ReadyPlanet.com
dot
>...ตั้มศรีวิชัย TumAmulet ...< Thailand Amulet Charms
dot
bulletคำแนะนำจากตำรวจเมื่อถูกโกง
bulletเงื่อนไขการรับประกัน การันตีพระเครื่อง
dot
สารบัญพระเครื่องเมืองนคร
dot
bulletทำเนียบพระกรุเมืองนคร
bulletทำเนียบพระเครื่องเมืองนคร
bulletชมรมพระเครื่อง
dot
บูชาพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง Amulets Charms Talismans
dot
bulletตลาดพระ amulet for you
bulletเช่า-บูชา เครื่องรางของขลัง
bulletพระหลวงปู่ทวด วัดต่างๆ
dot
จตุคาม-รามเทพ หลักเมืองนคร Jatukamramtep (Jatukarm)
dot
bulletหลักเมืองนครศรีธรรมราช
bulletจตุคาม ของดีนำมาโชว์
bulletบทความ น่ารู้องค์พ่อจตุคาม
bulletJatukam Amulets
bulletบทความจตุคามรามเทพ
dot
ลิงค์น่าสนใจ
dot
bulletหนังสือพิมพ์
bulletลิ้งค์เพื่อนบ้าน
bulletเทศกาล วันสำคัญ
bulletดวง ดูดวง หน้าหลัก
bulletบทความดีๆ
bulletนิทานสอนใจ
bulletวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย
bulletบทสวดมนต์ สำหรับชาวพุทธ
dot
พระเครื่อง นานาสาระ
dot
bulletพระพุทธรูปสำคัญของไทย
bulletคาถา-อาคม พระคาถาอาคม
bulletพระพุทธรูปปางต่างๆ
bulletพุทธศาสนสุภาษิต
bulletข่าวพระเครื่อง
bulletบทความพระเครื่อง
bulletThai Buddha Amulets
bulletข่าวพระพุทธศาสนา
bulletข่าวเครื่องรางของขลัง
bulletสาระพระเครื่องไทย
bulletประวัติพระวิปัสสนาจารย์




ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม 

ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หรือ พระราชธรรมาภรณ์ ซึ่งพระเครื่อง"หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม" เป็นที่ต้องการของนักสะสม
พระเครื่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากพุทธคุณ จากประสบการณ์ของผู้ที่พกพาเป็นที่ประจักษ์ให้พบเห็นกันบ่อยๆ ท่านเป็นทั้งพระนักพัฒนา พระปฏิบัติ มีเมตตาธรรม ต่อประชาชนทั่วไปและหลวงพ่อเงิน ท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างมาก ความรู้ด้านวิชา คาถาอาคมของท่านก้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร

ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หรือ พระราชธรรมาภรณ์ จนฺทสุวณฺโณ ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ นางกลอง-นายพรม นามสกุล ด้วงพลู ครอบครัวของหลวงพ่อเงิน ถือได้ว่าว่าเป็นผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งใน ต.ดอนยายหอม ในขณะนั้น
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ
นายอยู่  ด้วงพลู
นายแพ  ด้วงพลู
นายทอง  ด้วงพลู
หลวงพ่อเงิน
นายแจ้ง  ด้วงพลู
นายเนียม  ด้วงพลู
นางสายเพ็ญ  ด้วงพลู
และนางเมือง ด้วงพลู

หลวงพ่อเงิน อุปสมบท มูลเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิต
 หลวงพ่อเงิน ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 โดยมี พระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา “จนฺทสุวณฺโณ” 
เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกแก่โยมพ่อของท่านว่า "อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์ ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ” ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท หลวงพ่อเงิน ท่านมีความตั้งใจอย่างมาก มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่โยมพ่อพรมของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

 ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ได้ออกธุดงค์ไปตามชนบท มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ผ่านป่าสระบุรี ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว การเดินทางในสมัยนั้น เดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี ป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัย จะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา ภายหลังจากที่หลวงพ่อเงินกลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน หลวงพ่อเงิน ได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้ แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้ แล้วถามท่านว่า

 “คุณเงินหรือนี่” ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง” ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย ฝ่ายพ่อพรมนั้น พอทราบข่าวว่า พระลูกชายกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยแล้ว ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มยินดี สาเหตุที่ หลวงพ่อเงิน ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์ กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลกไม่จีรังยั่งยืน เหมือนความสุขทางธรรม เรื่องของทางโลก มีแต่ความยุ่งยาก วุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียน และอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพรสของความหรรษาทางโลก ย่อมมียาพิษเจือปนอยู่เสมอ ส่วนผู้เสพรสพระธรรม ไม่มีพิษไม่มีโทษแต่อย่างใด

 หลวงพ่อเงิน มักจะปรารภให้ผู้ใกล้ชิด ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ร่างกายมนุษย์เรานี้ ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยกองทุกข์ มนุษย์จะหนี ทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถาน หรือข้าทาสบริวาร ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน ต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง

 คติธรรมที่หลวงพ่อเงินได้ให้ไว้ คือ รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน

หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ละสังขาร
หลวงพ่อเงิน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466 และท่านได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

 ทั้งนี้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม ตลอดจนประชาชนที่มีจิตศรัทธาต่อวัดดอนยายหอม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ดังนี้

 1. จัดงานวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเงิน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อเงิน เพื่อให้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาได้สักการะ โดยในช่วงงานจะมีพิธีบวชพราหมณ์ เพื่อเป็นการรักษาศีล ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีของชาว ต.ดอนยายหอม

 2.จัดงานปิด ทองกลางเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสักการะทำบุญ บำเพ็ญกุศลปิดทองรอยพระพุทธบาท รูปปั้นคุณยายหอม รูปจำลองหลวงพ่อเงิน ศิลาเสมาธรรมจักร ซึ่งขุดค้นพบที่เนินพระเจดีย์ ใกล้วัดดอนยายหอม

 และ 3.จัดงานคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เจ้าอาวาสรูปต่อจากหลวงพ่อเงิน และเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังอีกท่านหนึ่ง ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อแช่ม ที่มีอุปการคุณต่อชาว ต.ดอนยายหอม ตลอดมา

พระเครื่อง หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม มาจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ และผู้ครอบครองทั่วๆ ไป เป็นการบอกกันปากต่อปาก ประจวบกับพระเครื่องชุดนี้เป็น พระแท้ หาง่าย ราคาไม่แพง จึงถือเป็นเรื่องสะดวกกายสะดวกใจ สบายทรัพย์ ที่คิดจะเก็บสะสมเอาไว้ โดยการสะสมนี้ เริ่มจากศรัทธาตามคำบอกเล่า มิได้เป็นการสะสมในเชิงพาณิชย์เก็งกำไร ตั้งแต่ต้นปี 2548 พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ยังดังต่อเนื่อง ถึงขั้นขาดแคลน ทั้งมีราคาสูงขึ้น จากที่เคยนิ่งสนิท และไม่เป็นที่สนใจมาเลยก่อนหน้านี้

 สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี คือ ตั้งแต่ต้นปี 2547 มานั้น พระเครื่องชุดหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม อยู่ในสภาพซื้อง่าย ขายคล่อง เป็นที่ต้องการสะสมของคนทั่วไป ทั้งยังเป็นเหตุจูงใจให้พระเครื่องสายนครปฐมทั้งหมดกระเตื้อง ตื่นเต้นตามไปด้วย พระหลวงพ่อเงิน ส่วนใหญ่เป็น พระสร้างแจกฟรี แต่คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นไปตามสำนวนที่ว่า ใกล้เกลือกินด่าง อย่างกรณี พระหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ คนใกล้วัดคิดอยู่เสมอว่า จะไปขอพระจากท่านเมื่อไรก็ได้ เพราะท่านสร้างแจกฟรีอยู่แล้ว แต่เมื่อท่านแจกหมด จึงกลายเป็นว่า คนที่อยู่ใกล้วัดมีพระหลวงพ่อเงินน้อยมาก แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม แต่สิ่งต่างๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยเฉพาะชาวดอนยายหอมอย่างไม่มีวันลืม ต่างยังรำลึกนึกถึงท่านอย่างไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำ ทั้งนี้ท่านได้สร้าง พระเครื่อง-วัตถุมงคลไว้เพื่อเป็นมรดกถึงรุ่นลูกหลาน วัตถุมงคลของท่านยอดเยี่ยมด้านคงกระพันชาตรี เปี่ยมด้วยเมตตามหานิยมยิ่งนัก ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน 

ประวัติหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ พระคาถาบูชาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม

พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ดังปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของ หนังสือพิมพ์เป็นประจำ พระเครื่องของหลวงพ่อเงิน ปัจจุบันมีอยู่ 4-5 รุ่น ที่มีค่านิยมอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ ได้แก่

1.เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม รุ่นแรก
2.เหรียญหลวงพ่อเงิน ปี 2506 เนื้อทองคำ
3.เหรียญหลวงพ่อเงิน หันข้าง ปี ๒๕๑๓ เนื้อทองคำ และ
4.เหรียญหลวงพ่อเงิน รุ่นโก๋ใหญ่ ส่วนรุ่นอื่นๆ มีค่านิยมลดหลั่นกันไป

หนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
   หนังสือเรื่องชีวประวัติของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม หรือพระราชธรรมาภรณ์  (เงิน จันทสุวัณโณ) นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฏิบัติบูชา พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม แก่พระอริยสงฆ์)  พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงามทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ฉัน ขบ เคี้ยว) เป็นพระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า อย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย) หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฏิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์หรือเปล่า ท่านเป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จักเป็นชั้นไหนเท่านั้นที่เราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี หรือพระอนาคามีบุคคล เราไม่รู้

ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2529 ใช้เวลา 1 เดือนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิสดารนั้นนายชื่น ทักษิณานุกุล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อได้เขียนไว้แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2506 ชื่อหนังสือนั้นว่า "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่อง นายชื่น ทักษิณานุกูล เขียนไว้ เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก" ศิษย์ก้นกุฏิ รู้อะไรเกี่ยวกับหลวงพ่อโดยละเอียด ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก" ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น บวชแล้วก็ไปอยู่เสียที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือน นายชื่น ทักษิณานุกูล ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และบัดนี้นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้ เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย   เขียนเสร็จแล้วก็ทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ กลัวจะขาดทุนเปล่า เพราะมีคนคัดลอกเอาไปเขียนกันหลายคนหลายครั้งแล้ว จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2535 ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปถึงท่าน กลัวตกภูเขา ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นหนี้ที่ยังมิได้ชดใช้ท่าน จึงได้พิมพ์เรื่องนี้เผยแพร่ในครั้งนี้ ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจอยากจะทราบรายละเอียด ขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอมหรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

เทพ สุนทรศารทูล
10 สิงหาคม 2537

 

(เขียนทิ้งไว้ถึง 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2529 ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2539)

........................................................................................
โยมบิดา-มารดา

 

หลวงพ่อเงิน เป็นพระภิกษุ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศมีสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชธรรมาภรณ์ แต่คนทั้งหลายรู้จักในนามของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงิน เป็นบุตรของนายพรหม และนางกรอง ด้วงพูล ราษฎรตำบลยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน คือ

1.นายอยู่ ด้วงพูล
2.นายแพ ด้วงพูล
3.นายทอง    ด้วงพูล
4.พระราชธรรมาภรณ์ (เงิน ด้วงพูล)
5.นายเนียม    ด้วงพูล
6.นายแจ้ง     ด้วงพูล
7.นายเมือง    ด้วงพูล

นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของหลวงพ่อเงินนั้น เป็นอุบาสกผู้เคร่งครัดในศีลธรรม เคยบวชเรียนมา 3 พรรษา มีความชำนาญในทางสมถะภาวนา ได้ฌานโลกีย์ สามารถเข้าฌานเพ่งจิตเห็นอะไรได้ทั้งใกล้ไกล ลี้ลับอย่างไรก็รู้ได้แจ้ง ใครมีทุกข์เดือดร้อนอะไร ไปหาให้ดูให้ นายพรหมดก็สามารถบอกได้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเป็นแพทย์แผนโบราณด้วย ใครป่วงไข้ก็ไปหาให้ประกอบยารักษาโรคให้ คาถาอาคมก็ได้รับความนับถือ โดยเฉพาะทางเมตตามหานิยม และเสกหุ่นพยนต์สำหรับเฝ้าบ้าน เรื่องนี้ ก็มีคนเล่าลือนับถือกันอยู่ในสมัยนั้น เล่ากันว่า นายพรหม มีความเชียวชาญทางกสิณมาก ถึงขนาดผักตบชวาที่ลอยน้ำมาในลำคลอง นายพรหม ก็สามารถเพ่งกสิณสำรวมจิตบังคับให้ผักตบชะวาลอยทวนกระแสน้ำไหลได้ เล่าลือกันถึงกับว่า แม้เรือเหาะ เรือบินที่แล่นอยู่บนอากาศ เมื่อเพ่งกระแสจิตไปก็ทำให้เรือบินหยุดอยู่กับที่ได้ด้วย คนทั้งหลาย จึงนับถือนายพรหม ด้วงพูล เป็นอาจารย์ เรียกกันว่า อาจารย์พรหม หรือ หมอพรหม เป็นที่รู้จักนับถือกันอยู่ในสมัยโน้น

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็จะขอแวะเล่าเรื่องจริงประกอบสักเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ที่ตำบลตาก้อง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สมัยเดียวกันนี้ ก็มีคนหนึ่งชื่อ หมอแก้ว มีผู้คนทั้งตำบลนับถือกันมากว่า ท่านนั่งทางในดูอะไรเห็นหมดเหมือนตาเห็น แต่มีเคล็ดอยู่ว่า เมื่อไปหาท่าน เมื่อขึ้นเรือนไปพบหน้าท่านให้บอกเรื่องที่จะดูให้ทราบก่อน ห้ามพูดถึงเรื่องอื่น มีเรื่องจริงอยู่ 3 เรื่อง เรื่องที่แม่ข้าพเจ้าไปดูด้วยตนเอง คือ คราวหนึ่งทองที่บ้านป้าหายไป ป้าก็สงสัยยาย คือแม่ของตัว เพราะยายเฝ้าบ้านอยู่คนเดียว ยายจึงให้แม่ไปดูหมอแก้ว หมอแก้วบอกว่าทองเหน็บอยู่ข้างฝาทิศตะวันตก ห่อกระดาษสีแดงให้กลับไปดู เมื่อกลับมาค้นดูก็พบทองเส้นนั้น เจ้าของเก็บไว้เองแล้วลืมที่เก็บ เรื่องที่สอง ควายออกลูกใหม่ๆ ได้ไม่กี่วันก็หายไป แม่ควายนมคัด ก็ร้องเรียกหาลูกทั้งวัน แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าลูกควายนอนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ทางทิศหรดี ให้ไปดูแล้วจะพบ เมื่อกลับมาดูก็พบลูกควายนอนอดนมอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ เรื่องที่สาม นายผิว ศรีสุข หลานแม่ ไปตัดไม้ในป่าเมืองกาญจน์ ถึงกำหนดกลับไม่กลับ มีคนเล่าลือกันว่า นายผิวตายเสียแล้ว นางเมียก็ร้องไห้มาบอกแม่แม่จึงไปหาหมอแก้วดู หมอแก้วบอกว่าไม่ตายหรอก สบายดี กำลังเดินทางกลับจะถึงบ้านแล้ว ไปนี่ให้หุงข้าวไว้ล่วงหน้าเขาจะได้กลับมากินข้าว ก็จริงเหมือนปากว่า แม่กลับบ้านสักพัก นายผิวก็เดินทางกลับถึงบ้าน เรื่องนั่งทางในเห็นอะไรได้ในที่ไกล จึงเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในหมู่ผู้ได้ฌานสมาบัติ หรือสำเร็จวิชากสิณ ในพระพุทธศาสนา เรื่องเพ่งอะไรหยุด เพ่งเทียนดับ หรือเพ่งเครื่องยนต์ดับนี้ ก็ได้ยินอยู่บ่อยๆ พระอาจารย์บางองค์นั้นเพ่งเทียนก็ดับ พระอาจารย์ ฝั้นว่าไม่อยากขึ้นเครื่องบิน กลัวจิตจะเผลอไปเพ่งเครื่องยนต์ของเรือบินเข้า เพราะเคยนั่งรถยนต์เพ่งเครื่องรถยนต์ก็ดับ นี่คืออำนาจของฌานสมาบัตินำมาเล่าประกอบเรื่องนี้ไว้ เพื่อแก้สงสัยของนักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ จะโจมตีเอาได้

ก็เอาเป็นว่า นายพรหม ด้วงพูล โยมบิดาของ หลวงพ่อเงิน นั้น มีความรู้ ความชำนาญทางเพ่งฌานสมาบัติ เป็นที่นับถือของชาวบ้านทั้งหลายในสมัยโน้น ซึ่งได้ถ่ายทอดมาสู่บุตรชายคือหลวงพ่อเงินด้วย

 

...................................................................

กำเนิดอภิชาตบุตร

 

เมื่อบุตรชายคนที่ 4 ของอาจารย์พรหม จะมาเกิดนั้นนางกรองผู้ภรรยาได้ฝันว่า ได้ยินเสียงดังอู้มาแต่ไกล ๆ คล้ายมีลมพายุพัด จึงออกไปดูที่ชานเรือน ก็แลเห็น วัตถุสีเหลือง ลอยมาจากท้องฟ้า ต้องแสงอาทิตย์เหลืองอร่ามดั่งสีทองคำ เมื่อวัตถุนั้นลอยลงมาใกล้ ก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะสิ่งที่กำลังลอยลิ่วลงมานั้นคือ พญานาคตัวใหญ่เกล็ดสีเหลืองเหมือนทองคำ พญานาคนั้นชูเศียรขึ้น แลบลิ้น แล้วพูดกับนางกรอง เป็นภาษามนุษย์ว่า

"แม่จ๋า อย่าตกใจเลย ฉันไม่ได้มาร้ายหรอก ฉันมาดี
ฉันจะมาขออาศัยอยู่ด้วย"

พูดเท่านั้น พญานาคก็เลื้อยเข้ามาหา นางกรองก็ร้องหวีดตกใจตื่นขึ้น เนื้อตัวสั่น เล่าความฝันให้สามีฟัง อาจารย์พรหม พิจารณาความฝันของภรรยา ประกอบกับดูฤกษ์ยามตามตำราก็ทำนายฝันว่า

"เราจะได้บุตรชายที่มีบุญวาสนา มีวิชาความรู้ มีศีลมีธรรม มีชื่อเสียง ลูกคนนี้จะได้บวชเป็นสมภารเจ้าวัด มีบุญฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่นับถือของคนทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะขึ้นชื่อว่างูนั้น ย่อมมีพิษ นี่ขนาดพญานาค แล้วก็ลอยลงมาจากฟากฟ้า ซึ่งยังมีเกล็ดสีทองด้วย"

นับแต่วันนั้นมา นางกรองก็ตั้งครรภ์หนที่ 4 นางกรองมีผิวพรรณผ่องใส ใคร ๆ ก็ทักทายว่าจะได้บุตรหญิง เพราะได้ลูกชายมาแล้ว ถึง 3 คน นางกรองรู้สึกเบื่ออาหารของคาวจำพวกเนื้อสัตว์ทั้งหลาย อยากจะกินแต่ผักผลไม้ อยากจะกินแต่ขุยปูนาในท้องทุ่ง ไปขุดเอาดินขุยปู อันละเอียดนั้นมาเผากินอยู่เสมอ (เรื่องกินดินขุยปูในท้องนานี้ เคยเห็นแม่ของผู้เขียนไปขุดเอามาเผากินเหมือนกัน ผู้เขียนก็เคยชอบกินด้วย รสมัน ๆ ดี คล้าย ๆ รสอะไรก็บอกไม่ถูก)

ครั้นท้องครบกำหนดทศมาส 10 เดือนทางจันทรคติ คือ 280 วัน ที่พระจันทร์เดินรอบโลก ก็เป็นวันที่มีโฉลกโชคชัยมงคล ตรงกับ วันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล สุริยคติ ตรงกับวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2433 นางกรองก็คลอดบุตรเป็นชาย ร่างกายสมบูรณ์ ผิวพรรณขาวสะอาดสะอ้าน ผิดกว่าลูกคนก่อนๆ มีปานขาวอยู่ที่หน้าอกข้างซ้าย มีปานแดงอยู่ที่ต้นแขนซ้าย เป็นรูปใบโพธิ์ ทำให้พ่อแม่พี่น้องดีใจมาก เพราะลักษณะมีบุญวาสนา เพราะปานสีแดงรูปใบโพธิ์นี้ เป็นเครื่องหมายบอกว่า เป็นพระโพธิสัตว์อุบัติเกิดมาเพื่อสร้างบารมี พูดกันตามภาษาชาวบ้านก็ว่า ผู้มีบุญมาเกิด รูปร่างลักษณะก็ต้องโฉลก พ่อแม่ก็จะโชคดี เพราะมีอภิชาตบุตรมาเกิดในตระกูล การก็สมจริงตั้งแต่บุตรคนที่ 4 เกิดมา พ่อแม่ก็ทำมาหากินได้ผลอุดมสมบูรณ์พูนเกิด ขึ้นอย่างทันตาเห็น เรียกว่า "ลาภผลพูนทวี" จึงได้ตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า "เงิน" เพราะเกิดมาทำให้พ่อแม่มีเงินมั่งคั่งขึ้น

เด็กชายเงิน บุตรชายคนนี้ เติบโตขึ้นก็มีนิสัยดี ไม่ประพฤติเกเรอะไรเลย ไม่เคยพูดจาคำหยาบคาย ด่าทอใครก็ไม่เป็น ผิดกว่าลูกชายชาวบ้านชายไร่ชาวนาทั้งหลาย อาจารย์พรหมสอนหนังสือให้ที่บ้าน ก็เรียนเก่ง จำแม่นตั้งใจเรียน เรียนหนังสือเก่งเกินวัย เป็นคนขยันขันแข็ง และมัธยัสถ์อดออม พ่อแม่ให้สตางค์ก็ไม่เคยใช้ ไม่เคยเที่ยวงานวัด หิวก็กินข้าวที่บ้าน เวลาไปวัดทำบุญ แทนที่จะไปเที่ยวดูลิเก ก็ช่วยพระทำงานวัด ชอบปรนนิบัติรับใช้พระในวัด นิสัยผิดแปลกกว่าลูกชายชาวบ้านทั้งหลาย จนกระทั่งอาจารย์พรหมพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า

"พ่อเงินนี้ ถึงใครจะเอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่ต้องการ"

 

...............................................................................

ออกบวชในพุทธศาสนา

 

หลวงพ่อเงิน เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นนั้น รูปร่างแข็งแรงสมบูรณ์สูงใหญ่ผึ่งผาย ผิวพรรณสะอาด หน้าตาจัดว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามในตำบลนั้น แต่ก็เป็นการประหลาดอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีนิสัยเจ้าชู้เลย จึงไม่เคยมีคู่รักคู่ใคร่เหมือนหนุ่มชายคนอื่น ไม่ชอบเที่ยวเตร่ไปไหน เหล้าไม่ดื่ม การพนันไม่เล่น อยู่แต่บ้านทำแต่งาน ทำอะไรก็เรียบร้อยประณีต สะอาดเรียบร้อย ทุก ๆอย่าง เรียกว่า ผู้หญิงสาว ๆ ก็สู้ไม่ได้ อาจารย์พรหมและนางกรอง บิดามารดา จึงมักจะพูด อยู่เสมอ ๆ ว่า "เอาลูกสาว 5 คนมาแลกก็ไม่เอา" มีความหมายว่า ถึงผู้หญิง 5 คนรวมกัน ก็สู้ลูกชายคนนี้ไม่ได้

ครั้นเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ครบบวชแล้ว บิดามารดา จึงได้จัดการบวชให้ตามประเพณี พ่อแม่และลูกชาย มีความคิดตรงกัน คือบวชอย่างประหยัด ไม่จัดงานบวชอย่างเอิกเกริกมโหฬารอะไร ไม่มีการแห่แหน ไม่มีลิเกฉลองเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่บอกญาติมิตรคนที่เคารพนับถือกัน จัดเครื่องอัฐบริขาร แล้วก็พากันไปวัด เดินประทักษิณเวียนโบสถ์ 3 รอบ แล้วก็เข้าโบสถ์ ทำพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ สำเร็จเป็นภิกษุภาวะ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 เวลา 18.15 นาฬิกา พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "จนฺทสุวณฺโณ" ตามตำราการตั้งฉายาตามวันเกิดของคนวันอังคาร วรรค จ.ฉ.ช.ฌ.ญ. พระอุปัชฌาย์ คือหลวงพ่อฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม

เป็นที่น่าแปลกอยู่ประการหนึ่งคือ ในขณะทำพิธีอุปสมบทนั้น ได้เกิดลมพายุพัดอย่างแรง แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก คล้าย ๆ กับว่าเทพยดาฟ้าดิน ก็พลอยปรีดาปราโมทย์ อนุโมทนาในการอุปสมบทของหลวงพ่อเงินด้วย เมื่อบวชได้ 1 พรรษา ก็ท่องบทสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน ได้หมดสิ้น แล้วก็ท่องพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกนั้นเอง เป็นที่โจษขานกันมาก เพราะคนสมัยนั้นนับถือกันว่าใครท่องพระปาฏิโมกข์ในพรรษาแรกได้ พระภิกษุรูปนั้น ปัญญาดี และมีบุญเก่ามาส่งเสริม จะเจริญในทางพระพุทธศาสนา

วันหนึ่ง เมื่อไปบิณฑบาตที่บ้าน โยมบิดาก็พูดว่า "คุณเงิน คุณอย่าจำวัดแต่หัวค่ำนัก เป็นพระไม่ได้ทำไร่ทำนาก็ควรจะฝึกหัด ให้อดทน"

หลวงพ่อเงิน ทราบดีว่าโยมบิดาทราบเรื่องนี้ได้นั้น เพราะนั่งเข้าฌานเพ่งกสิณ ไปดูพระลูกชาย โดยฌานสมาบัติ หรือที่เรียกว่า นั่งทางใน ต่อมาไม่ช้า เวลาค่ำ อาจารย์พรหม ก็มักจะไปหาพระลูกชาย เพื่อถ่ายทอดวิชาเพ่งฌานสมาบัติให้ อาจารย์พรหม สอนพระลูกชายว่า

"จะเรียนวิชานี้ให้สำเร็จต้องประกอบด้วย ศรัทธา-ความเชื่อมั่น วิริยะ-ความเพียรพยายาม  ขันติ-ความอดทน  สัจจะ-ความถือสัตย์  อธิษฐาน-ความตั้งใจแน่วแน่"

