมคธราฐยังถือพระธรรมวินัยไม่เหมือนกัน
จึงตรัสสั่งให้ประชุมทำสังคายนา ก็ลักษณะการทำสังคายนานั้น
พระสงฆ์ที่ประชุมกันต้องวินิจฉัยข้อที่เข้าใจผิดกันและญัตติว่าอย่างไรเป็น
ถูกหมดทุกข้อก่อน แล้วจึงจะได้ท่องจำสวดซ้อมพร้อมกันเป็นที่สุด
ก็แต่การประชุมครั้งนั้น
พระสงฆ์ที่ไปประชุมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นข้อสำคัญในเรื่องพระวินัย(เป็น
เค้าเดียวกับเมื่อครั้งทำทุติยสังคายนา) ด้วย
พระสงฆ์ชาวมคธราฐถือคติเถรวาท
ไม่ยอมแก้ไขพระวินัยให้ผิดจากที่ได้ทำสังคายนาไว้เมื่อครั้งพระเจ้าอโศก
ฝ่ายพระสงฆ์ชาวคันธารราฐถือคติอาจริยวาท
อ้างว่าพระวินัยเป็นแต่ข้อบังคับสำหรับตัวพระภิกษุสงฆ์ควรแก้ไขได้ ทั้ง ๒
ฝ่ายไม่ยอมกัน น่าสันนิษฐานว่าพระสงฆ์ชาวมคธราฐคงถอนตัวออกห่างจากการประชุม
เหลือยู่แต่พวกพระสงฆ์ชาวคันธารราฐที่ทำสังคายนา เพราะเหตุนั้น
พวกถือพระพุทธศาสนาตามชาวมคธราฐ(เช่นพวกลังกาและไทยเรา)
จึงไม่นับการสังคายนาครั้งพระเจ้ากนิษกะเข้าลำดับในตำนาน
แต่พวกที่ถือพระพุทธศาสนาตามชาวคันธารราฐ(เช่นจีนและญี่ปุ่น)
นับว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔
การแปลงพระไตรปิฎกจากภาษามคธเป็นภาษาสันสกฤตนั้น
เมื่อคิดดูก็เห็นว่าน่าจะเนื่องจากเหตุที่พระสงฆ์ ๒ ฝ่ายต่างแตกกันนั่นเอง
เพราะพระไตรปิฎกเดิมเป็นภาษามคธ การทำสังคายนาครั้งพระเจ้ากนิษกะ
พระสงฆ์ชาวคันธารราฐทำแต่โดยลำพังพวกของตน มีข้อความผิดกับพระไตรปิฎกของเดิม
ถ้าใช้ภาษามคธก็จะเกิดมีพระไตรปิฎกอย่างเดิมกับพระไตรปิฎกอย่างใหม่ขึ้นแข่ง กันเป็น
๒ ความ พระเจ้ากนิษกะน่าจะทรงพระดำริเห็นว่า
ถ้าเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้เสื่อมพระพุทธศาสนา
จึงให้แปลงพระไตรปิฎกที่สังคายนาใหม่เป็นภาษาสันสกฤต
ให้ต่างกับของเดิมโดยภาษาเสียด้วยทีเดียว
เพราะภาษาสันสกฤตกับภาษามคธก็เป็นของชาวอินเดียด้วยกัน ไม่ผิดกันห่างไกลเท่าใดนัก
ชาวคันธารราฐอยู่ใกล้เมืองตักศิลาและเมืองชลันธร
อันเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนภาษาสันสกฤต อาจจะคุ้นภาษาสันสกฤตยิ่งกว่าภาษามคธด้วย
จะเป็นด้วยอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ทำสังคายนาครั้งนั้นมา
การถือพระพุทธศาสนาในประจันตประเทศทางฝ่ายเหนือก็ถือตามพระไตรปิฎกภาษา
สันสกฤต(อันมีวาทะซึ่งพระสงฆ์ชาวคันธารราฐได้แก้ไขเพิ่มเติม) เป็นหลักพระศาสนา
แต่ชาวมัชฌิมประเทศคงถือพระไตรปิฎกภาษามคธเดิม(ตามสังคายนาครั้งพระเจ้าอโศก
มหาราช)เป็นหลักพระศาสนา จึงต่างกันเป็นพวกถือคติฝ่ายเหนือและพวกถือคติฝ่ายใต้
แล้วกลายเป็นคติมหายานและหินยานสืบมา

พระพุทธรูปศิลา
ประวัติการสร้างพระพุทธรูป
เรื่องที่ให้ไปสอนพระพุทธศาสนายังนานาประเทศนั้น
เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกได้ให้เที่ยวสอนพระพุทธศาสนาตามประจันตประเทศในแผ่น
ดินอินเดียโดยรอบมัชฌิมประเทศ
ทางด้านเหนือเป็นที่สุดเพียงเชิงเขาหิมาลัยและคันธารราฐ
ประเทศที่อยู่นอกแผ่นดินอินเดียปรากฏว่ารับพระพุทธศาสนาไปเมื่อครั้งพระเจ้า
อโศกมหาราช แต่ในลังกาทวีปกับสุวรรณภูมิอันอยู่ฝ่ายใต้ทั้ง ๒ ประเทศ
พระเจ้ากนิษกะตั้งราชธานีอยู่ในคันธารราฐข้างฝ่ายเหนือ
จึงให้เที่ยวสอนพระพุทธศาสนาตามประเทศอันอยู่นอกเขาหิมาลัยต่อไปทางฝ่าย เหนือ
เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปกลางทวีปอาเซียไปโดยลำดับจนถึงประเทศจีน
พวกที่ไปเที่ยวสอนพระพุทธศาสนาในครั้งนั้น
ถือคติพระสงฆ์คันธารราฐและพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต
การถือพระพุทธศาสนาในประเทศเหล่านั้นจึงนิยมตามคติของชาวอินเดียฝ่ายเหนือ
สามารถอ่าน ประวัติการสร้างพระพุทธรูป
อย่างละเอียดในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ เช่น
ตอนที่1
ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดพุทธเจดีย์
ตอนที่2 ว่าด้วยประวัติพระพุทธเจดีย์
ตอนที่3
สมัยแรกพระพุทธศาสนาเป็นประธานของประเทศ
ตอนที่4
ว่าด้วยมูลเหตุที่เกิดสร้างพระพุทธรูป
ตอนที่5
ว่าด้วยพุทธเจดีย์
สมัยคุปตะ
ตอนที่6 ว่าด้วยพุทธเจดีย์ ของพวกมหายาน
ตอนที่7
ว่าด้วยพุทธเจดีย์
ในนานาประเทศ
ตอนที่8 ว่าด้วยพระพุทธศาสนา ในประเทศสยาม
ตอนที่9
ว่าด้วยพุทธเจดีย์ในสยามประเทศ
พระพุทธรูปปางต่างๆ:ปางพระพุทธรูป ของประเทศไทย