ขั้นแรกต้องมีความเชื่อมั่น(ศรัทธา)
ขั้นสองต้องพากเพียรปฏิบัติ    (วิริยะ)
ขั้นสามต้องมีความอดทน (ขันติ)
ขั้นสี่ ต้องมีสัจจะในใจว่า จะต้องทำให้ได้เหมือนใจคิดและปากพูด ถ้าไม่สำเร็จก็ยอมเสียสละทุกอย่างได้  (สัจจะ)
ขั้นห้า คือ อธิษฐาน-ความตั้งมั่นในจิตใจ อ้างเอาคุณพระรัตนตรัย อ้างเอาคุณบิดามารดา อ้างเอาคุณแห่งศีล คุณแห่งทาน มาตั้งมั่นในใจ เพื่ออธิษฐานให้สำเร็จ"  (อธิษฐาน)

เล่าให้พระลูกชายฟังว่า "เมื่อโยมเรียนวิชากับพระอาจารย์นั้น ท่านหัดให้เพ่งดวงอาทิตย์ตอนเช้า จนสามารถมองดูดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงได้ หลับตาก็มองเห็นดวงอาทิตย์ได้ นั่งสมาธิเพ่งดวงเทียนจับนิ่งอยู่ที่เปลวเทียน จนเมื่อหลับตาแล้ว ก็ยังแลเห็นดวงเทียนสว่างอยู่ที่เดิม ให้นั่งที่ท่าน้ำ ใช้ดวงจิตเพ่งไปที่ผักตบชะวา แล้วภาวนาให้ผักตบชะวานั้น นิ่งอยู่กับที่ด้วยอำนาจกระแสจิตได้ เมื่อทำเช่นนี้ จึงจะสามารถเรียนวิชาสำเร็จได้" หลวงพ่อเงิน จึงฝักใฝ่ตั้งใจฝึกหัด จนสำเร็จวิชาตามที่โยมบิดาสอนให้

 

........................................................................................
หลวงพ่อเงิน ออกป่าถือธุดงควัตร

 

สมัยนั้นประมาณ พ.ศ.2450 เศษ นับว่ายังเป็นยุคสมัยโบราณอยู่ ถนนหนทาง รถยนต์โดยสาร วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไฟฟ้ายังไม่มีเหมือนปัจจุบันนี้ ตามชนบทบ้านนอก ยังมีสภาพเป็นสังคมไทยแท้แต่โบราณ ประชาชนก็ทำไร่ทำนากันไปพอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อขายเอาเงินมากมายมั่งคั่งร่ำรวยอะไร เรียกว่าทำมาหากินกันจริงๆ เสร็จจากหน้านา ก็ไม่มีเครื่องหย่อนใจอะไร วัดต่างๆ จึงมักจะจัดให้มีมหรสพ แสดงในวัดบ้างเป็นครั้งคราวในฤดูตรุษสงกรานต์ พอให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนอารมณ์บ้าง พวกนักล่ำนักเลงก็กินเหล้า เล่นการพนัน ตีไก่ กัดปลา สูบฝิ่นกินยา เล่นโปเล่นถั่วกันไปบ้าง พวกนี้เป็นพวกรักชั่วหามเสา ที่รักดีหามจั่วหวังจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ในชีวิตก็มักจะเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีลอุโบสถ หรือที่มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางบุญ ก็บวชเรียนกันคนละ 3-4-5 พรรษา คนที่บวชนี้ก็มีอยู่ 2 พวกใหญ่ๆ พวหนึ่งหวังทางลาภยศ ชื่อเสียง ก็เรียนนักธรรมบาลี เพื่อจะเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนา เป็นนักเทศน์ เป็นเจ้าคุณ มียศศักดิ์ มีลาภทานสักการะไปทางหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็มุ่งทางปฏิบัติสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน เรียนเวทมนต์คาถา เรียนเพ่งฌานภาวนาสมาบัตินั่งทางใน แต่คนที่เรียนทางนี้มีน้อย ต้องมีอุปนิสัย มีใจรัก ต้องเสียสละ ต้องยอมลำบากลำบน ออกธุดงค์เดินป่า ต้องเคร่งครัดในศีลในวินัยปฏิบัติ จะหาคนที่ใจจริง ยอมอุทิศตน อุทิศชีวิต เพื่อบำเพ็ญบารมีอย่างนี้หายาก

ในจำนวนพระภิกษุที่หายากนี้ ก็มีหลวงพ่อเงินอยู่องค์หนึ่ง เมื่อบวชได้ 5 พรรษาพ้นนิสัยมุตก์แล้ว ก็ตั้งใจปรารถนาจะออกธุดงค์เดินป่าไปต่างบ้านต่างเมือง หลวงพ่อเงินจึงได้เตรียมเครื่องอัฐบริขาร สำหรับธุดงค์เดินป่าพร้อมตามแบบแผนของครูอาจารย์ แล้วก็ออกเดินธุดงค์เท้าเปล่ามุ่งแสวงบุญไปยังภาคเหนือ ได้เดินทางไปจนถึงสระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์สมัยนั้นยังเป็นป่าดง ถนนหนทางไม่มี ต้องเดินป่า ทุ่งนา ป่าละเมาะลัดเลาะเรื่อยไป ค่ำไหนนอนนั่น เหมือนนกขมิ้นเหลืองอ่อน การธุดงค์เดินป่านี้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานแต่แรกเดินทางด้วยสัตยาธิษฐานอันมั่งคงว่า จะเดินธุดงค์เพื่อเอาบุญเอากุศล บูชาพระบรมศาสดา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกอบรมจิต อย่างยิ่งยวดกวดขัน ต้องตั้งใจอุทิศชีวิตร่างกายให้เป็นทานแก่สัตว์ ถ้าจะมีสัตว์เสือสิงห์ตัวใดหิวอาหาร จะมากัดกินเสียก็ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ไม่อาลัยแก่ชีวิต ตั้งใจอุทิศเพื่อเป็นทานบารมี ดังเช่นพระเวสสันดรยอมเสียสละเป็นทานได้ทั้งช้างคู่บ้านคู่เมือง บุตรธิดา และพระมเหสี" การเดินธุดงค์จะต้องไม่ห่วงกังวลเรื่องที่อยู่และอาหาร ว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนเลี้ยงชีวิต จะมีผู้ตักบาตร ถวายอาหารหรือไม่ ถ้อยคำของหลวงพ่อที่กล่าวแก่ผู้ไต่ถามระหว่างเดินธุดงค์ ก็คือ

"อาตมาได้ตั้งใจอุทิศสังขารให้เป็นทานแก่สัตว์ที่หิวกระหายอยู่แล้ว จึงไม่กลัวภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย"

"อีกอย่างหนึ่งอาตมาเชื่อว่า จิตที่เป็นกุศลด้วยการแผ่เมตตาอยู่เสมอ สัตว์ทั้งหลายก็ต้องไม่มีแก่ใจมาปองร้ายอาตมา"

คราวหนึ่งหลวงพ่อเงินเล่าว่าได้ธุดงค์เข้าไปในบริเวณสนามยิงเป้าของทหาร ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งทหารกำลังซ้อมยิงเป้ากันอยู่ เมื่อรู้ก็ตกเข้าไปอยู่ในท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว หลวงพ่อเงินจึงหยิบเอาพระเครื่องของหลวงพ่อรุ่งขึ้นมา แล้วน้อมจิตอธิษฐานถึงคุณพระรัตนตรัยว่า

"ด้วยบารมีแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากอาตมามีวาสนาที่จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกต่อไปภายหน้า ขออย่าให้อาวุธมาต้องกายอาตมาเลย"

ด้วยสัตยาธิษฐาน และบุญกุศลของหลวงพ่อเงิน กระสุนมิได้ต้องกายเลย เพียงเฉียดไปเท่านั้น สักครู่หนึ่งทหารก็ควบม้าเข้ามาหาท่าน แล้วถามว่า "ทำไมท่านจึงเข้ามาในเขตยิงเป้าของทหาร" หลวงพ่อเงิน ตอบเรียบ ๆ ว่า

"อาตมาไม่ทราบเลยว่า บริเวณนี้มีอันตราย จึงเดินเรื่อยเข้ามาโดยไม่รู้ เมื่อรู้ก็ตกอยู่ท่ามกลางอันตรายเสียแล้ว แต่เมื่อปลอดภัยก็เป็นความสวัสดีของเราทั้ง 2 ฝ่าย" เข้าฤดูฝน หลวงพ่อเงิน จึงได้เดินทางกลับวัดดอนยายหอม เมื่อถึงวัดนั้นแม้แต่พี่ชายก็จำท่านไม่ได้ เพราะผอมและดำไปด้วยตรากตรำเดินธุดงค์

 

........................................................................................
มูลเหตุแห่งการสละโลกีย์วิสัย ของหลวงพ่อเงิน

 

การออกบวช สละบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ การงานไปเป็นภิกษุนั้น ที่จริงก็เรียกว่า สละโลกียวิสัยนั่นเอง แต่ว่าถ้าการออกบวชนั้นเป็นแต่เพียงตั้งใจบวชตามประเพณีบวชทดแทนคุณบิดามารดา บวชเพื่อเอาบุญกุศล บวชเพื่อเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย หรือบนแล้วบวช บวชหน้าไฟ ก็สุดแล้วแต่ ก็เรียกว่าเป็นการบวชเพียงชั่วคราว ไม่ได้ตั้งใจบวชอุทิศชีวิต เพื่อจะสละโลกีย์วิสัยโดยแท้จริง แม้แต่การบวชนานจนได้เป็นพระมหาเปรียญ มีสมณศักดิ์เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จพระราชาคณะก็ตาม ก็ยังไม่เรียกว่า บวชอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง เพราะยังอาจจะลาสึกออกมาครองเรือนอีกเมื่อไรก็ได้ ด้วยน้ำใจยังไม่มั่นคงเด็ดเดี่ยวแน่วแน่พอ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนทั้งหลายทั่วไป ซึ่งเป็นบุรุษชาย ธรรมดาไม่ว่าใครร้อยละเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเช่นนี้

แต่สำหรับหลวงพ่อเงินนั้น เป็นกรณีพิเศษ สำหรับวิสามัญบุรุษ อันนานๆ จะมีสักคนหนึ่ง คือ ตั้งแต่บวชมา ก็ไม่เคยคิดแม้สักขณะจิตเดียวว่าจะสึกออกไปเป็นฆราวาสอีก ตั้งใจตั้งแต่แรกทีเดียวว่าจะขอบวชไปจนตลอดชีวิต จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตั้งใจจะอุทิศชีวิตอยู่ในเพศภิกษุ ตั้งใจถวายชีวิตต่อพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเหมาะก็ดี จึงได้บอกแก่โยมบิดามารดาว่า

"ทรัพย์สมบัติทางโลกที่โยมยกให้ทั้งหมดนั้น ฉันขอสละหมดทุกสิ่งทุกประการ จะขอบวชต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะขออุทิศชีวิตเพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ผู้เกิดมาอยู่ในความมืดและความทุกข์ยาก ขอให้โยมจงยินดีอนุโมทนาด้วยเถิด"

นี้เป็นคำกล่าวเมื่อบวชได้พรรษาที่ 5 หลังจากลับจากเดินทางออกธุดงค์ กลับมาถึงวัดแล้ว ความจริงใจนั้น ตั้งใจจะบวชอุทิศชีวิตมาตั้งแต่แรกบวช เพียงแต่ยังไม่ได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณออกไปให้โยมทราบเท่านั้น เมื่อได้ใช้เวลาตรึกตรองจนแน่ใจแล้ว จึงได้บอกให้โยมทราบเป็นคนแรก โยมทั้งสองก็ยกมือขึ้นสาธุอนุโมทนาด้วย เพราะก็รู้อยู่ตั้งแต่หลวงพ่อเงิน เกิดมาแล้วว่าลูกชายคนนี้จะได้บวชเป็นสมภาพเจ้าวัดแน่ ลูกชายก็ยังมีอยู่อีกถึง 6 คนทีเป็นฆราวาส จึงไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเมื่อได้ยินพระลูกชายพูดเช่นนี้

ในพรรษาที่ 5 นั้น ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามมาคือ หลวงพ่อฮวยเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ซึ่งชราภาพมากแล้วเข้าใจว่าอายุกว่า 80 ปี เจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ เรื่อยมาหลวงพ่อเงินก็ได้พยายามปรนนิบัติอยู่ ไม่ทอดทิ้งด้วยความกตัญญูกตเวที

ต่อมาทางการพระสงฆ์ ก็ได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อเงิน เป็นรองเจ้าอาวาส ทำการแทนเจ้าอาวาส ปกครองสงฆ์วัดดอนยายหอมต่อมา หลวงพ่อเงิน พูดปรารภว่า "ไม่อยากมีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เลย แต่อยากจะทำงานพระพุทธศาสนาอย่างอิสระด้วยใจสมัคร เพื่อสร้างคุณงามความดี การทำงานให้พระศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่อะไร"เมื่อชาวบ้านกลัวว่าหลวงพ่อเงินไม่รับตำแหน่งหน้าที่ กลัวว่าทางการคณะสงฆ์จะแต่งตั้งพระภิกษุจากที่อื่นมาเป็นแทน จึงได้เข้าชื่อกันร้องเรียนไปทางเจ้าคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่

วันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัดจึงได้เดินทางไปที่วัดดอนยายหอม วันนั้น ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2459 หลวงพ่อเงินอายุได้26 พรรษาที่6 ท่านเจ้าคุณพระพุทธรักขิต ได้ประชุมสงฆ์และราษฎร เพื่อเลือกตั้งรองเจ้าอาวาส ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้งพระภิกษุเงิน จันทสุวัณโณ เป็นรองเจ้าอาวาส พระพุทธรักขิตจึงเรียกพระภิกษุเงินให้มายืนต่อหน้าที่ประชุมนั้น แล้วสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธรักขิต เจ้าคณะจังหวัด ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า

"ได้ทราบมานานแล้วว่า คุณเงิน เป็นพระภิกษุหนุ่มที่เข้มแข็งมีศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีปฏิภาณในการสั่งสอนประชาชน วางตนเป็นที่เคารพนับถือ ของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย วันนี้ได้มาเห็นตัว เห็นลักษณะอันมีสง่าน่ายำเกรงด้วยแล้ว ก็สามารถจะทำนายได้ว่า พระภิกษุเงินผู้นี้ จะเป็นพระเถระผู้ทรงคุณความสามารถในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไปผู้หนึ่ง ประชาชนจะมีความเลื่อมใสศรัทธาไปทุกสารทิศ จึงขอเตือนว่า คุณจะเป็นผู้ปกป้องชาวบ้านนี้ให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม คุณจะเป็นผู้นำให้เขาไปสู่แสงสว่าง อันหมายถึงความสงบสุข ลักษณะของคุณก็บอกอยู่ว่า เป็นผู้ประกอบด้วยเมตตาจิต ขอให้คุณจงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในพระพุทธศาสนยิ่ง ๆขึ้นไป"

คำกล่าวของท่านเจ้าคุณพุทธรักขิตนี้ นับว่าเป็นคำทำนายที่เป็นคำประกาสิตของท่านซึ่งหลวงพ่อเงินจำได้แม่นยำที่สุด เป็นทั้งคำขวัญที่ส่งเสริมกำลังใจให้ประกอบแต่ความดีตลอดมา คำกล่าวของผู้ใหญ่ที่กล่าวออกมาด้วยน้ำใจเมตตาและปัญญา จึงมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้น้อยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่ายุคสมัยใดหรือบุคคลใด สถานที่ใดก็ดี ประดุจคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ว่าบุคคลใดจะเป็นพระนิตยะโพธิสัตว์ ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต คำของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งไม่มีสองฉันใด คำของครูอาจารย์ก็ฉันนั้น
งานบริหารพระศาสนา

งานบริหารกิจการพระศาสนานั้น มองดูภายนอกระดับประเทศก็นับว่าเป็นภาพที่กว้างใหญ่ไพศาล จนมองดูพร่ามัว ไม่รู้ว่าบริหารอะไร งานของคณะสังฆมนตรี หรืองานของมหาเถรสมาคม ก็มองไม่เห็นว่าบริหารกิจการพระศาสนาอย่างไร เพราะเป็นงานระดับสูง มีขอบข่ายกว้างขวางมาก งานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ก็ยังมองไม่ออกชัดเจนอะไรนัก

แต่อันที่จริงงานบริหารกิจการพระศาสนานั้น งานจริงๆ อยู่ระดับวัดนั่นเอง เพราะพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัด หัวหน้าปกครองพระภิกษุสงฆ์คือสมภารเจ้าวัด วัดนั้นก็มีหมู่กุฎีเป็นหลัง ๆ เปรียบเหมือนบ้านเรือนของพระสงฆ์ กุฎีหลังหนึ่ง มีพระภิกษุอยู่ 2-4 รูป ก็เท่ากับครัวเรือนหนึ่ง ซึ่งลูกชายชาวบ้านมาบวชเรียนอยู่อาศัย วัดหนึ่งจึงเท่ากับหมู่บ้านหนึ่ง เจ้าอาวาสนั้นถ้าจะเปรียบกับการปกครองทางบ้านเมือง ก็เท่ากับเป็นผู้ใหญ่บ้าน ปกครองหมู่บ้าน 10-20 หลังคาเรือน ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสของพระอาจารย์เงิน จันทสุวัณโณ จึงเทียบเท่ากับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของทางการคณะสงฆ์นั่นเอง เมื่อหลวงพ่อฮวยเจ้าอาวาส เป็นพระภิกษุสงฆ์ชราภาพแล้ว การบริหารของวัดดอนยายหอม จึงตกเป็นหน้าที่ของพระอาจารย์เงินเต็มมือ แต่พระอาจารย์เงิน ก็มีความเคารพนอบน้อม ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อฮวยอยู่ในฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยความกตัญญูกตเวที มิได้ดื้อกระด้างอวดดีแข่งดีอะไรเลย เพราะที่จริงใจของพระอาจารย์เงิน ก็ไม่อยากเป็นใหญ่อยู่แล้ว อยากแต่จะทำงานสร้างคุณงามความดี สร้างบารมีเพื่อเอาบุญกุศลตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแต่อย่างเดียว เมื่อพระเณรลูกวัดและชาวบ้านประจักษ์อยู่แก่ตาแต่ใจเช่นนี้ จึงไม่มีปัญหาอะไร มีแต่ช่วยกันคือช่วยกันทำ ช่วยกันออกเงินบูรณะปฎิสังขรณ์วัดดอนยายหอมให้เจริญเป็นปึกแผ่นขึ้นตามลำดับ

อีก 4 ปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2463 อาจารย์พรหม ด้วงพูล โยมบิดาของพระอาจารย์เงิน ก็ถึงแก่กรรมลง ชาวบ้านลือกันว่า อาจารย์พรหมถูกกระทำทางไสยศาสตร์ เพราะอาจารย์พรหมเป็นอาจารย์ทางไสยศาสตร์อยู่เหมือนกัน หลวงพ่อเงินเล่าว่า โยมบิดาของท่าน ถึงแก่กรรมอย่างปัจจุบัน ไม่ทันได้รักษาพยาบาลแต่อย่างใด ส่วนว่าจะถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร เหตุอะไรก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะไม่มีการพิสูจน์กันด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อโยมบิดาถึงแก่กรรมนี้ หลวงพ่อเงินอายุได้ 30 ปี

ครั้นต่อมาอีก 3 ปี ใน พ.ศ.2466 หลวงพ่อฮวย ก็ถึงแก่มรณภาพอีกองค์หนึ่ง เมื่อพระอาจารย์เงิน อายุได้ 33 ปี เป็นอันว่า พระอาจารย์เงินได้สูญเสียที่พึ่ง ที่เคารพนับถือไป 2 คนในเวลาห่างกันเพียง 3 ปีเท่านั้น

ครั้นทราบถึงทางการพระสงฆ์แล้ว จึงได้สั่งแต่งตั้งให้พระอาจารย์เงิน จันทสุวัณโณ รองเจ้าอาวาส เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2466 อายุพระอาจารย์เงินได้ 33 ปี คนทั้งหลายจึงเรียกพระอาจารย์เงินว่า หลวงพ่อเงิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถึงแม้จะมีวัยวุฒิน้อย แต่ตำแหน่งหน้าที่และคุณงามความดี ประชาชนก็ยอมรับนับถือว่า เป็นหลวงพ่อของเขา นับแต่นั้นมา

เมื่อได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสเต็มตัวแล้ว หลวงพ่อเงิน ก็เริ่มงานการก่อสร้างหอสวดมนต์ขึ้นหลังหนึ่ง ยาว 9 เมตร กว้าง 4 เมตร สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 40,000 บาท ในสมัยนั้นเงินมีค่ามากถ้าตกปัจจุบันก็ต้องคูณด้วย 100 ก็จะตกประมาณ 4,400,000 บาท แต่ก็มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ทำบุญให้ท่านให้ก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเป็นงานชิ้นแรก

ระยะนี้ หลวงพ่อเงิน มีชื่อเสียงดีมาก มีคนเคารพนับถือมาก มีคนขึ้นมาก ทั้งใกล้ไกล สาวและแก่ เป็นมิ่งขวัญของคนตำบลนั้น ถ้าจะพูดให้ตรงก็ต้องพูดว่า เป็นดาวดวงเด่นอยู่ในเวลานั้น ถึงแก่มีคนเป็นห่วงกันมาก กลัวว่าจะมีหญิงสาวคนใดมาชิงเอาหลวงพ่อเงินไปเสีย คนเฒ่าคนแก่ พูดกันทั่วไปว่า

"สำคัญอีพวกสีกาหน้าขาว ๆ นั่นแหละมันจะมาทำให้ผ้าเหลืองพระของกูร้อน"

มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งแกหวงหลวงพ่อเงินนักหนา ถ้ามีสาวคนใดไปพูดจาถึงหลวงพ่อเงินให้แกได้ยินเข้า หรือว่าไปมาหาสู่ผิดปกติ แกจะต้องด่าให้อย่างหยาบคายเจ็บแสบ จนอายแทบว่าต้องแทรกแผ่นดินหนีทีเดียว เขาว่าตาคนนี้แหละแกเป็นหมาเฝ้าหลวงพ่อเงินอยู่ที่วัด

อย่างไรก็ดีชื่อเสียงหลวงพ่อเงินก็โด่งดังจริงๆ มีคนไปหาไม่เว้นแต่ละวัน แต่หลวงพ่อเงินก็ประพฤติปฏิบัติตนเหมือนพระลูกวัดธรรมดา ทุกวันทุกเช้าหลวงพ่อเงินก็ออกบิณฑบาตเช่นพระลูกวัด ไม่มีเว้นเลย ได้อาหารดี ๆ มาก็แบ่งปันให้พระลูกวัดฉันเสมอหน้ากันตามมากตามน้อย ได้ลาภทานสักการะอะไรมา ก็ทำบุญสร้างวัด หรือบริจาคให้พระลูกวัดไปฏันใช้สอย ไม่เคยเก็บสะสมไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเลย แม้แต่ชิ้นเดียว หลวงพ่อเงินชื่อเงินก็จริง แต่เรื่องเงินแล้วดูจะถือว่าเป็นกาลกิณีแก่ท่าน ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเลย ได้มาก็รู้แต่จำนวนเงินเป็นตัวเลข ส่วนตัวเงินอยู่ที่ไวยาวัจกร เอาไปซื้อของเครื่องใช้สำหรับพระลูกวัด สำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดทุกบาททุกสตางค์

ชื่อเสียงของหลวงพ่อเงิน จึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง ส่งกลิ่นฟุ้งขจรขจายไปเหมือนกลิ่นดอกไม้หอมหวลทวนลมไปได้ จนรู้ถึงหูเจ้าคณะจังหวัด ท่านก็ ออกปากชมอยู่เสมอ ใครไปท่านก็พูดถึง ขอให้ดูคุณเงินสมภารวัดดอนยายหอมเป็นแบบอย่าง สมภารเด็ก ๆ แต่เขาทำอะไรมีหลักฐานดีจริงๆ

คำยกย่องของเจ้าคณะจังหวัด รู้ถึงหูสมภารวัดอื่น ๆ ทำให้สมภารวัดหลายองค์ เดินทางไปชมวัดดอนยายหอม เมื่อเห็นวัดวาสะอาด เรียบร้อยเป็นระเบียบ เห็นบุคลิกลักษณะของหลวงพ่อเงิน มีสง่าอัธยาศัยดี โอภาปราศรัย พูดจาสุภาพเรียบร้อย พระสงฆ์และชาวบ้านก็พากันทึ่งมาก

ในระยะหลังที่อาจารย์พรหม โยมบิดามรณะไปแล้วชาวบ้านที่เคยพึ่งพาอาศัยอาจารย์พรหมอยู่ เมื่อหมดที่พึ่งก็หันมาหาหลวงพ่อเงินแทน เจ็บไข้ได้ป่วยมีทุกข์ร้อนอะไร ก็พากันหันหน้ามาหาหลวงพ่อเงินให้ช่วย โดยถือว่าเป็นพ่อลูกกันมีตำหรับตำราอะไรก็คงจะตกอยู่แก่พระลูกชาย เรื่องนี้ก็กลายเป็นการบังคับทางอ้อมให้หลวงพ่อเงินต้องบำเพ็ญตนเป็นอาจารย์พรหมไปด้วย เมื่อเห็นมีคนทุกข์ร้อนบ่ายหน้ามาให้ช่วย ก็ต้องช่วยเหลือไปเท่าที่จะช่วยได้ สมัยโน้นโรงพยาบาล สถานีอนามัยก็ไม่มี มีก็อยู่ในเมืองห่างไกลหลายกิโลเมตร ไปมาก็ลำบาก ถนนหนทาง รถยนต์ก็ไม่มี ประชาชนจึงต้องพึ่งหมดแผนโบราณ ยาขอ หมอวาน หมอชาวบ้านอยู่ทั่วไป หลวงพ่อเงิน จึงกลายเป็นหมอแผนโบราณ แทนโยมบิดาไปอีกอย่างหนึ่ง ใครป่วยไข้เป็นอะไรก็มาขอน้ำมนต์ให้เสกเป่าให้บ้าง เมื่อได้ผลคนก็ยิ่งนับถือ พากันมาหามากเข้าทุกที หนักเข้าก็กลายเป็นเกจิอาจารย์ ขอให้ท่านทำเสื้อยันตร์ ตะกรุด ลูกอม ขี้ผึ้ง แป้งผัดหน้า น้ำมันมนต์ เสกหมากพูล เสกทราย ซัดบ้านกันขโมยขะโจร แม้กระทั่งชานหมากก็มีคนต้องการ ไม่มีใครรังเกียจ

แต่จิตที่ตั้งความปรารถนาไว้ว่า จะบวชอุทิศชีวิตสร้างบารมี ช่วยเหลือมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากนี้แหละ ทำให้หลวงพ่อเงินปฏิเสธไม่ได้ เพราะได้ตั้งใจมาแต่แรกแล้วว่า จะอุทิศชีวิตเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ทำให้ท่านต้องช่วยคนที่บากหน้ามาหาไม่เลือกหน้า

ก็เป็นธรรมดาของสังคม ย่อมจะมีคนดีคนชั่วปะปนกันอยู่ทั่วไปไม่เลือกกาลสถานที่ บรรดาคนที่มาหาหลวงพ่อเงินจึงย่อมจะมีคนชั่วคนพาลปะปนอยู่ด้วย ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน บางคนก็กลายเป็นอ้ายเสือร้ายไปเมื่อออกพ้นวัดไปแล้ว เช่น เสือชม เสือเชย ผู้ร้ายมีชื่อสมัยนั้นก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงินด้วย

จึงทำให้เจ้าเมืองนครปฐม ต้องเดินทางไปหาหลวงพ่อเงิน ครั้งหนึ่งพระองค์เจ้าอาทิตย์-ทิพยอาภา เจ้าเมืองนครปฐม ได้เสด็จไปหาหลวงพ่อเงินถึงวัดดอนยายหอม เพื่อจะไปขอร้องให้เลิกให้เครื่องรางของขลังเสีย แต่เมื่อเจ้านายเชื้อพระวงศืผู้ใหญ่องค์นี้ได้เห็นบุคลิกลักษณะหลวงพ่อเงินเข้า ประกอบกับได้ทรงสนทนาโต้ตอบโอภาปราศรัย แลเห็นอัธยาศัยน้ำใจอันแท้จริงของหลวงพ่อเงิน พระองค์เจ้าอาทิตย์ก็ล้มเลิกความคิดที่จะขอร้อง ได้กลายเป็นแขกประจำของหลวงพ่อเงินไปด้วย ทุกวันอาทิตย์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ จะต้องไปหาหลวงพ่อเงิน เป็นแขกประจำ

หลังจากนั้นจะอย่างไรไม่ทราบชัด เจ้าคณะจังหวัด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้หลวงพ่อเงินเป็นเจ้าคณะตำบลดอนยายหอม เมื่อ พ.ศ.2470 อายุได้ 37 ปี และในปี พ.ศ.2471 ต่อมาเจ้าคณะจังหวัดก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พระภิกษุเงิน จันทสุวัณโณเป็นพระครูปลัด ของเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม

ส่วนเรื่องการก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนั้น หลวงพ่อเงินก็ทำไปเรื่อยๆ

พ.ศ.2470 ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น โดยอาศัยทุนทรัพย์ของบรรดาญาติพี่น้องของท่านเอง รวมทั้งชาวบ้านดอนยายหอม อุทิศกุศลให้โยมบิดามารดา เป็นศาลาขนาดกว้างใหญ่เป็นที่เชิดหน้าชูตาวัดนี้ หลวงพ่อเงินมีดีอยู่อย่างหนึ่งเรื่องเงิน คือท่านไม่สะสมเงิน ไม่แตะต้องเงินเลย ท่านไม่ยอมสะสมเงินไว้เพื่อส่วนตัวหรือเอาไปเจือจุนญาติพี่น้อง มีแต่เอาทรัพย์สินเงินทองของญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญสร้างวัด คนทั้งหลายเมื่อทราบว่าท่านจะสร้างอะไร ก็มีคนเต็มใจออกเงินช่วยทำบุญอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านกำลังสร้างอาคารเป็นตึกคอนกรีตอยู่ ผู้เขียนถามว่า

"หลวงพ่อ สร้างอะไรหลังใหญ่ ๆ อย่างนี้ ไม่กลัวว่าจะไม่มีเงินพอสร้างไม่เสร็จมั่งหรือครับ"

หลวงพ่อเงินตอบเรียบ ๆ ว่า

"ตั้งใจทำไปตามกำลังศรัทธา ก็สำเร็จจนได้นั่นแหละ"

หลวงพ่อเงิน ไม่มีนิสัยโลภ ไม่สะสม ไม่ต้องการมีอะไรเป็นของตน ไม่มีห่วง ไม่มีหวังทางโลก ไม่ทำอะไรเพื่อตัวเอง มีนิสัยเสียสละทำเพื่อคนอื่นทั้งสิ้น นิสัยจิตใจอย่างนี้ เป็นที่รู้เป็นที่ประจักษ์แจ้งในผู้คนทั้งหลายทั้งปวงทั่วไป เพราะเหตุนี้เมื่อท่านทำอะไร ใครรู้เข้า ก็เต็มใจยินดีบริจาคด้วยความเต็มใจเต็มสติกำลัง หลวงพ่อเงินเสมือนเนื้อนาอันดุดม เมื่อหว่านพืชลงไปย่อมจะได้ผลเต็มที่

"อนุตตะรัง ปุญญํกเขตตัง โลกัสสาติ"
"เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีอะไรเหนือกว่า"

คนจึงยินดีหว่านพืชลงไปในนาดีอย่างหลวงพ่อเงิน

ต่อมาในปี พ.ศ.2473 ท่านได้สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมอีกหลังหนึ่ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร สิ้นค่าก่อสร้างสมัยนั้น 40,000 บาท และในปี พ.ศ.2473 นั้นเอง ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการอุปสมบทกุลบุตร ในตำบลดอนยายหอมนั้น เมื่อ อายุ 40 ปี

 

........................................................................................
พระธรรมเทศนา ของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

 

คุณวิเศษของหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นที่นิยมชมชื่นสรรเสริญกันหนักหนาก็คือ การสั่งสอนธรรม หรือจะเรียกว่าวิสัชนาธรรมก็ได้ จะเรียกธรรมเทศนาชนิดที่ไม่ต้องขึ้นธรรมาสน์เทศน์ไม่ต้องอาราธนาธรรม หลวงพ่อมักจะพูดเรื่องธรรมะกับคนที่ไปหาทุก ๆ คน สอดแทรกอยู่ในคำสนทนานั่นเอง ใช้คำพูดง่าย ๆ ฟังเข้าใจทันที ได้คติเตือนใจเหมาะสมกับวัย และสภาพจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ใคร ๆ ได้ฟังแล้วก็เคลิบเคลิ้มเหมือนมีมนต์สะกดให้เห็นดีเห็นชอบเห็นจริง จดจำได้อยากทำตาม บางคนถึงแก่ปฏิญาณตนว่าจะเลิกทำบาปทำชั่ว เลิกอบายมุขต่างๆ เพียงแต่ได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อเงินครั้งแรก และครั้งเดียวก็มี

วิธีสอนคนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบถึงที่บ้าน เมื่อได้ทราบว่าใครกำลังคิดชั่วทำชั่ว ท่านก็จะเดินไปโปรดถึงที่บ้าน ท่านทำคล้ายกับจริยวัตรของพระบรมศาสดา เมื่อไปถึงแล้วก็คุยถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้วก็วกเข้าเรื่อง ด้วยจิตอันเปี่ยมไปด้วยความเมตตา อยากจะให้คนพ้นทุกข์ อยากให้เขาได้อยู่ดีมีสุข โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไรเลย ใครกำลังคิดชั่วทำชั่วอยู่ ก็สารภาพกับหลวงพ่อ แล้วก็เกิดความละอายใจ ไม่กล้าคิดชั่วทำชั่วอีกต่อไป แล้วก็เล่าให้ใคร ๆ ฟังด้วยความปลื้มใจว่าหลวงพ่อมาโปรดถึงที่บ้าน ทำให้เขาเลิกทำความชั่วเสียได้ หลวงพ่อจึงเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านอย่างฝังจิตฝังใจ

เพราะเหตุที่หลวงพ่อเงินเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป ทั้งพระเณรในวัดก็เคารพบูชา การปกครองพระภิกษุสงฆ์ในวัดจึงไม่มีปัญหาอย่างใด แม้จะหย่อนด้านวัยวุฒิอายุยังน้อยอยู่ คนก็เรียกหลวงพ่อกันทั่วไป หลวงพ่อเป็นพระที่เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยไม่เคยประพฤติย่อหย่อนเลี่ยงวินัยให้ใครเห็นเลย ไม่มีปมด้อยหรือจุดอ่อนอันจะต้องซ่อนเร้นปิดบัง หลวงพ่อมักน้อย สันโดษ ไม่โลภ ไม่สะสมทรัพย์ไว้เป็นของส่วนตัวเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยแม้แต่จะคิดโลภเอาไว้เพื่อเห็นแก่วัดก็ไม่ปรากฏ จิตใจก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา เผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ทำเพื่อจะเอาหน้าเอาซื่อ หรือเอาพวก หรือมีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายอะไรทั้งสิ้น พูดจากและปฏิบัติตนเปิดเผย ตรงไปตรงมา สม่ำเสมอ เคยอย่างไรก็อย่างนั้นคงเส้นคงวา หลักธรรมเรื่องที่พระพุทธองค์สอนไว้ เรื่อง สังคหวัตถุธรรม-เครื่องสงเคราะห์ผูกพันจิตใจคนนั้น ดูเหมือนหลวงพ่อจะมีอยู่ครบถ้วน ในจิตใจไม่บกพร่องเลยคือ

1.ทาน การให้ปัน
2.ปิยวาจา พูดจาเป็นที่รัก
3.อัตถจริยา ช่วยเหลือเกื้อกูล
4.สมานัตตตา วางตนสม่ำเสมอ คงเส้นคงวา ไม่มีขึ้นมีลงไปตามอำนาจ วาสนา ยศศักดิ์ หรืออารมณ์ สังคหวัตถุธรรมนี้ ดูแล้วมีอยู่ในตัวหลวงพ่อครบบริบูรณ์ไม่บกพร่องเลย

การได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์นั้น ท่านก็ไม่ได้ถือโอกาสเอาตำแหน่งนี้ กระทำการเพื่อประโยชน์ตนเองเลย ท่านทำการบวชกุลบุตร เพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้เห็นแก่ลาภทางสักการะหรือชื่อเสียง ความเป็นใหญ่ หรือหาลูกศิษย์ลูกหาอะไรทั้งสิ้น สังเกตเห็นได้จากการรับคนเข้ามาบวช ท่านก็ตั้งกฎเกณฑ์ไว้ เป็นการพูดปากเปล่าบอกชาวบ้านให้รู้ทั่วกันว่า

"การที่จะเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านั้นต้องเข้ามาอยู่วัดเสียก่อน เพื่อฝึกหัดอบรมให้มีนิสัยปัจจัยเสียก่อน จึงจะบวชเป็นพระได้ การบวชจึงจะเป็นเนื้อนาบุญ ได้กุศลผลบุญโดยแท้จริง"   การสั่งสอนอบรมพระภิกษุหลวงพ่อก็พูดอยู่เสมอว่า

"พระภิกษุก็เหมือนเนื้อที่นา ต้องเป็นเนื้อนาดี ดินดี การหว่านพืชข้าวลงไป จึงจะได้ผลงอกงาม การเป็นพระเนื้อนาไม่ดี ก็ไม่มีใครเขาอยากจะหว่านพืช คือทำบุญให้ เพราะรังแต่จะสูยเสียเปล่า เป็นข้าวที่เฉา ม้าน หรือรวงลีบ ไม่ได้ผลอะไรตอบแทน"

"อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุมาบวชแล้วต้องเรียน จึงจะชื่อว่าบวชเรียน โดยแท้จริงตามคำโบราณ ไม่ได้เรียนเพื่อเอาประกาศนียบัตรเป็นเครื่องหมายรับรองคุณวุฒิเหมือนทางโลกที่เขาต้องการเอาไปอวดคน หรือนายเพื่อรับเข้าทำงาน การเรียนของพระสงฆ์เป็นการเรียนศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้ไว้ตามภาวะตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือเป็นพระก็ต้องเรียนรู้เรื่องของพระให้เข้าใจ มิฉะนั้นก็จะได้ชื่อว่า บวชเสียผ้าเหลือง สึกก็เปลืองผ้าลาย"

หลังจากสวดมนต์ไหว้พระ ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นแล้ว หลวงพ่อก็อบรมพระ วิธีการอบรมก็พูดจาสนทนาธรรมกันตามธรรมดา ท่านค่อย ๆ พูดเลียบเคียงหว่านล้อม ทีละน้อย จนผู้ฟังเพลิน มีเกล็ดขำ ๆ เรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มาเล่าประกอบ แล้วสุดท้ายก็วกเข้าหาจุดที่ตั้งใจสอน เช่นถ้าเห็นพระภิกษุรูปใดชอบเปลือยกายท่อนบน ตามปกตินิสัยของชาวนา ชาวไร่ ตามบ้านนอกเมื่ออยู่กับบ้าน ท่านก็จะเล่าอะไรต่ออะไรเกี่ยวกับเรื่องเปลือยกายเสียก่อน จึงจะถึงจุดว่า

"เป็นพระสงฆ์นั้นเป็นรูปกายที่ชาวบ้านเขายกมือพนมกราบไหว้ ถ้าปล่อยกายปล่อยตัวเหมือนชาวบ้านแล้ว ก็จะไม่มีอะไรให้อยู่ในฐานะอันชาวบ้านเขาจะกราบไหว้ได้ เขาก็จะหมดศรัทธาเลื่อมใสใน พระสงฆ์ และในพระรัตนตรัยด้วย การสังวรระวังอยู่ในวินัยจึงเป็นสมบัติของพระสงฆ์ เพื่อเขาจะได้ยกมือกราบไหว้ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ"แล้วหลวงพ่อก็จะเล่าเกล็ด เล่านิทาน เล่าชาดกให้ฟังประกอบเรื่องจนผู้ฟังเห็นดีเห็นชอบ ไม่เบื่อหน่าย และยินดีที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

ในส่วนตัวของหลวงพ่อเอง ก็ตั้งอยู่ในวินัยเป็นตัวอย่างด้วย จนพระภิกษุที่บวชอยู่ในวัดดอนยายหอม เมื่อสึกออกไปก็เอาไปนินทาว่าร้ายหลวงพ่อไม่ได้เลย ไม่เหมือนพระบางวัด พอสึกออกไปก็เอาความไดของพระในวัด และของสมภารไปเล่านินทากันสนุกปาก เล่าเป็นนิทาน เรื่องเถรกับยายชีต่าง ๆ นานา เป็นเรื่องลามก จนคนไม่อยากเข้าวัด คนเล่าก็ไม่อยากหันหน้าเข้าวัด กลายเป็นคนเบื่อวัดเกลียดพระไปก็มี สรุปว่าพระก็ไม่เห็นมีอะไรดีวิเศษกว่าชาวบ้านเลย บางทีแย่กว่าฆราวาสก็มี เรื่องอย่างนี้พระพุทธศาสนาขาดทุนป่นปี้ แต่เรื่องอย่างนี้วัดดอนยายหอม ไม่มีเลย มีแต่เอาเรื่องคุณงามความดีของหลวงพ่อไปยกย่องสรรเสริญกันทั่วทุกตัวคน ชื่อเสียงของหลวงพ่อเงินจึงโด่งดังออกไปนอกวัดไกลออกไปทุกที เพราะว่ากลิ่นและสีของหลวงพ่อเหมือนกลิ่นและสีของดอกไม้อันหอมหวนทวนลมได้

หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ
หอมแต่ตามลมรือ    กลับย้อน

 

........................................................................................
หลักธรรมบางประการ ของหลวงพ่อเงิน

 

หลวงพ่อที่ดีมีชื่อเสียงนั้น มักจะมีลูกศิษย์ดี การที่มีลูกศิษย์ดีเพราะหลวงพ่อดี การที่หลวงพ่อดี ก็เพราะมีหลักธรรมดี การที่จะรู้ว่ามีหลักธรรมดี ก็รู้ที่การปฏิบัติของท่าน และรู้จากคำสั่งสอนของท่านที่จะออกมาจากจิตใจของท่าน มิใช่สอนคนอื่นอย่างหนึ่ง ประพฤติตนอีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อหรือครูอย่างนี้ไม่มีคนนับถือ แต่หลวงพ่อเงินมีคนนับถือ มีคนพูดสรรเสริญ มีคนเขียนสดุดียกย่องไว้ ก็เพราะหลวงพ่อเป็นพระดี มีหลักธรรมดีประพฤติปฏิบัติดี เป็นพระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีพร้อมทั้ง 4 ประการ คือ

1.สุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะ ปฏิบัติสมกับสมณะ

2.อุชุปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติงดงามตรงตามพระธรรมวินัย น่าดูน่าชม ทุกอิริยาบถ ทุกย่างก้าวเดิน ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีตลอดชีวิต สม่ำเสมอ ไม่บกพร่อง ไม่ขาดไม่เกิน ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์

3.ญายปฏิปันโน - ประพฤติปฏิบัติด้วยความสำนึกมีสติกำกับตน รู้อยู่เสมอว่า ปฏิบัติอย่างนั้นเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไรจะได้ผลอย่างไร ไม่ใช่ปฏิบัติไปโดยงมงาย ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร แบบที่เรียกกันว่า เถรส่องบาตร

4.สามีจิปฏิปันโน - ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีอย่างมอบกายถวายชีวิต ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความกตัญญู ด้วยความกตเวที ด้วยความภักดีในพระศาสนาที่ได้เข้ามาบวชดำรงชีพอยู่อย่างเป็นสุข

คำทั้ง 4 คำนี้แหละคือคำอธิบายถึงหลวงพ่อดีอย่างหลวงพ่อเงิน เป็นคุณลักษณะพระอริยสงฆ์ หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ดีแท้ ดีจริง ไม่มีอะไรจะต้องระแวงสงสัยเลย กราบได้ ไหว้ได้ บูชาได้ เป็นปูชนียบุคคลของผู้ที่ได้พบเห็นจริงๆ

มีหลักธรรมบางประการที่หลวงพ่อเงินนำมาอบรมภิกษุสามเณรอยู่เสมอ สมควรจะนำมากล่าวไว้เป็นตัวอย่างบางเรื่อง คือ

หลัก 3 ประการในการปฏิบัติของภิกษุ

1.สำรวมอินทรีย์

2.ปลงอสุภกรรมฐาน

3.เจริญวิปัสสนา

"ให้ระงับกาย วาจา ใจ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ให้สำรวมระวังอันได้แก่การสำรวมกาย"

"การพูดจา ให้ระวัง พูดแต่น้อย พูดแต่คำสุภาพ พูดแต่คำสัตย์คำจริง คำที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนและเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่พูดพล่อย ๆ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่พูดส่อเสียด ยุยง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดโป้ปดมดเท็จ ไม่พูดให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ได้แก่การสำรวมวาจา"

"สำรวมใจนั้น คือระมัดระวังใจ ไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง มาครอบงำจิตใจไม่ให้ยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลาย เช่นเห็นหญิงสาวสวยเดินมาก็มิให้มองด้วยความใคร่ พูดด้วยความยินดี คิดไปในทางก่อให้เกิดราคะดังนี้ เป็นต้น"   เรื่องปลงอสุภกรรมฐาน หรือนมัสการพระกรรมฐานด้วยคำโบราณนั้น หลวงพ่อสอนว่า

"ให้ระลึกถึงอสุภะในร่างกาย เกสา, โลมา, นะขา, ทันตา, ตะโจ อันเรียกว่าปัญจกรรมฐาน เป็นของไม่สวยงาม เน่าเปื่อย มีแต่เลือดและหนอง อุจจาระ ปัสสาวะเป็นที่อาศัยของหมู่หนอน"

เรื่องเจริญวิปัสสนานั้น หลวงพ่อสอนว่า

"ให้พิจารณาสังขาร แยกออกเป็นขันธ์ 5 คือ รูปร่างกาย-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ อันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ตั้งอยู่ไม่ได้นาน ไม่ใช่ตัวตน กิเลสกาม คือความรักใคร่ยินดี ตัณหาคือความทะยานอยากได้ อยากเป็น อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ราคะความกำหนัดยินดี , โทสะคือความขึ้งเคียดเดียดฉันท์จัดว่าเป็นมารมาล้างผลาญ คุณงามความดีของมนุษย์ทำให้คนเสียคน"

 

........................................................................................
คำสอนเรื่องกำแพงชีวิต ของหลวงพ่อเงิน

 

หลวงพ่อสอนว่าคนเราเกิดมาก็คล้ายถูกขังอยู่ในคุกมีกำแพง 4 ด้านคือทุกข์

1.ทุกข์ถึงชีวิต ทุกรูปทุกนามกลัวความตายเป็นห่วงชีวิต ทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์ถึงชีวิตคือกำแพงด้านหน้า ทางที่จะพ้นทุกข์ด้านนี้ได้ก็คือ อุทิศชีวิตของตนให้แก่พระพุทธศาสนา จะตายเมื่อไรก็ไม่ว่า ตั้งหน้าแต่ทำความดีเพื่อเป็นที่พึ่งของสัตว์ เมื่ออุทิศชีวิตเสียได้แล้ว ก็เท่ากับควักเอาดวงใจไปฝากไว้กับพระพุทธเจ้า ตัวของเราจะไม่รู้จักความตาย จะไม่ต้องทุกข์ถึงความตาย ตายเมื่อไรก้เท่ากับสังขารแตกดับไปเท่านั้น ไม่มีความตายสำหรับเรา

2.ทุกข์ถึงทรัพย์ ที่ได้รับมรดก และสะสมแสวงหามาได้ กลัวว่าจะชำรุดสูญหายกลัวจะไม่คืนคงไม่มากมูล กลัวว่าเมื่อตายไปจะตกเป็นของคนอื่น ทรัพย์ของเราเป็นมารทำลายใจเรา เหมือนห่วงผูกเท้าไว้ เป็นกำแพงกั้นกักขังตัวเราเองให้ไปไม่พ้น ดิ้นไม่หลุด และเป็นทุกข์เหมือนกำแพงด้านหลัง ทางที่จะทำลายคุกด้านนี้คือไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ไม่สะสม

3.ทุกข์ถึงลูก คนเราเมื่อมีลูกเป็นพ่อเป็นแม่เขา ก็เท่ากับได้สร้างกรรมสร้างห่วงไว้ผูกคอตัวเอง สร้างกำแพงไว้ขังตัวเองอีกด้านหนึ่ง คือกำแพงด้านขวากักขังตัวเราเองไว้ให้หนีไม่พ้น ไปไหนไม่รอด เป็นทุกข์ประการที่ 3 ทางที่จะทำลายกำแพงด้านนี้ ก็คือฝึกฝนอบรมลูกให้เป็นคนดี มีวิชา ทำมาหากินได้จะได้หมดห่วง

4.ทุกข์ถึงภรรยาหรือสามี เมื่อมีคู่ครองแม้จะมีบุตร หรือไม่มี ก็เป็นทุกข์ เป็นห่วง คิดว่าตัวเป็นเจ้าของ กลัวเขาจะป่วยจะไข้ กลัวเขาจะตายจากไป กลัวเขาจะคบชู้มีคู่ใหม่ ทุกข์เหมือนห่วงผูกข้อมือไว้ หรือเหมือนกำแพงคุกด้านซ้าย ทางที่จะทำลายกำแพงด้านนี้ ก็คือคิดว่าแม้แต่ตัวเราเองก็ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ จะเจ็บจะป่วยไข้จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ ไม่สามารถจะช่วยชีวิตตนเองได้ จะไปห่วงชีวิตคนอื่นเกินไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้"

นี่คือคำสอนเรื่องกำแพงคุกของชีวิต จะเห็นว่าเป็นคำสอนง่าย ๆ แต่ฟังแล้วก็เห็นจริง น่าฟังและน่าคิด นี้แหละคือตัวอย่างคำสอนของหลวงพ่อ

 

........................................................................................
หลวงพ่อเงิน สอนคนขอหวย

 

หลวงพ่อเงิน จะเก่งทางคาถาอาคมอย่างไร มีเมตตามหานิยมขนาดไหน พระเครื่องรางของขลังจะศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ก็เป็นเรื่องของลูกศิษย์ลูกหาจะพูดจาเล่าลือกันไปต่าง ๆ นานา แต่คนที่รู้จักหลวงพ่อเงินจริง ๆ แล้ว ก็จะรู้แก่ใจดีว่า หลวงพ่อไม่เคยคุยอวดอะไร เวลาท่านจะแจกพระเครื่ององค์เล็ก ๆ หรือเหรียญรูปตัวของท่าน ท่านก็พูดว่า

"เอาไปเป็นที่ระลึกนะ"

"คนเขาเอาไปใช้ติดตัวเขาว่าดี"

ท่านไม่ได้พูดจาอวดอ้างเอาเอง หรือรับรองว่าของนี้ขลัง ของนี้ศักดิ์สิทธิ์ ของนี้ดี วิเศษทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกะพันชาตรีอะไรเลย คราวหนึ่งพบท่าน ท่านเห็นว่าผู้เขียนเป็นลูกศิษย์ไปรับราชการอยู่ต่างหัวเมืองไม่ได้ไปหาท่าน ท่านก็พูดว่า

"ฉันสร้างพระผงเมตตาไว้รุ่นหนึ่งนะ อยากได้ก็ไปที่วัด"

แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ไปขอรับจากท่าน วันหนึ่งพบหญิงคนหนึ่งเป็นคนชาวนครปฐม พูดถึงพระผงเมตตาของหลวงพ่อเงินว่าอยากได้ เขาก็ส่งให้องค์หนึ่ง ทำด้วยผงสีเหลืองอมแดง ขนาดสัก 5 คูณ 10 มิลลิเมตร รูปสี่เหลี่ยม ผู้หญิงที่ให้พระคนนั้น เป็นใคร ชื่อไรก็ไม่รู้จัก ข้าพเจ้านึกในใจว่า นี่หลวงพ่อรักเราจึงอุตส่าห์ฝากให้หญิงคนนี้มาให้ คราวหนึ่งรำลึกว่าเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อยังไม่มี อยากได้ก็ได้มา 2 เหรียญ ยังเก็บไว้จนบัดนี้

คราวหนึ่งมีงานทำบุญครบ 6 รอบ อายุ 72 ปีของหลวงพ่อเงิน ท่านสร้างเหรียญทองแดง รูปตัวท่านอายุ 6 รอบแจก เมื่อผู้เขียนโผล่ไปในงาน พอเห็นหน้า หลวงพ่อก็เดินผ่านคนจำนวนมากบนศาลาการเปรียญเข้ามา หาล้วงย่าม หยิบเหรียญรุ่น 6 รอบ พ.ศ.2505 ส่งให้ 1 เหรียญ ไม่ได้พูดอะไรเลย

คราวหนึ่งเมื่อผู้เขียนจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2498 ได้ไปกราบลาท่านขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ท่านขุนเชาว์ก็ไปหยิบเอาพระเครื่องหลวงพ่อเงินมอบให้เป็นที่ระลึก 1 องค์ เพราะท่านขุนเชาว์ปรีชาศีกษากร เป็นลูกศิษย์และเป็นกรรมการวัดดอนยายหอมคนหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวข้องอยู่ในการสร้างพระเครื่องดินเผารุ่นนั้น

อย่างไรก็ดี ทุก ๆ คนไม่ว่าใครที่เป็นลูกศิษย์หรือเคยไปหาหลวงพ่อเงินจะเป็นที่รู้กันอย่างซาบซึ้งแก่ใจดีว่า คนที่ไปหาหลวงพ่อเงินจะได้รับการต้อนรับโอภาปราศรัย เป็นที่ชื่นอกชื่นใจแก่ทุกคน ทุกคนจะได้รับสิ่งที่เป็นวัตถุติดมือไปเป็นที่ระลึก เป็นสิริมงคลแก่ตัวตามที่ออกปากขอท่าน จะให้รดน้ำมนต์ ท่านก็อ่านโองการเวทย์มนต์รดน้ำมนต์ให้ จะขอเหรียญ ท่านก็หยิบยื่นให้ แต่สิ่งที่ได้รับไปพร้อมกันก็คือ "ธรรมะ" ที่ฝากแฝงอยู่ในคำสนทนาปราศรัยนั้น บุคลิกลักษณะ ผิวพรรณ วรรณะ ของท่านก็ผ่องใส สง่าผ่าเผย มีแววแห่งความเมตตาแฝงอยู่ในน้ำเสียง และฉายแสงออกมาจากดวงตาคู่นั้น น้ำเสียงกังวาลแจ่มใส ผสมกลมกลืนกันอย่างประหลาดระหว่างความมีอำนาจและความเมตตา กิริยาก็สง่าผสมกับความละมุนละไม และความสงบเสงี่ยมเยือกเย็น ถ้อยคำที่กล่าวออกมาแต่ละคำแต่ละประโยคก็น่าฟัง น่าคิด น่าจดจำ น่าเคารพกราบไหว้อย่างสนิทใจ เรียกว่า "กราบเท้ากราบตีนได้อย่างน่าชื่นใจ ยกเอาเท้าขึ้นใส่หัวใส่เกล้าได้อย่างเคารพบูชา" คำพูดนั้นเหมาะแก่กาลเทศะ เหมาะแก่บุคคล เหมาะแก่เหตุการณ์ มีคำอุปมาอุปไมยทางโลกทางธรรมอย่างแยบคาย อันนี้แหละมีคุณค่ายิ่งกว่าคาถาอาคม เครื่องรางของขลังใด ๆ ทั้งสิ้น ดูเหมือนว่าน้ำมนต์ พระเครื่องเหรียญอะไรเหล่านั้นเป็นแต่เพียงสื่อสารระหว่างตัวเรากับตัวท่านยามที่อยู่ห่างไกลกันเท่านั้น ถ้าหากว่าพระเครื่องของท่านจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ คุ้มครองป้องกันภัยอันตรายได้จริง ๆ ก็เป็นเพราะ ผู้นั้นระลึกถึงท่าน ยึดเอาท่านเป็นที่พึ่งที่ระลึกในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ เมื่อยามอยู่ห่างไกล มิได้อยู่ต่อหน้าท่านเท่านั้น

แต่เมื่อยามอยู่ต่อหน้าท่านนั้น แม้คนที่ไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็นหน้าตาหลวงพ่อมาก่อน พอเห็นท่านเข้าก็จะเกิดอาการสะดุดใจ บุคลิกลักษณะของหลวงพ่อมีเสน่ห์ดึงดูดใจคนตั้งแต่แรกพบทำให้สะดุดตาสะดุดใจคน เหมือนมีพลังงานแม่เหล็กดึงดูดฉะนั้น

คราวหนึ่งหลวงพ่อเดินอยู่บนระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ มีชายหญิงหมู่หนึ่ง แต่งตัวภูมิฐาน เป็นผู้ดีมีการศึกษา เดินผ่านหลวงพ่อไปโดยไม่รู้จัก ก็พากันหันมามอง แล้วก็พูดจาปรารภกันว่า

"หลวงพ่อองค์นี้มีสง่าราศีดีจัง พระที่ไหนนะ ?"

มีเรื่องเล่ากันว่าวันหนึ่ง มีหญิงชาวสุพรรณ 2 คน เดินทางมาหาหลวงพ่อเงินถึงวัดดอนยายหอม ที่รู้ว่าเป็นชาวสุพรรณ เพราะสำเนียงพูดก็เสียงเหมือนชาวดอนยายหอมนั่นแหละ แต่หางเสียงฟังออกว่าเป็นชาวสุพรรณ เมื่อพบหลวงพ่อแล้ว ก็พูดจาตรงไปตรงมาตามประสาชาวบ้าน

"เขาลือกันว่าหลวงพ่อเก่งนักเก่งหนา ฉันอยู่ไกล ก็ต้องอุตส่าห์บากบั่นมาหา เพราะความยากจนนั่นแหละ จะมาหาหลวงพ่อขอหวยไปแทงให้รวยสักที"

หลวงพ่อฟังแล้วก็ยิ้ม ตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบแต่มีกังวาลแจ่มใสเหมือนดังมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหมือนเสียงของพระอินทร์พระพรหมก็ปานกันว่า

"โยมการที่โยมอุตส่าห์บุกน้ำข้ามคลองมาแต่บ้านไกลเมืองไกล ก็เพราะศรัทธาเลื่อมใสในตัวฉัน ฉันก็เห็นใจโยมมากว่านับถือฉันจริง แต่ว่าฉันก็เสียใจที่ทำให้โยมต้องผิดหวังมาก ของที่โยมทั้งสองต้องประสงค์นั้น ฉันไม่มีจะให้ เพราะฉันก็ไม่ได้รู้จักกับขุนบาลหวยที่ไหนเลย จะได้รู้ว่าเขาออกตัวอะไร แล้วก็จะบอกให้โยมเอาไปแทง ถ้าฉันรู้ว่าหวยมันออกตัวอะไรแล้ว ฉันจะมัวโง่อยู่ทำไมล่ะโยม ฉันก็จะใช้ให้เด็กมันไปแทงเสียเองมิดีหรือ จะได้เอาเงินมาสร้างวัดให้มันสวยงามกว่านี้"

โยมทั้งสองผู้ศรัทธาก็นั่งงงอยู่

"อย่าไปหลงมันเลยโยม การพนันนั้นมันเป็นหนทางของคนตาบอดเขาเดินกัน คือมันมีแต่จะต้องเดาสุ่มเอา มองเห็นชัด ๆ อย่างคนตาดี ๆ นี้นะไม่มีหรอก โยมก็เป็นคนมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังดีที่ตาของโยมยังไม่บอดยังไม่ฟาง แล้วโยมจะทำตัวเป็นคนตาบอดตาฟางให้คนอื่นเขาหลอกลวงทำไม การพนันนั้น ไม่ผิดอะไรกับเบ็ดที่เขาเกี่ยวเหยื่อไว้ตกปลา ปลามันโง่ก็มองไม่เห็นเบ็ด คิดว่าเป็นอาหารจึงมากินเบ็ด หมดตัวเมื่อไรจึงจะรู้ว่าเดินทางผิด มีบ้างไหมคนที่เล่นการพนันแล้วร่ำรวย สร้างหลักฐานได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลท่านเป็นพ่อแม่เรา ท่านคงไม่ห้ามหรอก อีกอย่างหนึ่งเงินเป็นของมีค่ามีคุณ เป็นของที่ควรจะเก็บรักษาไว้ไม่ใช่ของเล่น ถ้าเอาเงินมาเล่นเสียแล้ว เงินจะอยากอยู่กับเราหรือ เพราะดูถูกเงิน เอาเงินไปทำเป็นของเล่นเสียแล้ว"

หญิงทั้งสองนั่งฟังเงียบ สงบนิ่ง จนได้ยินเสียงหัวใจเต้น หลวงพ่อจึงเทศน์โดยไม่ต้องติดกัณฑ์เทศน์ เป็นการเทศน์นอกธรรมาสน์ต่อไปอีกว่า

"สมบัติทางโลกนั้น มันไม่ใช่ของแท้แน่นอนอะไรหรอกโยม ถึงโยมจะถูกหวยรวยเงินอาจจะมีโจรมาทุบตีปล้นเอาไปได้ แต่ถ้าโยมทำบุญทำกุศลไว้ โจรที่ไหนมันจะมาปล้นเอาไปได้"

 

........................................................................................
หลวงพ่อเงิน ปราบการพนัน

 

หลวงพ่อเงิน ไม่ได้บวชเพื่อแสวงหาลาภ แสวงหาชื่อเสียง หรือแสวงหาลูกศิษย์ หลวงพ่อจึงไม่ประพฤติตามใจชาวบ้าน เพราะฉะนั้น เมื่อหญิงชาวสุพรรณ มุ่งมั่นมาขอหวย หลวงพ่อจึงไม่ตามใจ เพราะเห็นแก่ศรัทธาความนับถือของเขา ที่จริงถ้าหลวงพ่อจะรับสมอ้าง นิ่งอึ้งเสียก็ได้ ทำกิริยาอาการอย่างไรก็ได้ ให้หญิงทั้งสองตีใบ้ หรืออ่านลายแทงเอาเองก็ได้ เหมือนที่พระอาจารย์บางท่านทำกันอยู่ แต่หลวงพ่อไม่ได้ทำเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังบอกตรง ๆ ว่า "ไม่รู้จักกับขุนบาล"

"ถ้าฉันรู้ว่าหวยออกอะไร ฉันก็บอกให้เด็กไปแทงเอาเงินมาสร้างวัดไม่ดีกว่าหรือ"

คำพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดของคนที่มีจิตใจซื่อตรง รักษาสัตย์ รักษาธรรม ไม่มีการพูดอ้อมค้อมวกวนอะไรเลย หลวงพ่อไม่มีกลอุบายลวงใจคนให้เลื่อมใส

มิหนำซ้ำยังสอนเสียด้วยว่า "การคิดเล่นหวยแทงหวยนี่ มันเรื่องของคนตาบอด เรื่องของคนโง่"

บอกเสียด้วยว่า

"เงินไม่ใช่ของเล่น"

"ถึงจะถูกหวยรวยเงิน เงินมันก็ไม่อยู่กับเรานานหรอก สู้ทำบุญทำกุศล (คือทำดี) ดีกว่า"

นี่คือความสัตย์ความจริงของหลวงพ่อเงินไม่มีลับลมคมใน ไม่มีไว้ชั้นเชิง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีกลมารยา ไม่หลอกลวงคนโง่เขลา เมื่อเห็นว่าเขาโง่ ก็พูดก็บอกให้รู้ อย่างตรงไปตรงมา ไม่กลัวโกรธ ไม่กลัวว่าจะไม่มีคนนับถือ เพราะไม่แสวงหาชื่อ ไม่แสวงหาลาภ ไม่แสวงหาศิษย์ แต่ก็แปลกที่มีคนนับถือมากขึ้นตามวัน เดือน ปีที่ผ่านไป นี่ละกระมังที่สุภาษิตฝรั่ง เขาก็บอกว่า

"ความซื่อสัตย์เป็นอุบายที่ดีที่สุด"

มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง สมควรจะนำมาเล่าไว้ประกอบเรื่อง ในการศึกษาพิจารณาวินิจฉัยประวัติของหลวงพ่อเงิน ว่าหลวงพ่อเงินมีดีอะไรนักหนา

ครั้งหนึ่ง นายฮะ คนจีนในตำบลบ้านดอนยายหอม ซึ่งมีนิสัยเหมือนคนจีนทั้งหลาย ทั้งปวง คือแสวงหาทรัพย์ ไม่ว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นจะได้มาแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่คำนึงถึง คือเขาได้ยื่นคำร้องขอตั้งโรงยาฝิ่นขึ้นในตำบลดอนยายหอม ตามระเบียบของทางราชการไทยในสมัยนั้น ที่อนุญาตให้มีคนประมูลตั้งโรงยาฝิ่นจำหน่ายฝิ่นได้ เพื่อเอาเงินภาษีเข้าท้องพระคลังมหาสมบัติ แม้จะทำให้ราษฎรไทยต้องฉิบหายขายตัวล่มจมก็เป็นเรื่องของสัตว์ผู้โง่เขลาต่างหาก

เมื่อมีคนมาพูดเล่าให้หลวงพ่อเงินทราบ แทนที่จะคิดว่า เรื่องของโยมไม่ใช่กิจของสงฆ์ แทนที่จะวางอุเบกขาญาณอยู่แต่ในวัด หลวงพ่อเงินซึ่งเป็นลูกชายชาวบ้านธรรมดาการศึกษาก็ไม่สูงส่งอะไร กลับคิดไม่เหมือนคนอื่นหรือคิดไม่เหมือนรัฐบาลสมัยนั้น

หลวงพ่อเงินเริ่มพูดปรารภกับคนที่ไปมาหาสู่ท่านว่า

"ฉันใจไม่ดีเสียแล้ว"

"หลวงพ่อใจไม่ดีเรื่องอะไรล่ะครับ ?"

"ฉันได้ข่าวว่าไฟบรรลัยกัลป์ กำลังก่อขึ้นกลางหมู่บ้านของเรา ฉันกลัวว่ามันจะเผาผลาญทรัพย์สิน บ้านเรือน ไร่นา วัวควาย ของพี่น้องชาวบ้านนี้วอดวายไปหมด ไฟพรรค์นี้มันร้ายแรงนัก มันเผาทั้งเงินทอง บ้านช่อง แม้กระทั่งวัวควายไร่นาทีเดียว ต่อไปพวกเราก็จะพากันลำบากยากจนไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำมาหากิน ลูกเล็กเด็กแดงก็จะพลอยรับบาปไปด้วย มันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน"

หลวงพ่อพรรณนา ให้เห็นภาพพจน์

ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังปริศนาของหลวงพ่อไม่ออก ก็ถามว่า

"หลวงพ่อรู้มาจากไหน ?"

หลวงพ่อย้อนถามว่า

"โยมอยู่บ้านยังไม่รู้อีกหรือนี่ ฉันอยู่วัดนี่ยังรู้เลย ไฟบรรลัยกัลป์ก็คือโรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะมันยังไงล่ะ !"   หลวงพ่อบอก

"เอาเถอะถ้ามันหลอกให้ชาวบ้านนี้สูบฝิ่นได้ ขืนไปมาหาสู่มัน มันก็จะนั่งหัวเราะ ว่ามันฉลาดกว่าคนบ้านนี้เมืองนี้ หนักเข้าคนทั้งตำบลก็ต้องตกเป็นขี้ข้ามัน เพราะฝิ่นมันกินจนหมดเนื้อหมดตัว"

ใครไปใครมาหลวงพ่อก็พูดอย่างนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พูดซ้ำถ้อยคำ ซ้ำประโยคกัน ก็พูดทำนองเดียวกันนี้ หลวงพ่อเปรียบโรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะ ว่า

-ไฟบรรลัยกัลป์  ไหม้วอดวาย

-ไฟนรก  ไหม้ทุกข์ทรมาน

-ไฟสุมขอน     ไหม้ไม่รู้จักดับ

-ไฟเย็น  ไหม้อย่างไม่รู้ตัว

จนเป็นที่รู้ทั่วกันไปทั่วทั้งตำบลว่า โรงยาฝิ่น เป็นสถานที่เลวร้าย เป็นสถานที่บาปกรรม ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอันขาด ใครเข้าไปก็เป็นคนโง่ ใครเข้าไปก็ไม่ใช่คนไทย ใครเข้าไปก็ไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน มีความหมายว่าอย่างนั้น ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เคยพูดอย่างนั้นเลยสักคำ คนก็เข้าใจกันอย่างนั้น ด้วยคำของคนชาวดอนยายหอมพูดจาเล่าขานกันต่อ ๆ ไป

เมื่อโรงยาฝิ่นของเจ็กฮะมาตั้งขึ้นแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่มีใครในตำบลดอนยายหอมย่างกรายเข้าไปในโรงยาฝิ่นเลย หนักเข้าเมื่อจำหน่ายยาฝิ่นไม่ได้ โรงยาฝิ่นของเจ๊กฮะก็ต้องเลิกไปเอง

นี่คือบุญฤทธิ์ของหลวงพ่อเงิน นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงิน นี่คือประกาสิตของหลวงพ่อเงินแห่งวัดดอนยายหอม

เรื่องลักเล็กขโมยน้อยในตำบลดอนยายหอมจึงไม่มี กิตติศัพท์หลวงพ่อเงิน จึงมีคนพูดโด่งดังไปถึงหูนายอำเภอ และหูเจ้าเมืองนครปฐม 

........................................................................................

หลวงพ่อช่วยปราบโจร

 

เมื่อปี พ.ศ.2479 ชาวตำบลดอนยายหอม ยังจำกันได้ดีว่าเมื่อยามทุกข์เดือดร้อนไร้ที่พึ่งนั้น หลวงพ่อเงินนี้แหละ คือที่พึ่ง หลวงพ่อเงินเป็นมิ่งขวัญให้หายหวาดหวั่น พรั่นพรึง ภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของพวกเขา

ฤดูหน้าเกี่ยวข้าวปีนั้น ขณะที่ชาวนาตำบลดอนยายหอมกำลังลงแขกเกี่ยวข้าวอยู่ในนาก็ถูกโจรหมู่หนึ่งคุมพวกเข้าปล้นกลางทุ่งนา จับเอาชาวนาไป 7-8 คน คุมตัวเข้าป่า หายไป คือ นางปาน นางแปลก น.ศ.ลำเจียก น.ส.ผ่อง น.ส.ละออง น.ส.เพียร น.ส.ทองดี พวกปล้นอ้างตัวว่า เป็นเสือจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง คือ เสือพาน เสือฟุ้ง เสือเจียน เสือหยด เมื่อปล้นจับตัวชาวนา 7 คนได้ ก็พาไปทางหลัก 6 อำเภอดำเนินสะดวก ปล่อยตัวนางแปลกกลับบ้านคนเดียว สั่งให้หาเงินไปไถ่ตัวในวันรุ่งขึ้น ถ้าผิดนัดจะฆ่าให้ตายทั้งหมด ค่าไถ่ตัวคนละ 50 บาท สมัยนั้นข้าวเปลือกราคาถังละ 3 บาท เกวียนหนึ่งก็ไม่เกิน 30 บาท เงิน 50 บาท ก็นับว่ามีค่ามากโขอยู่ คือต้องขายข้าวเปลือกประมาณ 2 เกวียน ครั้งนั้นชาวบ้านที่ถูกโจรจับเอาลูกเมียไปเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ ต้องหาเงินไปไถ่ตัวคืนมาได้ทุกคน โดยมอบให้นางแปลกนำเงินไปไถ่อีก

ทราบข่าวถึงหลวงธานินทร์ปฐมรัฐ (เพิ่ม สงขกุล) นายอำเภอ เมืองนครปฐม ร.ต.อ.แปลก ผจญทรพรรค ร.ต.อ.หลวงฤทธิสรไกร ร.ต.ท.พลอย ประทุม และ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ธรรมการอำเภอเมืองนครปฐม ผู้รักการผจญภัยชอบปราบโจรสมัยนั้น จึงได้วางแผนยกกำลังออกต่อสู้โจรคณะนี้ ไปดักคอยโจรอยู่ เมื่อโจรยกพวกมาปล้น จึงได้เกิดการต่อสู้กัน ยิงกันสนั่นทุ่งดอนยายหอม ร.ต.อ.หมื่นผจญทรพรรค ถูกโจรยิงบาดเจ็บ ต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยด่วย ขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร ได้ประกาศแก่ชาวตำบลดอนยายหอมว่า ใครมีปืนผาหน้าไม้ ก็ให้เอามาช่วยกันต่อสู้โจร ชาวตำบลดอนยายหอมที่เป็นชายฉกรรจ์หลาบสิบคน ก็คว้าปืนผาหน้าไม้ หอกดาบเท่าที่มีอยู่ พากันออกสู้รบกับโจรทั้งหมู่บ้าน

แต่ก่อนที่ชาวบ้านจะออกไปรบกับโจรคราวนี้ ได้พากันเดินเรียงแถวไปให้หลวงพ่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้เสียก่อน จึงได้มีกำลังใจกล้าหาญมีขวัญดี ออกยิงสู้รบกับพวกโจรได้ จนพวกโจรคณะนั้นแตกหนีไป และไม่กล้ามารบกวนอีก เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เหมือนกับ พระอาจารย์ธรรมโชติ อยู่เบื้องหลังชาวบ้านบางระจันครั้งกระโน้น ใครจะพูดว่า พระอาจารย์ชื่อดังทางพระเครื่องรางของขลังไม่ดีอย่างไร ก็ลองไปเป็นชาวบ้านบางระจัน หรืออย่างน้อยก็ชาวบ้านดอนยายหอมก็แล้วกัน ว่าในยามทุกข์เดือดร้อน ไร้ที่พึ่ง มีภัยอันตรายถึงชีวิตลูกเมียนั้น ใครจะเป็นที่พึ่งได้ ไม่อุ่นอกอุ่นใจเหมือนได้เห็นหน้าหลวงพ่อที่เคารพนับถือ อย่างหลวงพ่อเงินนี้หรอก คนที่ปากดี อวดเก่ง อวดกล้า ไม่กลัวตายนั้น ก็ร่ายรำอยู่นอกม่านยามที่ยังไม่เห็นเงาของพญามัจจุราชทั้งนั้นแหละ แต่คนที่ไม่กลัวพญามัจจุราช ไม่กลัวความตายก็มีแต่ พระอาจารย์อย่างหลวงพ่อเงินนี้แหละ เป็นที่อุ่นใจเป็นที่พึ่งได้จริง ชาวดอนยายหอมรู้กันอย่างนี้ เมื่อแลเห็นหน้าหลวงพ่อเงิน ซึ่งเขาก็อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร

ครั้งนั้นชาวบ้านช่วยกันกับเจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองยิงโจรตายไปคนหนึ่ง แต่ชาวบ้านปลอดภัยทุกคน 

........................................................................................

หลวงพ่อเงิน สร้างโบสถ์คอนกรีตราคาล้าน

 

มีบางคนพูดเล่น ๆ ถึงสมภารเจ้าวัดว่า สมภารเจ้าวัดมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง "สมภารอาศัยวัด" ประเภทหนึ่ง "วัดอาศัยสมภาร" ความหมายก็คงจะเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่ชาวบ้าน บางคนก็มีวาจาคารม ไปอีกอย่างหนึ่งว่า สมภารมี 5 ประเภท คือ หนึ่งสมภารเสริม สองสมภารสร้าง สามสมภารเสก สี่สมภารสวด ห้าสมภารไสย

อธิบายความว่า สมภารประเภทหนึ่งนั้นซ่อมแซมบูรณะปฏสังขรณ์ บางองค์ชอบสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นทั้งหมด โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุเผาผี โรงเรียนปริยัติธรรม หอไตรหอระฆัง รวมทั้งคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ตัวอย่างก็เห็นมีอยู่ที่วัดไผ่โรงวัว ของหลวงพ่อขอม แห่งอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ใครไปชมวัดนี้ก็ต้องยกมือขึ้นวันทาสาธุว่า หลวงพ่อขอมนี้คือสมภารสร้างโดยแท้จริง สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้นเก่งทางสมถะภาวนา นิยมไปทางปลุกเสกเครื่องรางของขลัง โด่งดังมีชื่อเสียงไปอีกทางหนึ่ง สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้น เก่งทางเทศน์มหาชาติ มหาพรหม ว่าแหล่เทศน์ได้เสนาะโสตดีนัก สมภารประเภทนี้สมัยก่อนมีมากเหมือนกัน แต่สมัยหลังนี้หาได้น้อยเต็มที น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน อันที่จริงเป็นวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาเราอย่างหนึ่ง ควรจะรักษาไว้ ไม่น่าเกลียดน่าชังอะไร เพราะเป็นประเพณีของไทยเราแต่โบราณกาลมา เล่านิทานธรรมดา ฟังมันจืดหูนัก ก็ต้องแต่งเป็นกลอน ขับร้องเป็นเพลงเสภาจึงจะสนุกหู ถึงใจคน การเทศน์ธรรมดาก็เหมือนกันมันจืดชืดนัก จึงต้องว่าเป็นทำนองเสนาะ เปลี่ยนทำนองเปลี่ยนลีลาไปตามท้องเรื่อง เช่นการเทศน์แหล่มหาชาติ เป็นต้น สมภารอีกประเภทหนึ่งนั้นคือสมภารไสย อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่า หมายถึงเก่งทางไสยศาสตร์ หรือเก่งทางไสยาสน์ แน่ ก็เอาเป็นว่ามีสมภารอยู่ 5 ประเภทดังว่ามานี้

อันที่จริงการเป็นสมภารเจ้าวัดนี้ ก็เปรียบเหมือนพ่อบ้านแม่เรือนต้องแบกภาระไว้จึงเรียกว่า "สมภาร" แปลความว่ามีภาระอยู่เสมอ ไม่หยุดหย่อน ไม่เว้นว่าง ต้องปกครองลูกวัดต้องบำรุงรักษาวัด ต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน นิมนต์ไปทำกิจทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงานจนกระทั่งสวดศพ เรียกว่าต้องเกี่ยวข้องกับชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว

โดยเฉพาะงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรือการก่อสร้างนั้น ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้พ้นไปได้เลยจริงๆ ถ้าทอดทิ้งวัดวาอารามทรุดโทรมไป เขาก็พูดว่า ยุคสมัยนี้วัดทรุดโทรมไปเพราะสมภารเจ้าวัดไม่เก่ง หรือไม่เอาธุระในการบริหารวัด แต่ถ้าหากว่าสมภารเจ้าวัด องค์ใดมุ่งทางการก่อสร้างมากไป โดยทำการเรี่ยไรชาวบ้านให้เดือดร้อน คนก็จะนินทาว่าร้ายเอาอีกเหมือนกัน สมภารเจ้าวัดที่ดีมีคนนิยมนับถือ จึงต้องเดินสายกลาง คือ การก่อสร้างโดยไม่เรี่ยไรให้ชาวบ้านเดือดร้อน สมภารองค์ใดจะเดินสายกลางนี้ได้เพียงใดนั้น เราก็ทราบๆ กันอยู่ทั่วไป

แต่หลวงพ่อเงินนั้น ท่านเดินสายกลางได้อย่างดี คือ ท่านทำการก่อสร้างได้เรื่อยมาแต่ก็ไม่ปรากฏว่าท่านทำการเรี่ยไรบอกบุญใครเลยไม่เคยออกฎีกาบอกบุญชาวบ้าน ไม่เคยแม้แต่จะออกปากขอให้ใครบริจาคเงินสร้างอะไรเลย แต่ก็น่าแปลกที่มีคนออกเงินให้ท่านทำการก่อสร้างได้มาตลอด ไม่เคยขาดสายเลย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านไม่เคยแตะต้องเงิน ไม่เคยเก็บเงินเองเลย ท่านรู้แต่จำนวนเงินที่มีอยู่ รู้แต่จำนวนค่าใช้จ่าย การเก็บเงิน การจ่ายเงิน การจัดซื้อการจัดจ้าง เป็นหน้าที่ของผู้อื่นทั้งสิ้น หลวงพ่อเงินจึงไม่มี ราคี มัวหมองด้วยเงินเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านชื่อเงิน นี่คือเรื่องแปลกประหลาดมาก

เมื่อ พ.ศ.2480 หลวงพ่อเงินได้เริ่มงานก่อสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีต ราคาค่าก่อสร้างเป็นเงินถึง 1 ล้านบาทเศษ สมัยเงินแพง ถ้าคิดถึงค่าเงินในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2529) ก็คงตกราว 100 ล้านบาท ในการก่อสร้างนี้ ชาวบ้านที่มีเงินก็บริจาคเงินตามกำลังฐานะ และกำลังศรัทธาของตน แต่ดูเหมือนว่าจะออกเงินบริจาคกันทุกคนทุกบ้านเรือน ด้วยความเต็มใจศรัทธา อยากจะทำบุญกับหลวงพ่อ อยากจะหว่านพืชลงในนาดีอย่างหลวงพ่อ ถึงแก่คิดกับพูดกันว่า "ใครไม่ได้ทำบุญ กับหลวงพ่อในการสร้างโบสถ์ครั้งนี้แล้ว ก็จะเสียใจไปจนตายที่ได้ร่วมบุญร่วมกุศล เป็นญาติ กับหลวงพ่อ" เงินทองจึงได้มาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ออกเงินแล้วก็ไม่พอยังออกแรงไปช่วยกัน ขุดอิฐจากเจดีย์เก่าที่เนินพระ ซึ่งอยู่ห่างวัดไปประมาณ 10 เส้นเศษ ได้ขุดจากบริเวณที่ห่างจากตัวเจดีย์ เพื่อจะเอาอิฐมาถมพื้นฐานสร้างโบสถ์ ในการขุดครั้งนี้ได้พบพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ปางปฐมเทศนาสูงประมาณศอกเศษ รูปทรงสวยงามหาที่ตำหนิมิได้ พบรูปกวางหมอบเหลียวหลัง สร้างด้วยหินสีเขียว พบสิ่งแกะสลักเป็นรูปกนกลายไทย พบรูปเสมาธรรมจักร พบพระพิมพ์ขนาดใหญ่แปดเหลี่ยม เนื้อหินสีเขียวตัวเสมาสลักลวดลายสวยงาม ชาวบ้านมีความหวาดเกรงในการขุดซากวัดเก่าแก่เช่นนั้น หลวงพ่อจึงถือโอกาสอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า

"รูปกวางหมอบและเสมาธรรมจักรนี้ เกิดขึ้นภายหลังที่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ชาวอินเดียแคว้นคันธารราษฎร์ ได้สร้างขึ้นเป็นที่เคารพแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้ได้เทศนาสั่งสอนปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ มหานามะ ภัททิยะ อัสสชิ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ที่ตำบลมฤคทายวัน เมืองพาราณสี บัดนี้เรียกว่าตำบลสารนาท การเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นเรียกว่า แสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร แปลว่า พระธรรมได้หมุนไปในโลกเหมือนล้อเกวียน หรือล้อรถพระธรรมจักรหมายถึงการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกนั้นคือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่าวัน พระธรรม"

นี่คือตัวอย่างการเทศนาอย่างง่าย ๆ ปราศจากพิธีรีตอง ถูกต้องกับกาลเทศะ ของหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า "เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาสู่เมืองไทย ก็ได้มาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครปฐม ตั้งแต่พระปฐมเจดีย์ลงมายังตำบลดอนยายหอม ด้วยตั้งแต่ครั้งกระโน้นเป็นเมืองชายทะเลเมืองนครปฐมเป็นเมืองอิสระเมืองหนึ่ง มีเจ้าปกครอง จึงมีการสร้างพระเจดีย์ สร้างพระธรรมจักรสร้างพระพุทธรูปขึ้น

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ครั้งพญากง ครองเมืองนครปฐม มีบุตรชื่อพญาพาน เมื่อเกิดมาโหรทำนายว่าจะฆ่าพ่อ พญากงจึงลอยแพไปตามลำแม่น้ำ ไปติดอยู่ที่หน้าบ้านของยายหอม ที่ตำบลนี้ยายหอมจึงเลี้ยงไว้ เติบโตขึ้นได้เรียนวิชามีความรู้ ได้เป็นทหารเมืองราชบุรี ได้ยกทัพมาตีเมืองนครปฐม ฆ่าพญากงตาย แล้วเข้าหามารดาคือมเหสีพญากง จะเอาทำภรรยา มารดาจำตำหนิได้จึงร้องบอก พญาพานไม่เชื่อ ไปสอบถามยายหอม ยายหอมก็บอกความจริงให้ฟัง พญาพานโกรธที่ยายหอมปิดบังไว้ จนต้องทำบาปฆ่าบิดาตาย โมโหหน้ามืดขึ้นมาจึงฆ่ายายหอมตายไปอีกคนหนึ่ง ภายหลังพญาพานได้พบพระอรหันต์ที่เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้สารภาพบาปที่ฆ่าบิดา และฆ่าแม่เลี้ยงตาย พระอรหันต์แนะนำให้สร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน เพื่อล้างบาปกรรม เมื่อเจดีย์ราบลงเป็นหน้ากลองเมื่อใด พญาพานก็จะสิ้นเวรกรรม พญาพานจึงให้สร้างเจดีย์ไว้ 2 แห่ง แห่งหนึ่งที่เมืองนครปฐม เพื่อเป็นที่ระลึกและทดแทนคุณบิดา องค์หนึ่งสร้างที่ดอนยายหอม เพื่อระลึกถึงและทดแทนคุณยายหอม แล้วสร้างถนนจากนครปฐมไปสู่ตำบลดอนยายหอมด้วยเจดีย์ทั้ง 2 องค์ และยังมีอยู่จนทุกวันนี้ บ้านดอนยายหอมนี้เคยเป็นบ้าน เป็นเมือง มีวัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองมาก่อน"

คำเทศนาของหลวงพ่อเงินนี้ ทำให้ชาวบ้านชาวตำบลดอนยายหอมปลื้มเปรม อิ่มอกอิ่มใจเพราะตรงกับตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันสืบ ๆ มา แล้วหลวงพ่อเงินก็มาเล่าซ้ำให้แลเห็นจริงจัง มีพยานหลักฐานยืนยัน คือเป็นพระเจดีย์ พระพุทธรูป เสมาธรรมจักร และกวางหมอบเป็นสักขีพยานอยู่ ไม่ใช่นิทานที่เล่าลือกันอย่างเลื่อนลอย หลวงพ่อได้ให้ชาวบ้านขนเอาพระพุทธรูปเสมาธรรมจักร และกวางหมอบ มาไว้ที่วัดดอนยายหอม อิฐก็ขนเอามาสร้างอุโบสถคราวนั้นด้วย

หลวงพ่อทำการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 สร้างเรื่อย ๆ มาตามกำลังเงิน กำลังแรง และกำลังศรัทธาของชาวบ้าน จนถึงปี พ.ศ.2492 ถึงสำเร็จเรียบร้อยใช้เวลาสร้างถึง 12 ปีเต็ม จึงได้กำหนดให้มีงานผูกพัทธสีมา ปิดทองลูกนิมิตขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2492 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในงานนี้ผู้เขียนได้มีบุญไปปิดทองลูกนิมิตในงานนี้ด้วย ผู้คนหลามไหลเนืองแน่นเหมือนน้ำไหลบ่าในฤดูน้ำหลาก บุคคลสำคัญที่เป็นประธานจัดงานครั้งนี้คือ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ท่านรัฐมนตรีผู้นี้นอกจากเป็นประธานในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้แล้ว ยังได้สร้างพระประธาน ในอุโบสถวัดทัพหลวง ตำบลปีนเกลียวอีกวัดหนึ่ง เพราะท่านชอบคำว่า "ทัพหลวง"

ในงานฝังลูกนิมิตวัดดอนยายหอมนี้ หลวงพ่อเงินได้สร้างพระพุทธรูปองค์น้อย ขนาด 1 ซม. ขึ้นแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ไปทำบุญด้วย หล่อด้วยทองเหลืองรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอยู่ในเรือนแก้ว หมายถึงพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้ว นับเป็นพระพุทธรูป หรือพระเครื่องรุ่นที่ 4 ที่หลวงพ่อสร้างขึ้น สร้างจากเศษทองเหลืองที่ชาวบ้านนำเอาขันทองเหลือง พานทองเหลือง เอามาถวายหลวงพ่อให้สร้างพระประธานในอุโบสถ เหลือเศษก็เอามาหล่อเป็นพระเครื่องรุ่นนี้ พระเครื่องรุ่นนี้จึงมีผู้นิยมกันมาก เพราะสร้างด้วยวัตถุทานอันบริสุทธิ์ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ และพิธีกรรมอันบริสุทธิ์ ผู้สร้างก็มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ร่วมสร้างก็มีศีลอันบริสุทธิ์ หลวงพ่อได้ควบคุมการหล่อเอง และทำพิธีพุทธาภิเสกในอุโบสถวัดดอนยายหอมนั้นด้วย

พระเครื่องรุ่นนี้มีจำนวนน้อย ผู้เขียนก็ได้รับแจกมาองค์หนึ่ ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลา 36 ปีแล้ว

พระเครื่องรุ่นนี้เป็นที่นิยมแสวงหากันมากจนกระทั่งบัดนี้มีผู้ทำปลอมขึ้นจำหน่ายในตลาดพระเครื่อง แต่ผู้ชำนาญย่อมดูออกว่า พระแท้ หรือพระปลอมที่มีคนทำพระเครื่องรุ่นนี้ปลอม ก็เหมือนพิมพ์แบงค์ปลอมนั่นแหละ คือเขาเห็นว่ามีค่า มีคนต้องการมาก เขาจึงทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่ายเอาเงิน เป็นพุทธพานิชชนิดปลอมแปลงสินค้า ถ้าหากไม่มีค่า ไม่มีคนต้องการ เขาก็คงไม่ทำปลอมขึ้นจำหน่าย

เรื่องของหลวงพ่อเงินจะมีเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องหรืออภินิหารหรือประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องอะไรทำนองนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าท่านใดไม่สนใจก็ไม่จำเป็นต้องรับมาพิจารณาก็ได้นะครับ หรือถ้าผู้ดูแลเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เหมาะสมก็แจ้งเตือนมาได้ แล้วผมจะข้ามไปโดยยกมาแต่เนื้อหาที่ดีๆครับ

อ่านเรื่องราวของท่านแล้วจะทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพระได้ดีและละเอียดมากขึ้น ดังนั้นเวลาเจอพระท่านทำอะไรซึ่งบางท่านอาจจะไม่ชอบใจก็อย่าพึ่งด่วนตัดสินว่าไม่ดีไปซะก่อนนะครับบางทีท่านอาจจะมีเหตุผลก็ได้ครับ

ปล.คือบางเรื่องถ้าเรามองผิวเผินจะนึกว่าพระบางท่านทำผิดพระธรรมวินัย แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดเจาะลึกลงไปบางอย่างก็มีข้อยกเว้นและต้องดูที่เจตนา ซึ่งเมื่อพิจารณาตรงนั้นแล้วก็จะเห็นว่าจริงๆแล้วท่านก็ไม่ได้ทำผิดพระธรรมวินัยแต่อย่างใดท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัยอยู่ครับ

(แต่ถ้าเป็นโดยส่วนตัวแล้ว ผมจะค่อนข้างศรัทธาพระในสายของหลวงปู่มั่นมาก เพราะลูกศิษย์ของท่านส่วนใหญ่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ แต่เรื่องราวของท่านใดที่มีเนื้อหาหรือแง่มุมที่น่าสนใจผมก็จะพยายามนำมาลงเสนอเพื่อให้ทุกท่านได้ทราบเรื่องราวที่ดีมีประโยชน์ ดังเช่นที่ผมได้พบเห็นมาเช่นกันครับ)

........................................................................................

พรหมวิหารธรรม

 

พรหมวิหารธรรม แปลว่าสถานที่อาศัยสิ่งสถิตของพระพรหม มีลักษณะ 4 ประการ คือ

1.เมตตา  รักใคร่อยากให้เขาเป็นสุข

2.กรุณา   สงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์

3.มุทิตา   ยินดีด้วย เมื่อเขาได้ดีมีสุข

4.อุเบกขา  วางใจเป็นกลางได้ ในคนจนคนมี คนดีคนชั่ว มิตรและศัตรู เหมือนพระพุทธเจ้าวางใจเป็นกลางได้ในระหว่างพระราหุล โอรส กับพระเทวทัต ผู้คิดประทุษร้าย และช้างนาฬาคีรีที่วิ่งมาจะแทงพระองค์

ผู้ใดมีคุณลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ อยู่ในจิตใจ หัวใจของท่านผู้นั้นก็จะเป็นวิหารธรรมที่มาสถิตอยู่อาศัยของพระพรหม (คำย่อว่า เม, กะ, มุ, อุ) และมีคาถาว่า นะ เมตตา, โม กรุณา, พุท มุทิตา, ธา อุเบกขา, ยะไมตรี ฯ เป็นคาถาเมตตามหานิยม น้ำใจของหลวงพ่อเงินนั้น ผู้ใกล้ชิดก็จะแลเห็นได้ว่า เป็นที่สถิตของพระพรหม ได้จริงๆ เพราะหลวงพ่อมีน้ำใจเป็นพรหมวิหารจริง ๆ วงศ์ญาติของหลวงพ่อ กับลูกศิษย์และคนอื่นไกลที่ไปหา หลวงพ่อมีน้ำใจต่อคนเหล่านั้นเสมอเหมือนกัน น้ำใจอันกว้างขวางดุจน้ำใจของพระพรหม แผ่ไปในคนทั้งหลายทั่วหน้า แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน หลวงพ่อเป็นพระที่มีเมตตาบารมีสูงมาก

"ฉันสอนคนไหน ก็สอนด้วยความเมตตา ฉันแผ่เมตตาแก่ทุกคน เจตนาดีต่อเขาอย่างแรงกล้า จนเป็นเมตตานุภาพ น้อมจิตของเขาให้มีแต่ความภักดี เกิดความเชื่อถือ จิตของเขาก็อ่อนโยนลง เราจะบังคับจิตของเขาให้ไปทางไหนก็ได้ เรื่องอำนาจจิตนี้ ฉันฝึกฝนมาแรมปี พอจะน้อมใจคนให้อ่อนลงได้"

"คนใดฉันสอนไม่ได้ แสดงว่าคนนั้นมีกรรมหนัก ไม่สามารถช่วยได้ จัดอยู่ในจำพวกที่เรียกว่า "เรียกไม่ลุกปลุกไม่ตื่น" ต้องปล่อยไปตามกรรม" เรื่องแผ่เมตตานี้ หลวงพ่อพูดอยู่เสมอแม้แต่คนขนาดอ้ายเสือ หรือโจรหลวงพ่อก็บอกว่า "ก่อนนอนให้แผ่เมตตาไว้ โจรผู้ร้ายมันก็สงสารเรา มันปล้นฆ่าเราไม่ลงหรอก"

"โจรจะปล้นจะฆ่าเรา เราก็ว่าน่าสงสารจริงเจ้าโจรเอ๋ย ช่างโง่งมงาย ไม่รู้จักบาปกรรม"

"ถ้าพบนักเลงอันธพาล เพ่งมองเราอย่างไม่พอใจ แทนที่จะมองตอบด้วยสายตากล้าแข็ง คิดโกรธ คิดร้ายตอบ เราก็นึกสงสารเขา คิดว่าเขาเป็นมิตรเรา เขาคงจะเข้าใจผิดต่อเราจิตใจอันกล้าแข็งของเขาก็จะอ่อนลง คลายความดุดันโหดเหี้ยมลงได้"

เรื่องนี้ผู้เขียนเชื่อว่าจริง และการที่เราไม่คิดต่อสู้ หรือคิดประทุษร้ายตอบเขานั้น เขาย่อมพ่ายแพ้ภัยตัวเอง เขาย่อมได้รับโทษรับภัยเอง

ผู้เขียนจำได้ว่า วันหนึ่งถูกนักเลงอันธพาลวัยรุ่นคนหนึ่งเขม่น เข้ามายืนเทียบอยู่สักพักใหญ่ แล้วพูดว่า "อ้ายหยั่งงี้ มันต้องเอาให้หัวแตก" แต่ข้าพเจ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่หันไปมองเลย เขาก็ไม่รู้จะหาเรื่องอย่างไร จึงเดินจากไป ต่อมาไม่กี่วัน เขาคนนั้นก็ถูกตำรวจจับในข้อหาก่อคดีวิวาทและดูเหมือนไปตายเสียในคุก

ประจักษ์พยานในเรื่องเมตตาพรหมวิหารของหลวงพ่อเงิน มีอยู่หลายเรื่อง จะขอนำมาเล่าสัก 2-3 เรื่อง ดังต่อไปนี้
1.ไอ้สังข์

 

มีลิงตัวหนึ่ง สีขนของมันค่อนข้างขาวเหมือนสีหอยสังข์ จึงทำให้หลวงพ่อเรียกมันว่า ไอ้สังข์ มันจะเป็นลิงของใครเอามาปล่อยหรือมาเองอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่ามันมาแต่ไหน จะเป็นลิงเทวดาส่งมาส่งเสริมบารมีของหลวงพ่อเงินหรือว่ามันรู้โดยสัญชาตญาณของสัตว์ว่าหลวงพ่อเป็นที่พึ่งได้ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ อยู่ ๆ มันก็เข้ามาอยู่ในวัดดอนยายหอม ทำให้ใคร ๆ นึกไปถึงลิงในครั้งพุทธกาลที่มาอยู่รับใช้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเรียกมันว่า "ไอ้สังข์" เพราะสีขนของมันอ่อนคล้ายสีหอยสังข์ อ้ายสังข์มีนิสัยดี ไม่เป็นลิงหยาบโลนเหมือนลิงอื่น ใครจะไปมามันก็ไม่แยกเขี้ยวหลอกหรือทำร้ายใคร กินอยู่ก็ไม่ตะกละตะกราม ไม่สกปรก ที่พิเศษคือ มันรักหลวงพ่อมาก ตื่นเช้ามันจะคอยจ้องดูว่าหลวงพ่อตื่นหรือยัง ถ้าเห็นหลวงพ่อตื่นขึ้นมันก็จะดีใจ ตรงเข้าเกาะแข้งเกาะขา ส่งเสียงร้องเจี๊ยกจ๊าก เมื่อลูกศิษย์จัดสำรับภัตตาหารมาถวายหลวงพ่อ มันก็จะนั่งดูอยู่ห่าง ๆ คอยระวังแมวจะเข้ามากินอาหารสำรับกับข้าวของหลวงพ่อ แมวตัวไหนเดินเข้ามาใกล้ ๆ มันจะจับเหวี่ยงออกไปทันที ตัวมันจะนั่งไม่แตะต้องอาหารของหลวงพ่อเลย ใครจะตีมันก็จะวิ่งเข้าไปหมอบอยู่ที่เท้าของหลวงพ่อ

เรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งก็คือ ในวันพระ 8 ค่ำ เห็นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ มันจะเข้าไปนั่งอยู่ใกล้ๆ นั่งสองขา ชูแขนขึ้น มือประสานวางอยู่ที่ตัก มองดูไม่ผิดกับคนแก่นั่งฟังเทศน์ มิหนำซ้ำยังหลับตาเสียด้วย

เวลาหลวงพ่อเดินทางไปไหน มันจะติดตามไปส่ง จนหลวงพ่อพ้นเขตวัด หลวงพ่อต้องไล่มันกลับ มันจึงจะกลับ

พอแดดร่มลมตก ตอนบ่าย ๆ มันจะขึ้นไปบนยอดต้นไม้ที่สูงสุดในวัด มองไปต้นทางเพื่อแลเห็นสีเหลือง ๆ เดินมา มันจำได้ว่าเป็นหลวงพ่อ มันก็จะรีบลงจากยอดไม้ลงไปรอรับหน้าหลวงพ่อทันที บางทีมันเดินเข้ามาในกอหญ้าเห็นหางไว ๆ หลวงพ่อไม่มองสบตามันมันก็จะนิ่งเสีย พอหลวงพ่อร้องเรียกไอ้สังข์ มันก็จะรีบวิ่งแน่วเข้าไปกอดแข้งกอดขาดีอกดีใจไม่ผิดกับลูกที่ได้พบพ่อแม่ มันผูกพันจงรักภักดีหลวงพ่อเสียจริงๆ ในที่สุดมันก็ป่วยเป็นไข้หวัด คนเอายานัตถ์เป่ามันเข้า มันสำลักน้ำตาไหลในที่สุดมันก็ตายไป อ้ายสังข์มันเกิดมาเป็นพยานประดับบารมีของหลวงพ่อในเรื่องเมตตาพรหมวิหารธรรม ว่าแม้แต่ลิง ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานมันก็ยังจงรักภักดีต่อหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อมีเมตตาต่อมัน

2.ไอ้ขาว

 

 

สัตว์เดรัจฉานอีกตัวหนึ่ง ที่เข้ามาเป็นสาวกประดับเมตตาบารมีของหลวงพ่อ ก็คือ "ไอ้ขาว" มันเป็นแพะตัวผู้ สีขาวตัวหนึ่ง

ก่อนที่แพะสีขาวตัวนี้จะมาปรากฏตัวอยู่ให้คนรู้เห็นนั้น คืนหนึ่งเวลาประมาณ 3 ทุ่มเศษ หลวงพ่อได้ยินเสียงแพะร้อง จึงให้พระภิกษุในวัดเอาตะเกียงไปส่องดู จนทั่วก็ไม่พบเห็นแพะที่ไหนสักตัวเดียว   รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงมีพระภิกษุจากต่างถิ่น 2 รูป เดินทางมานมัสการหลวงพ่อ ได้นำเอาแพะสีขาวมาด้วย 1 ตัว มีสีขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว กีบเท้าสีแดงเข้ม รูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทั้งหลายที่เคยเห็น เมื่อมาถึงหลวงพ่อ เจ้าแพะขาวก็เดินเข้าไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อเพ่งมองดูมัน แพะขาวมันก็เพ่งมองดูหลวงพ่อ แล้วมันก็หมอบลงที่เท้าของหลวงพ่อ ใช้จมูกดมเท้าของหลวงพ่อ คล้าย ๆ กับแสดงความจงรักภักดี หรือฝากตัวอยู่กับหลวงพ่อเป็นที่อัศจรรย์ พระภิกษุทั้ง 2 รูป ถวายแพะให้หลวงพ่อไว้ หลวงพ่อก็รับแพะไว้ แพะตัวนี้มันรักใคร่หลวงพ่อมาก หลวงพ่อเดินไปไหน มันก็จะเดินตามไปเรื่อย ๆ แพะตัวนี้กลายเป็นสัตว์ประหลาดขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เป็นแพะแสนรู้ เข้าไปในกุฏิกินผลไม้หมด แม้กล้วยหอม กล้วยไข่ที่คนเอามาถวาย พระลูกศิษย์ต้องคอยไล่ทุบตี มันก็วิ่งหนีไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ร้องห้ามว่า

"ช่างมันเถอะ มันหิวมันก็กินมั่ง"

บางวันเจ้าแพะตัวนี้มันเข้ามาหมอบอยู่หน้ากุฏิตรงหน้าหลวงพ่อ เวลาใครมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อนั่งรับแขก มันก็มาหมอบฟังคนคุยกับหลวงพ่อ บางทีเวลาคนเขาเปิดวิทยุฟัง มันก็เดินแหวกคนเข้าไปนอนหมอบฟังวิทยุบ้าง หลวงพ่อก็เอาผ้ามาปูให้มันรองนอนอยู่ใกล้ ๆ ลำโพง วิทยุเสียด้วย เจ้าแพะตัวนี้ก็เลยติดนิสัยชอบฟังวิทยุ ฟังดนตรีจากวิทยุเหมือนคน หลวงพ่อเรียกชื่อมันว่า "ไอ้ขาว"

แต่ต่อมาในหน้าแล้ง ทางวัดดอนยายหอม ซึ่งแวดล้อมอยู่ด้วยทุ่งนาแตกระแหง ไม่มีหญ้าจะให้อ้ายขาวกิน มันก็ผ่ายผอมลง หลวงพ่อจึงตัดสินใจยกให้พระทางเขตอำเภอกำแพงแสนเอาไปเลี้ยง แพะขาวชื่อ อ้ายขาวตัวนี้ มันจึงเป็นสัตว์ประดับเมตตาบารมีของหลวงพ่อเป็นพยานถึงเมตตาบารมีของหลวงพ่ออีกเรื่องหนึ่ง

3.ไอ้สำลี

 

เมื่ออ้ายสังข์ตายไป อ้ายขาวเข้ามาแทนที่ เมื่ออ้ายขาวจากไปก็มีสัตว์เดรัจฉานอีกตัวหนึ่งเข้ามาอยู่กับหลวงพ่ออีก คราวนี้มันเป็นสัตว์ใหญ่กว่าเดิม ที่จริงสัตว์เดรัจฉาน ที่มาอยู่กับหลวงพ่อนั้น มันใหญ่ขึ้นตามลำดับ คือ ลิง แล้วก็แพะ คราวนี้เป็นวัวตัวผู้สีขาวสะอาดรูปร่างสูงใหญ่ลักษณะงาม ที่น่าแปลกก็คือสัตว์ทั้ง 3 ตัวนี้ สีขาวทั้งหมด

คนที่นำเอาวัวมาถวายหลวงพ่อ ชื่อจ่าเอม ทัศนงาม ตำแหน่งเป็นพัสดี เรือนจำจังหวัดนครปฐม หรือที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อคุกท่านผู้นี้เดิมเป็นจ่าทหารอากาศ เป็นนักบินมาก่อน แล้วมาเป็นพัสดีเรือนจำ นักโทษเรียกคุณพ่อกันทั้งคุก จ่าเอม นำวัวตัวนี้มาถวายหลวงพ่อ จะได้มาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่มักจะเป็นธรรมเนียมของคนไทยสมัยโน้น ถ้าเห็นวัวตัวไหน มีลักษณะงาม เป็นโค อุศุภราช คือ เขางาม สีกายขาวสะอาด อกใหญ่ หนอก (คือคอ) ใหญ่ สะโพกใหญ่ หางยาวเป็นพวง เขาจะไม่เลี้ยงไว้ใช้งาน เขาจะถวายเป็นวัวพระ หลวงพ่อรับวัวตัวนี้ไว้ แล้วตั้งชื่อมันว่า "ไอ้สำลี" มันเป็นวัวฉลาด แสนรู้ หลวงพ่อรักมันมาก มันก็รักหลวงพ่อมากด้วย ขณะที่มันกำลังและเล็มหญ้าอยู่ หากได้ยินเสียงหลวงพ่อเรียกชื่อมัน มันจะเงยหน้าขึ้นแล้วเดินเข้าไปหา เวลาหลวงพ่อดุมันจะหยุดทันที เวลาเด็กรังแกมัน มันจะวิ่งเข้าไปหาหลวงพ่อ เวลาหลวงพ่อไปไหนมา มันจะเข้าไปหา เอาจมูกดมกลิ่น แล้วก็เกลือหน้าไปมาตามจีวรของหลวงพ่อแสดงความดีใจที่หลวงพ่อกลับมา เวลาหลวงพ่อฉันเพล มันจะเข้ามายืนอยู่ใกล้ ๆ หลวงพ่อเอาช้อนซ่อม แทงขนมส่งให้มันมันก็จะกิน บางวันไม่มีขนมหลวงพ่อก็ปั้นข้าวสุกยื่นให้มันกิน มันก็กินก้อนข้าวสุก อ้ายสำลีจึงกลายเป็นวัวประหลาดที่กินอาหารอย่างคน

แต่พอตกหน้าแล้ง หญ้าในบริเวณวัดดอนยายหอมแห้งเหี่ยวตายหมด หลวงพ่อจึงส่งมันไปให้ นายเนียม ด้วงพูล น้องชายของท่านเอาไปเลี้ยง วันหนึ่งนายเนียม จับอ้ายสำลี เทียมไถ อ้ายสำลีเผ่นโผนสุดแรง คันไถหักหมด จะจับก็ไม่ยอมหให้จับ นายเนียมต้องร้องปลอบว่า

"สำลีเอ๋ย มาม๊ะลูกม๊ะ กลับเข้าบ้านพ่อไม่ใช้งานเอ็งอีกแล้ว"

อ้ายสำลีได้ยินเสียงปลอบจึงยอมให้จับผูกเชือก

 

โดยเหตุที่ไอ้สำลี เป็นวัวสูงใหญ่ลักษณะงาม กายสีขาว เขาจึงชอบใช้อ้ายสำลีแห่นาค เขาผูกผ้าสีแดงที่คอ ผูกกระดิ่ง ผูกลูกกระพรวน ดังโกร่งกร่าง เข้าขบวนแห่นาคมีกลองยาว มีแตรบรรเลง ไอ้สำลีชอบมาก ไม่เคยวิ่งหนีเลย เมื่อไปในงานบวชนาค ก็มีพวกนักเลงเอาสุราบ้าง เอากระแช่บ้าง น้ำตาลเมาบ้าง เหล้าบ้างให้อ้ายสำลีกิน มันก็กิน ไอ้สำลีจึงกลายเป็นวัวดื่มน้ำเมาไปด้วย เวลามันเมามันก็ยืนนิ่งซึมอยู่ กว่าจะมาถึงวัด ไอ้สำลีก็หายเมา หลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไอ้สำลีขี้เมา

4.นายชื่น ทักษิณานุกูล

 

รายที่ 4 ที่มาอยู่เป็นเครื่องประดับเมตตาบารมี พรหมวิหารธรรมของหลวงพ่อเงินนั้น ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน แต่เป็นสัตว์โลกผู้เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย อย่างหนึ่ง ซึ่งท่านเรียกว่า "สัตว์ประเสริฐ" คือ สัตว์มนุษย์ ผู้มีใจสูง สัตว์โลกรายนี้เป็นชายไทย มีนามกรว่า นายชื่น ทักษิณานุกูล เป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นกับผู้เขียนเมื่อสมัยเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย นายชื่นคนนี้ รูปร่างแข็งแรงสันทัด ถนัดทางหมัดมวยชกต่อย เรียนหนังสือเก่งพอประมาณ ไม่น่าเชื่อว่าต่อมาเขาจะกลายเป็นนักเขียน เขาเขียนชีวิประวัติหลวงพ่อเงินไว้เป็นหนังสือเล่มโตมาก ชื่อ "หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" แพร่หลายมากอยู่สมัยหนึ่ง

นายชื่น ทักษิณานุกูล คนนี้แหละ เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อ เป็นลูกศิษย์ที่ถวายตัวเป็น "ลูกบุญธรรม" ของหลวงพ่อเงิน เดิมเขาเกิดในตระกูล "บัวโต" ต่อมาเขาใช้นามสกุลว่า "ทักษิณานุกูล" คือนามสมณศักดิ์ของหลวงพ่อตอนเป็น "พระครูทักษิณานุกูล" เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม

นายชื่น ทักษิณานุกูล คนนี้แหละ เป็นผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อ รู้จักหลวงพ่อดีที่สุดและก็เป็นคนมีการศึกษาดี เขียนหนังสือเป็น พอที่จะเขียนประวัติหลวงพ่อเงินให้คนอ่านได้ เขาจึงได้เขียนประวัติของหลวงพ่อเงินขึ้น ทำให้คนทั้งหลายได้อ่านและได้ทราบชีวประวัติและปฏิปทาศีลาจารวัตรของหลวงพ่อที่แท้จริง นับว่าเป็นบุญกุศลของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายชื่น ก็ได้ศึกษาอบรมตนไปด้วย ในขณะที่เขียนประวัติของหลวงพ่อ เพราะอานิสงส์ของการเขียนประวัติพระสุปฏิปันโน สาวกสังโฆนั้น เท่ากับเป็นการฝึกอบรมจิตของตนเองไปด้วยอย่างดีวิเศษ เป็นการปฏิบัติงานเพื่อปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการอุทิศตนต่อหน้าที่อันชอบธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการเพ่งพินิจปูชนียบุคคล เป็นการบูชาผู้ที่ควรบูชาอย่างหนึ่ง เป็นการอุทิศตนเพื่อพระผู้เป็นเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนประการหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้ก็ปฏิบัติตนเช่นเดียวกับนายชื่น นั่นเอง

บุญกุศลประการที่สอง ก็คือ หลวงพ่อเองที่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนามาตลอดชีวิตนั้น ไม่ลี้ลับดับสูญ ยังปรากฏเป็นสัจจธรรม คือความจริงอยู่ อย่างน้อยก็ในจิตใจของลูกศิษย์อย่างน้อยก็ในบรรณโลก เพื่อผู้เกิดมาภายหลัง จะได้เดินตามรอยเท้าต่อไป

บุญกุศลประการที่สาม ก็คือคนอื่นคนไกลที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยได้ยินชื่อ (เพราะเกิดมาไม่ทัน จะได้พบได้รู้ จากหนังสือชีวิประวัติที่นายชื่นได้เขียนขึ้นนั้น จะได้รู้แท้แน่แก่ใจว่า พระสุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติดี) พระอุชุปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติงดงาม) พระญายปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อม) พระสามีจิปฏิปันโน (พระผู้ปฏิบัติด้วยความจงรักภักดีต่อพระรัตนตรัย) นั้น มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดแจ้งก็คือหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

"พระอาจารย์ดี ย่อมมีลูกศิษย์ดี"

"ดูต้นไม้ให้ดูดอกผล"

"ดูคน ให้ดูลูก"

"ดูครู ให้ดูศิษย์"

คำกล่าวข้างบนนี้เป็นความจริงแท้ แม้แต่คำว่า

ดูเจ้านายให้ดูไพร่พล ดูแม่ทัพให้ดูทหาร ดูพระราชาให้ดูอำมาตย์ราชเสนา ดูหัวหน้าให้ดูลูกน้อง ดูพระให้ดูสมภาร ดูอาจารย์ให้ดูลูกศิษย์

เป็นความจริง พิสูจน์ได้จากหลวงพ่อเงิน ความเมตตากรุณาของท่านก็ดี การทรงศีลทรงธรรมของท่านก็ดี ดูได้อ่านได้จากลูกศิษย์ของท่านที่พูดที่เขียนไว้นั้น ความดีความงามของท่านนั้น ถ่ายทอดลงในหัวใจของลูกศิษย์ ลูกศิษย์จึงเกิดความบันดาลใจ เขียนสดุดียกย่องสรรเสริญเอาไว้ ซึ่งพระอาจารย์ที่ไม่ดีถึงระดับแล้ว จะไม่มีลูกศิษย์เช่นนี้เลย

เพราะเมื่ออาจารย์ยังมีชีวิตอยู่นั้น เลี้ยงลูกศิษย์ไว้ ก็ด้วยความเมตตาไม่ได้คิดไม่ได้หวังว่าลูกศิษย์จะเขียนชีวประวัติของท่านออกเผยแพร่แก่มหาชน แต่ว่าลูกศิษย์เกิดความเคารพเลื่อมใส เกิดความบันดาลใจจากเมตตาบารมี และคุณธรรมความดีอื่น ๆ ทำให้เขาคิดเขียนประวัติพระอาจารย์ออกเผยแพร่แก่มหาชนด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า พระอาจารย์ที่ดีถึงระดับหนึ่ง ถึงจุดหนึ่ง จึงจะมีลูกศิษย์ชนิดนี้ได้ ถ้าดีไม่ถึงระดับ ก็ไม่มีลูกศิษย์ชนิดนี้

ลูกศิษย์อย่างนายชื่น ทักษิณานุกูล จึงเป็นประกาศนียบัตร แสดงคุณธรรมความดีของอาจารย์ มันก็แปลกอยู่ตรงที่ว่า ลูกศิษย์เป็นประกาศนียบัตร แสดงคุณธรรมของอาจารย์

เรื่องนี้ขอให้ดูได้จากทุกวงการ

วงการของเจ้านาย พระราชามหากษัตริย์

วงการของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ

วงการของครูบาอาจารย์

วงการของศิลปิน

วงการของกวี วงการของนักเขียน นักประพันธ์

วงการของพระภิกษุสงฆ์

ถ้าครูอาจารย์ดี ถึงขนาดดีถึงจุดหนึ่งแล้ว

แน่นอนย่อมจะมีลูกศิษย์ดี

ลูกศิษย์ดีนั้นแหละจะเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงผลงานของครูอาจารย์ และชีวประวัติของครูอาจารย์ โดยไม่ต้องจ้างวาน

พระพุทธเจ้า

พระเยซูคริสต์

พระนามีมูฮัมหมัด

ท่านนานัค แห่งศาสนาสิกข์

ท่านไสบาบา แห่งศาสนาฮินดู

ล้วนแต่มิได้เขียนชีวประวัติของตนเอง ไม่ได้รวบรวมคำสั่งสอนของตนเองไว้เลยแม้แต่คนเดียว พระอรหันต์ไม่เคยเขียนประวัติตนเองไว้อวดใคร

ลูกศิษย์ทำ พระสาวกทำทั้งสิ้น

นายชื่น ทักษิณานุกูล เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งเคยไปล่องแก่งทางแควน้อยแควใหญ่ ไทรโยคเมืองกาญจน์ เกิดอุบัติเหตุ แพแตก จมน้ำ ว่ายน้ำไม่ไหว จึงรำลึกถึงหลวงพ่อเงินเป็นที่พึ่ง ร้องว่า

"หลวงพ่อช่วยลูกด้วย"

แล้วก็หมดความรู้สึกไป ตื่นขึ้นพบตัวเองนอนอยู่บนหาดทรายชายตลิ่ง

เมื่อเดินทางถึงบ้านดอนยายหอมก็ไปกราบหลวงพ่อเล่าให้หลวงพ่อฟัง

"ฉันก็นึกถึง เห็นหน้าในญาณ"

หลวงพ่อพูดอย่างนี้กับนายชื่น ตรงกับวันที่นายชื่น ประสพอุบัติเหตุแพแตก จมน้ำ

นายชื่น จึงยืนยันว่า เขารอดตายเพราะหลวงพ่อช่วย คนอื่นอาจจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หรือไม่สนใจอะไร

แต่นายชื่น ทักษิณานุกูล เชื่อถือด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจ เขาจึงเขียนหนังสือเรื่อง

 

"หลวงพ่อเงินเทพเจ้าแห่งดอนยายหอม"

 

 

นายชื่น ทักษิณานุกูล เป็นศิษย์ก้นกุฏิ เคยเรียนหนังสือร่วมชั้นกับข้าพเจ้าที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย มีนิสัยชอบชกต่อย ไม่กลัวใคร จบมัธยม 6 แล้วก็ออกมาเป็นตำรวจ หลวงพ่ออยากให้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา เจริญรอยตามท่าน นายชื่นก็ไม่มีอุปนิสัย

ลูกศิษย์ อย่างนายชื่น ทักษิณานุกูล นั้น ท่านเรียกกันว่า

"อันเตวาสิก" (ศิษย์ภายในหรือศิษย์ก้นกุฏิ)

ส่วนลูกศิษย์อย่างข้าพเจ้า เขาเรียกว่า

"พาหิระวาสิก" (ศิษย์ภายนอก) เพียงแต่ท่านเป็นอุปัชฌาย์ จึงมีเรื่องเขียนได้ไม่มากนัก

ส่วนนายชื่น ทักษิณานุกูล เขารู้เรื่องของหลวงพ่อมาก ใครอยากรู้รายละเอียด ต้องอ่านเรื่องที่นายชื่นเขียนไว้แล้ว

นายชื่น ทักษิณานุกูล เขาเป็นลูกกำพร้า เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าแม่ เขาอยู่กับหลวงพ่อมาตั้งแต่จำความไม่ได้ เขาเล่าว่าเห็นเขามีแม่กัน เมื่อเห็นผู้หญิงมาที่วัดก็เข้าไปหา อยากจะเอาเป็นแม่ แต่หญิงคนนั้นก็ดุเอาเมื่อเขาเรียกแม่

"ข้าไม่ใช่แม่เอ็ง" นายชื่นได้ยินก็น้ำตาหยดพรากแก้ม นายชื่น จึงยึดเอาหลวงพ่อเป็นทั้งพ่อและแม่มาตลอดชีวิต

เขามีพี่ชายคนหนึ่ง ชื่อ ส.ต.ท. ชอบ บัวโต, เป็นตำรวจมือปราบคนหนึ่ง เคยยิงทิ้งหรือ "เก็บ" ผู้ร้ายมาแล้วหลายคน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ตำรวจ เป็นมือปืนคนหนึ่งของ พล.ต.ท.ประชา บูรณะธนิต ผู้บัญชาการตำรวจสมัยนั้น

 

........................................................................................

หลวงพ่อเงินกับสอนเสือผาด ทับสายทอง

 

ขึ้นชื่อว่า เสือผาด ทับสายทอง แล้ว คนในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ.2484 ถึง พ.ศ.2490 ย่อมจะรู้จักกันดี เป็นตำนานกล่าวขานมาจนทุกวันนี้

บางคนเรียกชื่อเขาว่า "ขุนโจร 7 จังหวัด" เพราะเขามีชื่ออยู่แถวจังหวัด นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจังหวัดธนบุรี ทั้ง 7 จังหวัดนี้ เป็นแดนปล้น เป็นแดนอิทธิพลของเขาโดยตลอด อย่างน้อยเสือเล็ก เสือน้อย ที่เรียกว่าเสือปลา ไม่ใช่เสือโคร่งลายพาดกลอน ก็อ้างชื่อเสียงของเขาออกหากินด้วย

ส่วนใหญ่ จะไม่กล้าออกชื่อเขา มักจะออกชื่อกันว่า "คุณพระ" คำว่า "คุณพระ" เป็นชื่อที่ชาวนครปฐมทั่วไปเรียกชื่อเขาลับหลัง เป็นที่รู้กันว่า หมายถึง เสือผาด ทับสายทอง คนกลัวเขาขนาดไม่เรียกออกชื่อเขาทีเดียว เพราะไม่รู้ว่าจะถึงหูเสือผาดเข้าเมื่อไร และจะถูกฆ่าตายเมื่อไรก็ไม่รู้ตัว พูดกันถึงขนาดที่ว่า ข้าราชการ ตำรวจ ก็กลัวเสือผาด เป็นลูกน้อง หรือเป็นสายเสือผาดเกือบทุกคน

เสือผาดทำนา เสือผาดเกี่ยวข้าว เพียงแต่บอกกันว่าพรุ่งนี้เป็นวันเกี่ยวข้าวเสือผาด คนก็จะเดินทางไปช่วยเกี่ยวข้าวกันหัวดำเต็มท้องนา ไม่ต้องไหว้วานกันเลย ทุกคนถือเคียวไปช่วยกันเกี่ยวข้าว นวดข้าวให้เสือผาด

เสือผาดจะมีนาหรือไม่ ไม่สำคัญ เพียงแต่บอกว่านาทุ่งนี้เป็นของเสือผาดเท่านั้นคนก็จะไปช่วยไถ ช่วยเกี่ยวข้าว ช่วยนวดให้จนจบสิ้น โดยไม่มีใครกล้าไปสอบถามอะไรกันอีก ว่าเสือผาดอยู่ที่ไหน เพราะว่าไม่มีใครเคยเห็นตัวเสือผาด ได้ยินแต่ชื่อก็กลัวเสียแล้ว

ขณะนั้น ผู้เขียนรับราชการอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน อันเป็นแดนอิทธิพล หรือพื้นที่สีดำของเสือผาด ผู้เขียนรู้เรื่องราวของเสือผาดมากจนกลัวเสือผาดเหมือนกัน

วันหนึ่ง ขี่จักรยานไปอำเภอกับ นายพิณ กันตะเพ็ง ศึกษาธิการอำเภอกำแพงแสน พบคนถูกยิงตายนอนอยู่ระหว่างทาง เป็นชายหนุ่มอายุสัก 19-20 ปี คนก็กระซิบบอกว่า เมื่อคืนนี้เสือผาดพาลูกน้องเดินทางไปปล้น แต่สงสัยความไม่ซื่อสัตย์ของลูกน้อง จึงยิงทิ้งเสียก่อนเข้าปล้น

วันหนึ่งตอนเช้าตรู่ มีคนรายงานกับนายอำเภอ ร.ต.ต.สุขศรีเพ็ญ ว่า ส.ต.ท.จำเนียร ภักดีเจริญ ถูกยิงตาย ที่ตำบลห้วยขวาง นายอำเภอไปชันสูตรพลิกศพ ข้าพเจ้าก็ไปด้วย พบ ส.ต.ท. จำเนียร นอนตายอยู่ มีปืนพกตกอยู่ข้างตัว เป็นปืนที่ ส.ต.ท. จำเนียร ยิงต่อสู้จนตัวตายในสภาพนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว เพราะไปนอนอยู่บ้านเมียน้อย เขาเล่าว่าผู้ร้ายที่เข้ามายิง ส.ต.ท.จำเนียร ได้เข้าเหยียบหน้าอก ส.ต.ท.จำเนียรแล้วร้องว่า

"อ้ายเนียร มึงรู้จักกูไหม ?"

เขาพูดว่าผู้ร้องถามนั่นคือเสือผาด

แล้วเขาก็ยิง ส.ต.ท. จำเนียร ตายกลิ้งอยู่ในบ้านเมียน้อย ไม่ทำอันตรายใคร ไม่แตะต้องทรัพย์สินอะไรเลย

มูลเหตุของเรื่องก็คือ ฆ่าล้างแค้นของเสือผาด ฆ่าแม้แต่ตำรวจ

เรื่องมีอยู่ว่า นายจำรูญ น้องชาย ส.ต.ท. จำเนียร ลูกชายขุนภักดี ห้วยพระ คหบดีมั่งคั่งในตำบลสามง่าม ถูกโจรปล้น จับตัวไปยิงทิ้งที่ทุ่งนา นายจำรูญตายในลักษณะนุ่งกางเกงในตัวเดียว ส.ต.ท.จำเนียร เห็นน้องชาย ถูกฆ่าตายในลักษณะน่าทุเรศเช่นนั้นก็ประกาศว่า จะต้องตามฆ่าโจรก๊กนี้ให้จงได้ ส.ต.ท.จำเนียร สืบทราบว่าก่อนปล้นโจรคณะนี้ได้มากินเหล้าวางแผนกันที่บ้านคน ๆ หนึ่งในตอนหัวค่ำ ส.ต.ท.จำเนียร จึงให้ระบบแก้แค้น โดยใช้กฎหมายเถื่อน จับชายเจ้าของบ้านไปยิงทิ้งตรงที่ ๆ ที่นายจำรูญ น้องชายนอนตายอยู่ เป็นการล้างแค้น

ต่อมาไม่กี่วัน ส.ต.ท.จำเนียร ก็ถูกฆ่าตายไป ผู้ยิงอก ส.ต.ท.จำเนียร ขึ้นเหยียบอก แล้วร้องถามว่า

"อ้ายเนียร มึงรู้จักกูไหม ?"

ท่านขุนภักดีห้วยพระ (กิ้ว ภักดีเจริญ) เห็นว่าขืนต่อสู้กันต่อไปก็จะตายไปไม่สิ้นสุด เสียลูกชายไป 2 คนแล้ว คนต่อไปไม่รู้ว่าใคร จึงได้ตกลงหย่าศึก พิธีหย่าศึกทำขึ้นที่บ้าน นายนนท์ ตำบลห้วยขวาง ขุนภักดีห้วยพระ นัดพบเสือผาด ทับสายทอง ที่บ้านนายนนท์ซึ่งเป็นคนของเสือผาด กินเหล้าสาบานกันว่าจะเลิกแล้วต่อกัน เรื่องจึงสงบลงได้

นายนนท์ คนนี้ ข้าพเจ้ารู้จัก บิดามารดาของข้าพเจ้าก็รู้จัก คุ้นเคยกันดี รูปร่างอ้วนใหญ่ ดำ ตาเข หน้าตาเป็นนักเลงน่าเกรงขาม แม่ของข้าพเจ้าเล่าว่า นายนนท์ ดำใหญ่คนนี้เป็นลูกชายของ นายนนท์ขาว ชาวตำบลตาก้อง ทำแม่นายนนท์ท้อง แล้วไม่รับเป็นลูก แม่นายนนท์โกรธแค้นมาก เมื่อลูกชายเกิดมาจึงตั้งชื่อว่า นายนนท์ เหมือนชื่อพ่อ ได้ชื่อว่าเป็นคนดุเป็นนักเลงอิทธิพลคนหนึ่ง แต่เป็นคนของเสือผาด

เมื่อเสือผาด ทับสายทอง พาพรรคพวกไปปล้นที่ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และเป็นการปล้นครั้งสุดท้ายถูก พล.ต.ท.ประชา บูรณธนิต วางแผนพิชิตได้ นายนนท์ คนนี้แหละที่ได้เอารถยนต์บรรทุก 10 ล้อของ นายศิลปชัย คนตำบลพะเนียงแตก เดินทางไปรับพวกปล้นของเสือผาด นายนนท์ นั่งคุมรถไปให้ นายศิลปชัย เป็นคนขับ เมื่อถึงตำบลหนองดินแดง ถูกตำรวจดักจับตามทาง จึงได้ยิงนายนนท์ กับนายศิลปชัย ทิ้งเสียข้างทางเอาน้ำมันราดแล้วเผาเสียเรียบร้อยในคืนนั้น

นายเท่ง คนไว เป็นนายตรวจรถยนต์ อยู่ที่ตำบลตาก้อง วันหนึ่งนั่งเก้าอี้อ่านหนังสือพิมพ์อยู่ ก็มีคนเดินเข้ามาหาสองคน ส่งจ.ม.ให้นายเท่ง นายเท่งกำลังอ่าน จ.ม.อยู่ ก็ถูกชายคนนั้นยิงหัวนั่งตายคาเก้าอี้ คนร้ายเดินออกไปอย่างลอยนวล เขาว่าเสือผาด ส่งลูกน้องมายิงทิ้งเสียด้วยเหตุที่นายเท่งไปยิงคนของเสือผาดตายไปก่อน ชื่อนายสงวน ถูกยิงศีรษะนั่งตาย น่าประหลาดที่นายเท่ง คนไว ก็นั่งตายคาเก้าอี้ที่บ้านนายหลง ชาวไร่เงิน

แต่ผู้เขียนก็รู้จักวงศ์สกุลของเสือผาดอยู่บ้าง พ่อของผู้เขียนรู้จักนายจรูญ ทับสายทอง บ้านคันลำอยู่แถวหลังองค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อเป็นเด็กวัดห้วยจระเข้ พ่อก็เอาข้าพเจ้าไปฝากไว้กับหลวงตาปาน ทับสายทอง อาชายของเสือผาดคนหนึ่ง หลวงตาปานองค์นี้เคยเป็นทหารมียศเป็นสิบโท แล้วมาบวช บวชแล้วก็ยังชกมวย ซ้อมชกมวยอยู่เสมอ วันหนึ่งพระองค์หนึ่งมานั่งปัสสาวะอยู่บนชานกุฏิ หลวงพ่อปานเห็นเข้าก็โกรธ โดดเข้าเตะพระองค์นั้นศีรษะคะมำตกกุฏิไป หลวงตาปาน ทับสายทอง รูปร่างกำยำ แข็งแรง ตกค่ำท่านจะตีกลองยาว รำกลองยาวให้ดู แล้วก็รำมวยให้ดูด้วย

นายแสวง บุญทองดี อนามัยอำเภอเมืองสมุทรสงครามก็เป็นลูกหลานของท่าน แต่เปลี่ยนนามสกุลไปใช้อย่างอื่นภายหลัง

ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อประชาไม่อยากใช้นามสกุล ทับสายทอง ขอให้เปลี่ยนนามสกุลให้ ข้าพเจ้าถามว่า พ่อคุณชื่อไร เขาบอกว่าชื่อมิ่ง ข้าพเจ้าก็เลยตั้งนามสกุลให้ว่า "ครูประชา มิ่งมนตรี" เขาเป็นครูอยู่อำเภอกำแพงแสนสมัยนั้น

นายผาด ทับสายทอง มีน้องชายคนหนึ่ง ชื่อ พุ่ม ทับสายทอง เป็นนักเลง ชอบดื่มเหล้า ใครอยากจะให้ตีหัวใครก็ขอเหล้าขวดเดียว แล้วเขาก็จะตีหัวให้ หรือชกหน้าให้ตามต้องการ

คราวหนึ่ง เขาฝากชื่อไว้ในแผ่นดินสยาม โดยเขาถือปืนเข้าไปดักยิงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สนามหลวง แต่ยิงพลาด ไม่ถูกที่สำคัญ แต่ก็ยิงถูก และถูกตัดสินจำคุก

เล่าเรื่องเสือผาดประกอบ ก็เพื่อจะบอกว่า เสือผาด ทับสายทอง ก็เป็นศิษย์นอกครู ลูกนอกคอก ของหลวงพ่อเงิน

เสือผาด เริ่มมีชื่อมาตั้งแต่ปล้นฆ่า ร.ต.ต.เจี่ย แสงโชติ บิดาของ พล.ต.ต.จุมพล แสงโชติ (นายพลตำรวจตรีคนนี้ เป็นเพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกับผู้เขียน และนายชื่น ทักษิณานุกูล เมื่อเรียนอยู่ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย)

เสือผาด ถูกจับได้ ติดคุกอยู่หลายปี พอออกจากคุกก็ปล้นอีก เสือฮุย เสือเภา เพื่อนเสือด้วยกัน ถูกตำรวจยิงตาย เสือผาดหลบหนีรอดไปได้

คราวหนึ่ง นายจรูญ ผาสุกวณิชย์ นายอำเภอเมืองนครปฐมพร้อมด้วยนายศักดิ์ เศรษฐบุตร ปลัดอำเภอ และตำรวจ เข้าล้อมจับที่ตำบลหนองขาหยั่ง เสือผาดแอบอยู่ในห้องเจ้าหน้าที่ค้นจนทั่วไม่เห็นเขา

อีกครั้งหนึ่งเสือผาด กำลังอยู่ในวงการพนัน เล่นโปกัน ที่บ้านวังน้ำขาว ส.ต.ท.ทัพ เนาวรัตน์ นำตำรวจ 20 คน เข้าล้อมจับเสือผาดนั่งอยู่ ตำรวจหลายคนไม่เห็นเขา

อีกครั้งหนึ่ง เดินสวนกับ ร.ต.ต.ประสิทธิ์ วทานนท์ และพลตำรวจไสวที่สนามบินต้นสำโรง ตำรวจยิงด้วยปืนยิงเร็วในระยะเผาขน จนฝุ่นกลบตัวแต่ไม่ถูกเสือผาด เสือผาดหายตัวไปข้าง ๆ เนินดินในเวลากลางวันแสก ๆ

ครั้งสุดท้ายที่เขาปล้นที่ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง พ.ต.ท.ประชา บูรณะธนิต ได้อำนวยการสืบสวนและวางแผนซ้อนกลส่งคนเข้าเป็นพวกปล้นด้วย ได้เกิดยิงต่อสู้กันกับตำรวจที่ส่งกำลังไปล้อม จนนายตำรวจชั้นร้อยตำรวจโท ตายไปคนหนึ่ง แต่เสือผาดหนีไปได้ไม่บาดเจ็บ เมื่อถูกล้อมจับจนมุมในทุ่งนา เสือผาดก็ถอดเอาพระเครื่องออกโยนทิ้ง แล้วระเบิดสมองตัวเองตายไป ไม่ใช่ตำรวจยิงตายแต่อย่างใด เสือผาดได้ออกปล้นมานับสิบ ๆ ครั้ง ถูกตำรวจยิงหลายครั้ง แต่หนีรอดไปได้ทุกครั้ง จนเป็นที่เลื่องลือกันแม้ในหมู่ตำรวจว่า เสือผาดมีของดี

ครั้งหนึ่ง พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร และ พ.ต.อ.สะอาด รัชตะประกร ได้ติดต่อขอให้เสือผาดเข้ามอบตัว เสือผาดก็เข้าพบสนทนาด้วย

ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจติดต่อขอพบ เขาก็เข้าพบที่พระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่ข้างสนามหลวง ได้พบและสนทนากันแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็รักษาวาจาสัตย์ ไม่ทำร้ายกัน แล้วต่างคนก็ต่างแยกกันกลับไป

คราวที่นัดพบกับนายตำรวจใหญ่นั้น ตำรวจใช้หลวงพ่อเงินเป็นสื่อนัดพบ คณะที่ไปพบเสือผาดมี พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 7 นครปฐม พ.ต.อ.สะอาด รัชตะประกร ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายทองสุก สุวัตถี นายอำเภอเมืองนครปฐม นายหล่อ สีละชาติ ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม และ นายชื่น ทักษิณานุกูล ลูกศิษย์และลูกบุญธรรมของหลวงพ่อเงิน โดยนายชื่น ทักษิณานุกูล ได้ล่วงหน้าไปก่อน ได้ไปพบกับนายจันทร์ ชาวบ้านตำบลดอนยายหอม และได้พบกับเสือผาดที่นั่น แล้วจึงพาเสือผาดมาพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หน้าโบสถ์วัดดอนยายหอม โดยมีหลวงพ่อเงิน เป็นประธานอยู่ด้วย

เมื่อเสือผาดได้พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้บังคับการ ตำรวจภูธรเขต ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด เขาก็ยิ้มอย่างใจเย็น แล้วสารภาพว่าเขาได้ปล้นฆ่าที่ไหนมาบ้าง แล้วเสือผาดก็คุยกับหลวงพ่อเงิน หลวงพ่อเงินจึงถือโอกาสพูดเทศนาสั่งสอน โดยไม่ต้องติดกัณฑ์เทศน์ว่า

"เสือผาดนี้ก็เหมือนคนที่ขุดบ่อ ยิ่งขุดก็ยิ่งลงลึกลงไปทุกที ตัวก็จงลงไปทุกที หนักเข้าก็ลึกจนขึ้นไม่ได้ ได้แก่คนที่ทำบาปกรรมไว้ เป็นที่เกลียดกลัวของมหาชน และเป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ ทางที่ดีควรจะหยุดขุดบ่อฝังตัวเอง นานเข้าความชั่วที่ทำไว้ก็จะลืมเลือนไป จากความเกลียดกลัวของประชาชน ก็จะกลายเป็นคนดีได้อย่างสนิทเหมือนบ่อที่ขุดไว้ นานปี ธรรมชาติก็ช่วยกลบเกลื่อนให้หลุมตื้นขึ้นเป็นชั้นเสมอกับพื้นดินเดิม"

"เสือผาดก็เป็นคนไทย นับถือพระพุทธศาสนา ตัวเสือผาดเองก็มีคุณพระแขวนคอ คุ้มตัว จนคนทั่วไปเรียกชื่อว่า "คุณพระ" ขึ้นชื่อว่าเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่นเป็นบาป จงสลัดบาปออกเสีย หันมาทำดี ก็จะเป็นโอกาสอันดี เจ้าหน้าที่เขาก็จะผ่อนผันโทษหนักให้เป็นเบาได้"

เสือผาดก็รับคำว่า จะขอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ แต่เขายังมีภาระรุงรังอยู่ขอไปจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อน

เมื่อคุยกันถึงเรื่องธุระเสร็จแล้ว พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร ซึ่งเป็นผู้สนใจทางพระเครื่องอยู่ ก็คุยถึงเรื่องพระเครื่อง ต่างคนต่างนำออกอวดกัน เสือผาดก็ควักออกมาอวดบ้าง

"พระเครื่องของผมก็ศักดิ์สิทธิ์นักเคยเข้าตาจนมาแล้วหลายครั้ง อาราธนาพระองค์นี้ช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยมาทุกครั้ง พระองค์นี้ไม่ใช่อยู่ยงคงกะพันอย่างเดียว ยังใช้ในทางแคล้วคลาด และกำบังตัวได้ด้วย เวลาทิ้งพระองค์นี้ลงไปในน้ำที่ขุ่น น้ำตรงนั้นจะเกิดช่องว่างใสเป็นทางลงไป จนถึงดินที่พระองค์นั้นนอนอยู่ทีเดียว"

เสือผาดย้ำว่า

"จะทดลองเดี๋ยวนี้ก็ได้"

พระเครื่องดินเผาองค์นั้น เป็นพระเครื่องของหลวงพ่อรุ่งอาจารย์ของหลวงพ่อเงิน ซึ่งหลวงพ่อเงินก็มีติดตัวอยู่องค์หนึ่ง คราวเดินธุดงค์ก็นำติดตัวไป

หลวงพ่อรุ่งองค์นี้ บวชอยู่วัดดอนยายหอม มีชื่อว่าเป็นพระอาจารย์ขลัง ไม่ได้เป็นสมภารเจ้าวัดอะไร ชอบทางวิทยาคม มีคนยกย่องว่าเก่งทางคาถาอาคม ชอบไปทางเวทย์มนต์คาถา มีเครื่องมือในการทำเครื่องรางของขลังพร้อม เหล็กสัก เหล็กจาร หลอดไม้รวก สำหรับลงตะกรุด ลูกอม สักให้แล้วก็ทดลองใช้มีดดาบฟันทันที หลวงพ่อรุ่งเก่งอีกทางหนึ่งคือให้หวย เมื่อหลวงพ่อเงินบวชใหม่ ๆ เคยให้หลวงพ่อเงินไปช่วยนั่งบริกรรมปลุกเสกพระ และเครื่องรางในโบสถ์

ในชีวิตของหลวงพ่อรุ่ง ได้ทำพระดินเผาไว้ประมาณ 10 องค์ เป็นดินเผาสีแดง ที่เสือผาดใช้เป็นพระเครื่องรางคุ้มตัวอยู่นั้นองค์หนึ่ง และมีที่หลวงพ่อเงินอีกองค์หนึ่ง เสือผาดมีอาจารย์เดียวกับหลวงพ่อเงิน จึงมาเคารพนับถือหลวงพ่อเงินเป็นครูอาจารย์อีกองค์หนึ่ง

แต่ดูเหมือนเสือผาดจะเสียสัตย์ที่ได้ลั่นวาจาไว้ต่อหน้าหลวงพ่อเงินว่าจะมอบตัว แต่ไม่ยอมมอบตัว จึงได้จบชีวิตลงที่ตำบลคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่งในเวลาต่อมา โดยยิงตัวเองตายในที่ทุ่งนา แล้วตำรวจก็ตัดหัวมาเสียบประจานไว้ข้างองค์พระปฐมเจดีย์ วันนั้นข้าพเจ้าได้ข่าวจึงรีบเดินทางไปดู ได้เห็นหัวเสือผาดถูกตัดแค่คอเสียบไว้ เหมือนหัวโขน หรือหัวละคร หลังโรงหนัง โรงละคร

ถึงแม้ว่าชีวิตของเสือผาด จะไม่ได้ทำคุณงามความดีไว้ให้แก่ใคร นอกจากให้ความคุ้มครองป้องกันพรรคพวกของตัวไว้ไม่ให้ใครข่มเหงรังแก เสือผาดก็ฆ่าแก้แค้นให้ทันทีทันควัน ก็ดูเหมือนว่ามีคุณงามความดีอยู่แค่นั้น

แต่สิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครนึกถึงเลย ก็คือ เสือผาดได้สร้างคุณงามความดีให้แก่ตำรวจทางอ้อม หลังจากเสือผาดตายแล้ว ตำรวจที่ไปล้อมจับคราวนั้น ที่เคยปากสั่น ขาสั่น มิ่งขวัญหายเพราะกลัวตายก็กลายเป็นผู้กล้าหาญไปทั่วหน้า พบหน้าใครก็คุยเขื่องเรื่องปราบโจรปล้นคุ้งพยอมล้อมจับเสือผาด บ้างก็คุยว่าเสือผาดตายเพราะลูกปืนจากปากกระบอกของตน หลายคนได้เลื่อนยศกันคราวนั้น แม้แต่ พ.ต.ท.ประชา บูรณะธนิต ก็ได้เลื่อนยศขึ้นเป็น พันตำรวจเอก ในคราวนั้นด้วย คงจะพอกล่าวได้ว่า เสือผาดสร้างคุณงามความดีไว้ให้แก่ตำรวจทางอ้อม

และเรื่องเสือผาด ทับสายทอง มีชื่อหลวงพ่อเงินเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วยโดยทางตำรวจขอร้องให้ท่านเป็นสื่อ เป็นประธานในการนัดพบพูดจากันกับเสือร้าย 7 จังหวัด ชื่อ ผาด ทับสายทอง หรือที่มีสมญานามด้วยความเกรงกลัวว่า "คุณพระ"

สมัยเสือผาด ทับสายทอง มีชีวิตอยู่ ไม่มีใครกล้าออกชื่อเสือผาดเรียกกันว่า "คุณพระ"

ส่วนข้าพเจ้าไม่ค่อยกลัวเสือผาด ทับสายทอง เพราะข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์ของของหลวงตาปาน ทับสายทอง วัดห้วยจระเข้ ซึ่งเป็นอาของเสือผาด ทับสายทอง แล้วยังมีเพื่อนอีกคนหนึ่งเขาไม่อยากใช้นามสกุลทับสายทอง ข้าพเจ้าจึงตั้งนามสกุลให้ว่า "มิ่งมนตรี" เพราะพ่อเขาชื่อ มิ่ง ทับสายทอง

........................................................................................

คาถาศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ ?

 

นายชื่น ทักษิณานุกูล เล่าว่า เคยถามหลวงพ่อเป็นส่วนตัวว่า "คาถาอาคมเป็นเรื่องนอกพระพุทธศาสนาหรือไม่"

หลวงพ่อตอบว่า "ไม่ขัดกับพระพุทธศาสนา เพราะคาถาที่ใช้คือพระพุทธมนต์ ขึ้นว่า "นะโม" ไม่ได้ขึ้นต้นว่า โอม อันหมายถึง พระเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ คือ พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร"

ถึงแม้จะมีคาถาบางบทขึ้นว่า โอม ก็หมายถึง อะ-อุ-มะ ของพุทธศาสนา คือ อะ หมายถึง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อุ หมายถึง อุดมธรรม และ มะ หมายถึง มหาสงฆ์คือพระรัตนตรัย..." "คาถามีไว้สำหรับภาวนา ให้จิตเกิดเป็นสมาธิ เมื่อจิตเกิดเป็นสมาธิเป็นเอกัคคตา คือ เป็นหนึ่งอย่างยิ่งแล้ว ย่อมเกิดมีพลังแรง เมื่อจิตมีพลังแรงแล้วย่อมเกิดอิทธิฤทธิ์อำนาจ แล้วใช้อำนาจจิตได้ตามความปรารถนา..." 

"ในเรื่องอำนาจทางจิตก็มีกล่าวไว้ในเรื่อง อภิญญา 6 ประการ คือ ญาณอันยิ่งหรือ วิชชา 8 ประการ ในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็เพราะมีอภิญญา มีวิชชา 8 ประการ..."   อันที่จริง ปัจจุบันนี้ ผู้ได้ศึกษาเรื่องอำนาจของจิต ไม่มีใครสงสัยอะไรในอำนาจของจิตต่อไปแล้ว รวมทั้งพระสุปฏิปันโน พระนักปฏิบัติ ก็ไม่มีใครสงสัยแคลงใจในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะพระอริยบุคคล ย่อมมี "อุตริมนุสธรรม" คือ ธรรมอันเหนือมนุษย์สามัญ เพียงแต่ว่าพระพุทธองค์มิให้อวดอุตริมนุสธรรมเท่านั้น (มีได้แต่ห้ามอวด)
เขาว่าดีนัก

ถึงแม้ว่าหลวงพ่อจะได้สร้างพระเครื่องขึ้นมาแล้วหลายรุ่น แต่หลวงพ่อก็สร้างขึ้นด้วยเจตนาดี ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเมตตาตั้งใจจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นภัย พ้นทุกข์ มีที่พึ่งทางใจ อันจะแลเห็นได้เป็นวัตถุ ตามประสาปุถุชน ซึ่งยังมีทุกข์ และต้องการที่พึ่ง เพราะว่าเพียงแต่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ หรือพระธรรมในคัมภีร์ทั้ง 7 คัมภีร์ หรือพระสงฆ์ที่นุ่งห่มเหลืองอร่ามเห็นอยู่ตามวัดทั่วไป ก็ไม่สามารถจะช่วยทุกข์ อันว่าทุกข์ก็ดี ภัยก็ดี โรคก็ดี ทั้ง 3 อย่างนี้ย่อมจะมีประจำอยู่ เมื่อมีทุกข์ภัยมาถึงตนหรือบุตรภรรยาสามีอันเป็นที่รัก ก็ย่อมตะเกียกตะกายแสวงหาที่พึ่งด้วยกันทั้งนั้น หลวงพ่อมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากจะต้องทำตัวหรือสร้างเครื่องสื่อสารอันเป็นวัตถุสำหรับให้เขาใช้เป็นที่พึ่งอันจะแลเห็นได้ จับต้องได้ ลูบคลำได้ พกติดตัวได้ และถ้าเขายึดเอาเป็นที่พึ่งจริง ๆ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจริง ๆ แล้ว ก็เป็นที่พึ่งได้จริง ๆ ด้วย เรื่องนี้ย่อมเป็น "ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ" คือรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ด้วยอาศัยการบอกเล่าของคนอื่น ต้องประสบด้วยจิตใจของตนเอง จึงจะเกิดความศรัทธามั่นใจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลวงพ่อจะเชื่อมั่นในใจว่า พระเครื่องของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริง สำหรับผู้นับถือจริง แต่หลวงพ่อก็ไม่เคยคุยโอ้อวดแก่ใครเลย

อย่างมากก็เพียงแต่บอกว่า "เขาเอาไปใช้ว่าดีนัก..."

"มีพระอยู่กับตัวนั้นดี จะได้นึกถึงพระ จิตใจจะได้เป็นพระ..."

ถ้าเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อก็พูดอะไรเป็นพิเศษ เช่นพูดกับผู้เขียนว่า

"พ่อสร้างพระเมตตาไว้ไปเอานะ..."

แม้เรื่องอภินิหาร ซึ่งหมายความว่า "อำนาจแห่งฌานสมาบัติไว้แสดงพลัง..." หลวงพ่อก็ไม่เคยพูกกับคนอื่น

ถ้าอารมณ์ดีมีโอกาสก็จะแสดงอะไรให้ศิษย์เห็น และมั่นใจ นายชื่นเล่าว่า วันดีคืนดีหลวงพ่อก็ชวนเข้าไปในห้องสองต่อสอง ชี้ให้ดูน้ำในขวดโหล ท่านนิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง ก็เกิดเป็นตัวกุ้งขึ้นมาเล็ก ๆ เท่าเม็ดข้าวสาร ท่านเสกข้าวสารเป็นกุ้งได้ แต่ไม่เคยแสดงให้ใครดูเลย

เรื่องอย่างนี้ข้าพเจ้าเคยเห็นจากพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่วัดใหม่ศรัทธาธรรม บอกให้เอาดอกเข็มสีขาวไปให้ท่าน ท่านใส่ปากอมไว้พักหนึ่ง แล้วก็คายออกมาเป็นตะกรุด เงินดอกเล็ก ๆ ว่าตะกรุดสาลิกา ข้าพเจ้าไม่ค่อยเชื่อนึกว่าท่านเล่นกลให้ดู แต่ก็ไม่รู้ว่าอย่างไร เห็นกับตาอย่างนั้นจริง ๆ ต่อหน้าเพื่อนครูอีก 2 คน ชื่อนายสมคิด กลันกลั่ง อีกคนหนึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดศรีศรัทธา 

........................................................................................

พระโพธิสัตว์

 

วันหนึ่งผู้เขียนไปหาท่าน คุย ๆ ไปท่านก็แบมือให้ดูพูดว่า"ดูมือฉันสิ มันแปลกไม่มีข้อ"

ข้าพเจ้ามองดูก็แปลกใจเพราะไม่มีข้อพับ คือไม่มีรอยเป็นของพับเหมือนมือคนทั่ว ๆ ไป มันลื่นไปเหมือนลำเทียนอย่างนั้นแหละ

"เขาว่าลักษณะมือเหมือนพระโพธิสัตว์มาบำเพ็ญบารมี" หลวงพ่อพูด แล้วก็ยิ้ม มองตาข้าพเจ้าเป็นประกาย

ฟังดูเหมือนว่าหลวงพ่อเชื่อว่า ตัวท่านคือพระโพธิสัตว์ เกิดมาสร้างบารมี เพื่อบรรลุอรหันต์สัมมาสัมโพธิญาณ อย่างที่พระเจ้าตากสินท่านก็เคยตรัสว่า "ถ้าจะได้ตรัสพระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ขอให้ขว้างค้อนไปถูกเฉพาะระฆัง แล้วจะเอาไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ"

เมื่อท่านขว้างค้อนไปถูกตรงนั้นจริง ๆ ต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ท่านก็ยิ่งเชื่อมั่นว่า ท่านนั้นคือพระโพธิสัตว์เกิดมาสร้างพระบารมี ท่านจึงบำเพ็ญพระจริยาวัตร เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ตลอดพระชนม์ชีพ ขอให้ไปอ่านพระราชพงศาวดารดูเถิด

อันที่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลยที่หลวงพ่อเงินเชื่อว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ อุบัติเกิดมาเพื่อสร้างบารมี เพราะพระพุทธศาสนานิกายพระโพธิสัตว์นี้ คือ นิกายดั้งเดิม ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ และทรงเน้นไว้มากด้วย ทรงเล่าว่าพระพุทธองค์ก็เคยเกิดเป็น พระโพธิสัตว์ สร้างพระบารมีมาแล้วหลายร้อยชาติ เคยเกิดมาในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ แม้ชาติใหญ่ ๆ 10 ชาติ ก็เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างพระบารมีทั้งสิ้น คือ

1.พระเตมีย์     (เต) บำเพ็ญ   เนกขัมมะบารมี  (เน)

2.พระมหาชนก  (ชะ)   "     วิริยะบารมี(วิ)

3.พระสุวรรณสาม (สุ)   "     เมตตาบารมี    (เม)

4.พระเนมิราช   (เน)   "     อธิษฐานบารมี   (อะ)

5.พระมโหสถ    (มะ)  "     ปัญญาบารมี    (ปะ)

6.พระภูริทัต     (ภู)   "     ศีลบารมี  (สิ)

7.พระจันทกุมาร  (จะ)  "     ขันติบารมี (ขะ)

8.พระนารท(นา)  "     อุเบกขาบารมี    (อุ)

9.พระวิฑูรบัณฑิต (วิ)   "     สัจจะบารมี (สะ)

10.พระเวสสันดร  (เว)  "     ทานบารมี (ทา)

ทั้ง 10 ชาติ 100 ชาติ 500 ชาติ ที่เคยอุบัติเกิดมาตั้งแต่สัตว์น้อย ๆ ขนาดนกกระจาบ ถึงสัตว์ใหญ่ เป็นช้างฉัททันต์ ล้วนแต่ทรงเกิดมาบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ 30 ทัศ ทั้งสิ้น

พุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย แต่โบราณกาลมา ก็เน้นเรื่องนิกายพระโพธิสัตว์นี้ ขอให้ไปอ่านดู เรื่องไตรภูมิพระร่วงก็ดี พระมาลัยเทพสูตรก็ดี พระปฐมสมโพธิคาถาก็ดี ล้วนแต่ย้ำและเน้นเรื่องพระโพธิสัตว์ทั้งสิ้น

คือสอนเน้นย้ำว่า ชีวิตไม่ได้ตายแล้วสูญ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลง เมื่อตายร่างกายแตกดับตอนเข้าโลงเท่านั้น ยังมีชีวิตสืบต่อไปเกิดในชาติ ภพหน้า ภูมิหน้า โลกหน้าอีก ไม่รู้จักสิ้นสุด

ชีวิตชาตินี้ เกิดมาจากผลบุญผลกรรมที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน

ชีวิตชาติหน้า เกิดจากผลกรรมที่ทำไว้ในชาตินี้ คนจะไปเกิดดีเกิดชั่วอย่างไร ก็อยู่ที่ผลกรรมในชาตินี้ ผลบุญในชีวิตนี้ คนเกิดมาใช้กรรมเก่า เกิดมากินบุญเก่า

ทุกคนจึงเป็นพระโพธิสัตว์ได้ ถ้าตั้งใจปรารถนา ตั้งปณิธานว่า จะเกิดมาเพื่อ บำเพ็ญบารมี 10 ประการคือ

1.ทานบารมี     บำเพ็ญทาน

2.ศีลบารมี สมาทานศีล

3.เนกขัมมบารมี  ออกบวช

4.ปัญญาบารมี   ทำวิปัสสนาภาวนา

5.วิริยบารมีพากเพียรบำเพ็ญตบะ

6.ขันติบารมี     อดทน อดกลั้นอย่างยิ่ง

7.สัจจบารมี     ถือสัจจะ

8.อธิษฐานบารมี  ตั้งใจมั่นยิ่ง ไม่ยอมถอย

9.เมตตาบารมี   มีเมตตาต่อสรรพสัตว์

10.อุเบกขาบารมี  ทำใจเป็นกลางในสิ่งทั้งปวง

แม้พระเจ้าตากสินมหาราช

แม้พระพุทธยอดฟ้ามหาราช

พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านก็คือพระองค์ผู้ทรงเชื่อมั่นด้วยศรัทธาว่าพระองค์คือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเพื่อบำเพ็ญบารมี ในชาติสุดท้ายจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ

ขอให้ไปศึกษาพระราชพงศาวดารดูลึก ๆ ศึกษาพระราชโองการ พระราชดำรัสพระราชจริยาวัตรดูเถิด ท่านล้วนแต่บำเพ็ญบารมี 10 ประการทั้งสิ้น

ท่านมิได้เคยคิดว่าชีวิตของท่าน จะสิ้นสุดลงเมื่อสวรรคตเท่านั้น ท่านเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ชีวิตของพระองค์ท่านยังต้องเวียนว่ายกลับมาเกิดอีกหลายร้อยชาติ ในชาติสุดท้ายท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ท่านทราบว่าพระพุทธเจ้าในอดีตมีมากมายหลายพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงออกพระนามไว้ก็มีอยู่ถึง 28 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้างพระพุทธรูปประธานไว้ในโบสถ์วัดอัปสรสวรรค์ถึง 28 องค์   นี่คือพระพุทธศาสนานิกายพระโพธิสัตว์ที่เป็นนิกายสยามวงศ์ มาแต่สมัยกรุงสุโขทัย

พึ่งจะมาจืดจางไปก็สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงปฏิรูปการศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย ทำให้พระพุทธศานิกายพระโพธิสัตว์ของสยามผันแปรไปในหมู่นักศึกษาพระปริยัติธรรม

แต่ในหมู่พระนักปฏิบัติและชาวบ้านทั่วไปยังไม่จืดจาง ยังเชื่อมั่นกันอยู่ในหมู่พุทธศานิกชนทั่วไป

เพราะถ้าถือลัทธิสุญญตา ชีวิตสูญสิ้นไม่มีอะไรเหลือเมื่อตายแล้ว ก็เลิกนับถือพุทธศาสนากันได้ หันไปนับถือลัทธิฮินดูกันดีกว่า เพราะลัทธิฮินดูก็ยังมีสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตสุดท้ายเป็นอมตะ คือไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ ซึ่งเป็นอมตะ

ความจริงพระนิพพานของพุทธศาสนา ก็คือพระอมตมหานิพพาน แปลว่า "พระนิพพานอันเป็นอมตะอย่างยิ่ง" ท่านไม่ว่านิพพานสูญอะไรเลย แปลกันไปอย่างเพ้อเจ้อตามประสาจินตนาการเอาเอง โดยไม่เชื่อคำตรัสของพระบรมศาสดาแท้ ๆ ว่า "พระนิพพานดับไม่เหลือ..."   ผู้เขียนเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเงิน จึงเชื่อลัทธินิกายพระโพธิสัตว์

ผู้เขียน เชื่อว่า พระนิพพาน คือ "ว่างจากเบญจขันธ์" คือว่างจากรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, 4 ขันธ์ แต่ยังมีวิญญาณขันธ์ คือว่างจากรูป แต่ไม่ว่างจากนาม ว่างจากสะสาร ไม่ว่างพลังงาน พลังงานยังมีอยู่คู่โลกธาตุนี้.

ผู้เขียนนับถือพระคาถาของหลวงปู่ทวดที่ว่า

"นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา"

ผู้เขียนเชื่อพระคาถาของผู้ปรารถนาพระโพธิญาณที่ท่องภาวนาว่า

"นะโมโพธิญาโณ ปณิธานะโต โหตุ สัพพะทา"

ผู้เขียนเชื่อถือพระคาถาของฝ่ายมหายานที่ว่า

"นะโม โพธิสัตโตมหาสัตโต อวะโลกิเตศวร"

ใครนับถือพระพุทธศาสนาลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ก็จงท่องภาวนาคาถาข้างบนนี้เถิด

ท่านจะไปเกิดใหม่ เป็นพระโพธิสัตว์ มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการสั่งสมบารมี ก็จะเกิดภพภูมิที่ดี มีความสุข ไม่ถูกข่มเหงรังแก ให้ได้ความคับแค้น ยากเข็ญในชีวิต

ตามประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น ท่านเล่ากันว่ามีหมอนวดฝีมือดีคนหนึ่งไปนวดท่าน นวด ๆ ไปก็คลำพบว่า กระดูกแขนท่อนล่างของท่านนั้น มีชิ้นเดียว ไม่มีกระดูก 2 ชิ้นคู่เหมือนกระดูกแขนของคนทั่วไป หมอนวดคนนั้นจึงจับขย้ำอยู่นาน จะถามท่านก็ไม่กล้าถาม

สมเด็จท่านจึงถามว่า "เป็นหมอนวดมากี่ปี ?"

"สิบกว่าปีแล้ว !" หมอนวดตอบ

"เคยเห็นคนมีกระดูกแขนชิ้นเดียวมั้ย ?" สมเด็จถาม

"ไม่เคยพบเลย"

"ถ้าพบก็จงรู้เถิดว่า นั่นแหละคือพระโพธิสัตว์มาบำเพ็ญบารมี"

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านก็เชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเพื่อบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

หลวงพ่อเงินท่านไม่มีรอยข้อพับที่นิ้วมือ นิ้วมือลื่นไปตลอดเหมือนลำเทียน ท่านจึงเชื่อว่าท่านคือพระโพธิสัตว์ อุบัติมาเพื่อบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งปวง

ข้าพเจ้าเคยเห็นข้อนิ้วมือของหลวงพ่อเงิน ไม่มีรอยพับนิ้วมือเรียบเหมือนลำเทียน.

 

........................................................................................

ตั้งสัตยาธิษฐาน

 

เมื่อหลวงพ่อเงิน ได้สร้างอุโบสถคอนกรีต ราคาล้านเสร็จแล้ว ก็สร้างพระประธาน ประจำอุโบสถ เมื่อสร้างพระประธานเสร็จแล้ว หลวงพ่อก็มารำพึงว่าพระปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นี้ ก็สร้างให้มาหาชนเคารพบูชาแทนองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงอยากจะได้นิลมาทำพระเนตรของพระประธานสัก 2 ดวง แต่จะได้มาจากไหนเล่า ?

วันหนึ่งหลวงพ่อจึงได้เข้าไปในอุโบสถ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วหลวงพ่อก็ตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงบารมีว่า

"ข้าพุทธเจ้า อุตส่าห์บวชอุทิศชีวิตอยู่ในพระศาสนา ก็ด้วยเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า

ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่พึ่งอื่น นอกจากพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า

ข้าพเจ้าสร้างอุโบสถขึ้นไว้ เป็นปูชนียสถานในพระพุทธศาสนา

ข้าพเจ้าสร้างพระปฏิมากรไว้สักการบูชาของมหาชน

ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้นิลมาทำพระเนตรของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชน

ด้วยสัจจวาจานี้ ถ้าหากบุญวาสนาบารมีของข้าพเจ้ามีอยู่ ถ้าหากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แห่งพระพุทธานุภาพมีอยู่จริง ขอให้ได้นิลมณีมาทำพระเนตรสมความประสงค์ด้วยเถิด"

3 วันต่อมามีคน 2 คน เดินทางมาจากทางภาคเหนือมาหาหลวงพ่อ นำเอานิลเม็ดโตมา 2 เม็ด เอามาถวายหลวงพ่อว่า หลวงพ่อจะเอาไวสร้างอะไรก็ตามใจเถิด แล้วเขาก็ลาจากไป

หลวงพ่อจึงได้นิลมณี 2 เม็ด มาทำพระเนตรพระประธานสมความปรารถนา

ครั้นแล้ว หลวงพ่อก็มานั่งพิจารณาพระประธานว่า อุตส่าห์สร้างไว้สวยงามยิ่งนัก นึกอยากได้นิลมณีมาทำพระเนตรก็ได้มาแล้ว ถ้าหากว่าได้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธองค์มาบรรจุไว้ในพระเกศด้วย ก็จะเป็นปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ น่าเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง

หลวงพ่อคิดดังนั้นแล้วก็จุดธูปเทียนบูชาแล้วก็ตั้งจิตเจตนา สัตยาธิษฐานเสี่ยงบุญบารมีอีกครั้งหนึ่ง

รุ่งขึ้นก็มีคนมาหาหลวงพ่อ ขอนิมนต์หลวงพ่อไปดูอุบาสกคนหนึ่งว่าป่วยปวดหัวเข่าทนไม่ไหว ขอให้หลวงพ่อไปช่วยเป่าให้ทีเถิด หลวงพ่อก็ไปที่บ้านอุบาสกคนนั้น ซึ่งเป็นชายชรา อายุ 70 ปีเศษ นอนอยู่ หลวงพ่อจึงเข้าไปดู เห็นหัวเข่าบวมอยู่ จึงไต่ถามอาการ เขาก็บอกหลวงพ่อว่า

เมื่อคืนก่อนเขานอนฝันว่า พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเข้าไปอยู่ในหัวเข่า ตื่นขึ้นมาก็ปวดเข่ามาก มีอาการบวม ขอให้หลวงพ่อเป่าให้ด้วย

หลวงพ่อถามว่า พระบรมธาตุจากที่ไหนมาเข้าอยู่ในหัวเข่า เขาตอบว่าเขามีพระธาตุบูชาอยู่บนหิ้งในบ้านนี้เอง หลวงพ่อจึงตั้งจิตอธิษฐาน แล้วอ่านโองการเป่าหัวเข่าของเขาให้

ต่อมาอีกวันหนึ่ง หลวงพ่อก็ไปเยียมอาการป่วยของเขา ด้วยเมตตาจิตตามปกติวิสัย ของหลวงพ่อ

เขาบอกว่า หัวเข่าหายบวมแล้ว หายปวดแล้ว

"พระบรมธาตุคงไม่อยากอยู่กับผมแล้ว ผมขอถวายหลวงพ่อไปด้วย" เขาบอก

แล้วเขาก็ไปเอาพระบรมธาตุมาถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อตรวจดูก็ทราบว่า เป็นพระบรมธาตุแท้ มีลักษณะตามตำราพระบรมสารีริกธาตุ

หลวงพ่อจึงได้พระบรมธาตุนั้นมาบรรจุไว้ในพระเกศของพระพุทธรูปประธานในอุโบสถ สมความปรารถนา

วันหนึ่งพบหลวงพ่อ ผู้เขียนจึงถามหลวงพ่อว่า

"แรงอธิษฐานมีจริงหรือ ?"

"จริง" หลวงพ่อตอบหนักแน่น

"แต่การอธิษฐานนั้น ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความสัตย์ความจริง เป็นพื้นฐานแผ่นศิลาเมื่อเอามีดขีดลงไปย่อมมีรอย ถ้าไม่มีพื้นฐานความจริงรองรับก็เหมือนเอามีดขีดลงไปบนพื้นน้ำย่อมไม่เกิดรอย...."

ความจริงนั้น เรื่องการตั้งสัตยาธิษฐานนี้ เป็นพุทธประเพณีในพระพุทธศาสนาคนไทยนับถือปฏิบัติมาช้านานแล้ว มีเรื่องปรากฏอยู่มากมาย

พระพุทธเจ้า เมื่อก่อนวันตรัสรู้ได้รับข้าวมธุปายาสจากนางสุขาดาใส่ถาดทองมาถวาย พระพุทธองค์ฉันแล้วก็ลอยถาดในแม่น้ำเนรัญชรา ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

"ถ้าจะได้ตรัสรู้พระธรรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดนี้ลอยทวนกระแสน้ำ..."

ถาดนั้นก็ลอยทวนกระแสน้ำได้อย่างอัศจรรย์ พระพุทธองค์จึงทรงนั่งประทับใต้ต้นโพธิบัลลังก์ ก็อธิษฐานว่า ถ้ามิได้ตรัสรู้จะไม่ยอมลุกขึ้นจากโพธิบัลลังก์นี้เป็นอันขาด

ครั้นแล้วในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ปีระกา ก็สำเร็จพระโพธิญาณ

พระเจ้าตากก็เสี่ยงบารมีหลายครั้ง ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ฝนแล้ง ก็เสี่ยงบารมีให้ฝนตกจนขอนลอยในป่า เข้าตีเมืองจันท์ก็เสี่ยงบารมีทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมด ไปตีเมืองนครก็ตั้งศาลเพียงตาเสี่ยงบารมีเมื่อเกิดพายุใหญ่ จนพายุเงียบสงบ

พระยาสุริยอภัย ก็เสี่ยงบารมีเมื่อเพลิงไหม้ขอให้ลมพัดหอบกลับเมื่อปราบกองทัพพระยาสรรค์บุรี สมัยกรุงธนบุรี ในรัชกาลที่ 1 เป็นกรมพระอนุรักษ์เทเวศ (ทองอินทร์)

แต่ผู้เสี่ยงบารมี จะต้องเชื่อมั่นว่าตนมีบารมีอันได้สั่งสมมา จะต้องอ้างเอาความสัตย์ความจริงมาตั้งลงเป็นฐานก่อนเสมอ ท่านจึงเรียกว่า "สัตยาธิษฐาน" (เอาความสัตย์เป็นฐานอันยิ่ง)

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสี่ยงพระบารมี เมื่อคราวตั้งธรรมยุตินิกายว่าขอให้พบพระอาจารย์ดีใน 3 วัน 7 วัน

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ก็ทรงเสี่ยงพระบารมีเมื่อผนวชว่าถ้าพระองค์จะได้ทรงผนวช ก็ขอให้สมเด็จกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ หายประชวรเพื่อจะให้พระองค์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชก็หายประชวร มานั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ สมคำอธิษฐาน.

 

.......................................................................................
สมภารพระโพธิสัตว์

 

อันว่า พระมหากษัตริย์นั้น โบราณท่านถือว่าคือพระโพธิสัตว์มาอุบัติเกิดเพื่อบำเพ็ญพระบารมี กิจการงานในหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ท่านจึงเรียกว่า "พระบรมโพธิสมภาร" แปลว่า "พระผู้มีภาระหน้าที่อยู่อย่างใหญ่หลวง สม่ำเสมอเพื่อตรัสรู้"

พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสท่านก็เรียกกันว่า "สมภาร" แปลว่า "ผู้มีภาระหน้าที่อยู่อย่างสม่ำเสมอ" เหมือนกัน

ยิ่งหลวงพ่อเงินที่ท่านเชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาสร้างบารมีด้วยแล้ว ท่านก็ต้องยอมรับภาระหน้าที่ทุกอย่างที่จะสงเคราะห์ประชาชนชาวบ้านให้พ้นทุกข์

ทุกข์ของชาวบ้านที่มีอยู่เกือบทุกผู้ทุกคนก็คือความป่วยไข้ หลวงพ่อจึงต้องกลายเป็นหมอรักษาโรค รักษาไข้ไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

สมัยก่อน โรงพยาบาล สถานีอนามัย แพทย์แผนปัจจุบันก็ยังไม่มีหมอแผนโบราณชาวบ้านก็ไม่ชำนาญอะไร รักษาก็มักจะเรียกเงินทองด้วย จึงตกเป็นหน้าที่ของสมภารเจ้าวัด ต้องกลายเป็นหมอจำเป็นในชนบทสมัยก่อนโน้น

ถึงแม้ในเวลาต่อมา จะมีโรงพยาบาล มีสถานีอนามัย หลวงพ่อได้เป็นผู้จัดตั้งสถานีอนามัยขึ้นเองในตำบวลดอนยายหอม และเป็นประธานในการหาเงินสร้างโรงพยาบาลจังหวัดนครปฐมในเวลาต่อมา แต่ก็มีโรคบางอย่างที่คนนิยมมาหาหลวงพ่อให้รักษาให้ แม้แต่บุตรของนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม คือนายแพทย์เติม วัชรเสถียร เป็นโรคชันตุ มีแผลเป็นพุพองที่ศีรษะ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มเกรอะกรัง หลวงพ่อก็เป่าอาคมรักษาให้ก็หาย

นายช้อย หงวนบุญมาก หลานของหลวงพ่อเป็นโรคผอมแห้ง ซูบซีดไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชไม่หาย หลวงพ่อรู้ก็ให้คนไปตามตัวกลับมาสั่งว่าถ้าไม่ยอมกลับให้เตือนว่า

"เรือนตายอยู่ที่วัดดอนยายหอม"

ญาติจึงไปตามตัว เอาลงเรือนกลับมาให้หลวงพ่อรักษา หลวงพ่อก็ต้มยาหม้อให้กินบ้างเสกแป้งปูนมาทาตามตัวบ้าง รักษาอยู่เดือนเศษก็หายเดินได้
รักษาคนบ้า

หลวงพ่อมีเมตตาบารมีสูง มีกระแสจิตเมตตาแรงกล้า หลวงพ่อจึงสามารถ แผ่ความเมตตานี้ทำให้จิตคนที่บ้าดีเดือดมุทะลุดุดัน ให้สงบเยือกเย็นอ่อนโยนลงได้

"ฉันสอนคน ก็สอนด้วยเมตตาจิต ฉันแผ่เมตตาต่อทุกคน กระแสจิตเมตตานั้นเป็นอานุภาพน้อมจิตให้เขาเกิดความภักดีเชื่อถือ..."

หลวงพ่อพูดอย่างนี้ หลวงพ่อไม่ใช่นักพูด หรือนักธรรมที่อธิบายตามทฤษฎีเท่านั้น แต่หลวงพ่อพูดจากการปฏิบัติ

คราวหนึ่งที่วัดห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม มีภิกษุรูปหนึ่งบันดาลโทสะ เตะเด็กวัดตกกุฏิตายไปคนหนึ่ง พระครูอุดรการบดี เจ้าอาวาสจะจับสึกส่งตำรวจดำเนินคดี แต่พระองค์นั้นไม่ยอมสึก นั่งตาขวาง แสดงอาการบ้าดีเดือด ถืออาวุธจะทำร้ายคนที่จับสึก เผอิญหลวงพ่อเงินไปที่วัดนั้นพอดี พระครูอุดรการบดีจึงเล่าให้ฟัง หลวงพ่อเงินฟังแล้วก็ยิ้ม ๆ พูดว่า ผมจะลองดู แล้วหลวงพ่อเงินก็เดินเข้าไปหาพระผู้นั้นอย่างเรียบร้อยทำท่าเหมือนพระอุปัชฌาย์จะบวชพระ พระบ้าดีเดือดรูปนั้น มองดูหลวงพ่อเฉยอยู่ไม่ทำอะไร หลวงพ่อจึงเอ่ยขึ้นว่า

"ดูก่อน ภิกษุผู้เคยเจริญมาแล้วแต่หนหลัง ฉันทราบเรื่องของเธอดีแล้ว ว่าความจริงเป็นอย่างไร ขอให้เธอจงปลงใจเสียให้ตกว่ามันเป็นกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน ตามมาล้างผลาญตัดรอน อย่าได้คิดว่าใครมาสร้างเวรให้แก่เธอ ฉันรู้ว่าเธอเคยตั้งอยู่ในธรรมวินัย ประพฤติพรหมจรรย์มาด้วยความขาวสะอาด แต่วันที่จะเกิดเหตุนั้นเกณฑ์ชะตาของเธอจะหมดวาสนาได้รับใช้พระพุทธศาสนาเพียงแค่นั้น ขอให้ตัดใจรับกรรมไปก่อน ต่อเมื่อสิ้นเคราะห์กรรมแล้ว เกิดมาในชาติใดขอให้ได้เข้าร่วมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกันอีก ลาสิกขาบทเสียเถิดนะ..."

พระภิกษุบ้าดีเดือดรูปนั้น นั่งน้ำตาไหล ก้มศีรษะลงมาหาหลวงพ่อยอมให้หลวงพ่อปลดจีวรของเขาออกแต่โดยดี

ขอให้สังเกตว่า ที่หลวงพ่อชนะใจเขาได้ เพราะเมตตาบารมีและเพราะหลวงพ่อมั่นใจในบารมีของท่านเอง หลวงพ่อต้องมั่นใจใน "ดี" ที่มีอยู่ในตัว มิฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่กล้าเข้าไปประกบกับคนบ้าดีเดือดที่มีอาวุธอยู่ในมือได้เลย

 

.......................................................................................
หลวงพ่อเงิน บอกคาถานักเลง

 

วันหนึ่ง มีนักเลงโตชื่อดัง อยู่ตำบลจินดา อำเภอสามพราน มาหาหลวงพ่อ เพื่อหาของดีคุ้มตัว เขาบอกว่า เขามักจะมีเรื่องต้องตีกับนักเลงก๊กอื่น ๆ อยู่เสมอ จึงมาหาหลวงพ่อเพื่อขอของดีไปคุ้มตัว

หลวงพ่อพูดว่า

"เอาคาถาไปใช้ดีกว่าของอย่างอื่น ขอให้จำให้ได้ขึ้นใจ ท่องภาวนาเวลาเกิดเรื่อง"

ชายนักเลงโต ก็ตั้งใจฟัง

หลวงพ่อก็บอกคาถาให้ 3 บท

"อยู่คง" ใช้เวลาเขาตีกัน เราอย่าไปเกี่ยว ให้คงที่ไว้

"ยิงไม่ออก" ใช้เวลาเขาจะยิงกัน เราไม่ออกไป

"ฟันไม่เข้า" ใช้เวลาเขาฟันกัน เราไม่เข้าไป

"ฉันรับรองว่าปลอดภัย ถ้าท่องจำได้ขึ้นใจ และปฏิบัติตามได้...."

ชายผู้นั้น จะผิดหวังหรือไม่ก็ไม่ทราบ เมื่อเขาลาจากหลวงพ่อไปในคราวนั้น

แต่อยู่ต่อมา เขาก็มาหาหลวงพ่ออีกหนหนึ่ง เข้ามากราบลงที่เท้าหลวงพ่อ เขาเล่าว่าเมื่อสองสามวันมานี้ทางบ้านมีงานบวชนาค กินเหล้ากันแล้วก็เกิดเรื่องตีกันขึ้นเขานิ่งอยู่ นึกถึงคาถาหลวงพ่อขึ้นมาได้ว่า "อยู่คง-ยิงไม่ออก-ฟัน" จึงหยุดอยู่ พรรคพวกถูกตำรวจจับไปหมด แต่เขารอดตัว จึงคิดว่าคาถาหลวงพ่อนี้ขลังจริง ๆ

 

.......................................................................................
ปริศนายาฝิ่น

 

มีชายชาวตำบลแขมคนหนึ่ง มาหาหลวงพ่อเพื่อจะขอของดี เขาพูดกับหลวงพ่อว่า คนตำบลดอนยายหอมนี้ดี บ้านเรือนเป็นปึกแผ่น ทำมาหากินได้ร่ำรวย แต่คนบางแขมยากจนไม่ค่อยมีหลักฐาน เห็นจะเป็นด้วยตำบลบางแขม ไม่มีพระของหลวงพ่อบูชา

หลวงพ่อเงิน ฟังแล้วก็ตอบว่า

"เอ้อ-โยมเอ๋ย ฉันก็สงสารคนตำบลบางแขมอยู่เหมือนกัน เพราะคนดี ๆ หายากมีแต่คนป่วยไข้ทั้งตำบล คนป่วยไข้จะทำมาหากินไม่ได้เหมือนเขา คนตำบลดอนยายหอมเขามีแต่คนดีไม่มีคนป่วยไม่เปลืองค่าหยูกยา มีแต่คนทำมาหากินจึงร่ำรวย..."

ชายผู้นั้นงง แล้วก็ถามว่า

"เอ-ผมไม่เห็นใครป่วยไข้ที่ไหน หลวงพ่อไปเอาที่ไหนมาพูดว่าเขาป่วยไข้กันทั้งตำบล ?"

หลวงพ่อหัวเราะ แล้วบอกว่า

"อ้าว-ไม่รู้หรือ ฉันเห็น เขากินยาทั้งตำบล ก็คิดว่าเขาป่วยไข้กัน ไม่ป่วยไม่ไข้ แล้วจะไปเข้ากินยาฝิ่นกันทำไมเล่าโยม..."

 

.......................................................................................
ปริศนาธรรม

 

วันหนึ่งมีชายเจ้าปัญหามาหาหลวงพ่อ เอาปริศนามาถามหลวงพ่อว่า

"สี่ น.หาม สาม น.แห่

น.หนึ่งนั่งแคร่ สอง น.นำทาง

หมายความว่าอะไร ?"

หลวงพ่อฟังจบแล้วก็ตอบว่า

"สี่ น.หามได้แก่ ร่างกายของคนเรา ประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ"

"สาม น.แห่ ได้แก่ แก่ เจ็บ ตาย คือ แห่ร่างกายไปสู่ป่าช้า"

"น.หนึ่งนั่งแคร่ ได้แก่ "จิตใจ" ของคนที่อยู่ในร่างกาย"

"สอง น. นำทาง ได้แก่ บุญ กับบาป ใครทำบุญไว้ บุญก็จะนำไปสู่สุคติ สวรรค์ นิพพาน ใครทำบาปไว้ บาปก็จะนำไปสู่ทุคติ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน..."

ชายคนนั้น ได้ฟัง ก็หายเป็นคนเจ้าปัญหา มีความสลดใจในธรรมะที่หลวงพ่อสอนเขา โดยเอาปัญหาที่เขานำมาถามกลับย้อนสอนเขาเสียเลย.

 

.......................................................................................
ปริศนาเรื่องปลาโง่

 

วันหนึ่ง พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับคณะ พร้อมด้วย นางนันทา บุญยประภัศร์ ได้พานักเรียนไปนมัสการหลวงพ่อที่วัด

มีคน ๆ หนึ่งในคณะนี้ได้ถามปัญหาหลวงพ่อว่า

"ปลาเป็นสัตว์มีชีวิต ศีลห้าก็ห้ามฆ่าสัตว์ แต่คนจับปลามาทำอาหาร ถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อฉันเนื้อปลารู้สึกอย่างไร ?"

หลวงพ่อยิ้ม ๆ ตอบว่า

"เฉย ๆ ไม่รู้สึกอะไร เพราะฉันเนื้อปลา ก็เพราะคนเขาเอามาถวาย พระก็ต้องอาศัยอาหารชาวบ้านยังชีพ มันเป็นอาหารยังชีพ ก็ฉันไปเพื่อมีชีวิตอยู่ทำประโยชน์ให้แก่โลก"

หลวงพ่อเห็นเขานิ่งเงียบอยู่จึงถามว่า

"ปลากับคนนี่ใครจะโง่กว่ากัน ?"

"ปลาโง่กว่าคน เพราะถูกคนจับมากินเป็นอาหาร"

หลวงพ่อหัวเราะน้อยๆ แล้วพูดว่า

"คนที่โง่กว่าปลานะ" หลวงพ่อว่า "ปลามันถูกคนหลอก เอาลอบ เอาเบ็ด ไปจับมันมา เพราะมันถูกหลอก แต่โยมลองไปยืนดูหน้าคุกซี ไม่มีใครหลอกเอาลอบ เอาไซ เอาเบ็ด ไปล่อไว้เลย ประตูคุกปิดตาย แต่ก็มีคนเดินเข้าคุกวันละหลาย ๆ คน"

ทุกคนได้ฟังก็พากันหัวเราะชอบใจ ในถ้อยคำของหลวงพ่อ

แล้วคนเจ้าปัญหาคนนั้นก็นิ่งเงียบไป

 

.......................................................................................
ปริศนาเฝือกสาม

 

ครั้งหนึ่ง ผู้บัญชาการเรือนจำ ได้นิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ให้นักโทษฟัง หลวงพ่อก็เทศน์ เรื่องเฝือกสามให้คนโทษฟังเป็นใจความว่า

"กิจโฏ มนุสสปฏิลาโภ = การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ นับว่าเป็นลาภอันหาได้ยากยิ่ง

กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง = การมีชีวิตรอดจากความตายมาได้นี้ก็แสนยาก

ท่านทั้งหลายทั้งหมดนี้ นับว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มีชีวิตรอดตายมาได้ จนป่านนี้ ก็นับว่าเป็นโชคอันประเสริฐแล้ว

แต่การที่พวกท่านต้องเข้ามาเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำนี้ อาจเป็นเพราะกรรมเก่าติดตามมาเบียดเบียน ตัดรอนล้างผลาญ จึงต้องเข้ามาติดเฝือก ติดลอบ ติดไซ ให้ท่านไว้ในข้องนี้ เหมือนปลาที่ว่ายเข้ามาติดเฝือก ให้เขาจับได้เอามาขังไว้

เฝือกในโลกนี้มีอยู่ 3 เฝือก

เฝือกหนึ่งคือ เฝือกความโลภ เพราะโลภอยากได้ของเขา จึงต้องติดเฝือก

เฝือกสองคือ เฝือกความโกรธ ไม่มีขันติ ความอดทน ไปตีรันฟันแทงเขา จึงต้องติดเฝือก

เฝือกสามคือ เฝือกความหลง หลงว่าทำดีแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ดี จึงต้องติดเฝือก

จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงเริ่มต้นชีวิตใหม่ ตัดเฝือกทั้ง 3 เสีย เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบังคับจิตใจ ในระหว่างนี้ขอให้ต้องอดทนสงบใจต่อสู้ไปจนกว่าจะพ้นโทษออกไปเป็นอิสระ อยู่ในโลกอันกว้างขวางต่อไป"

หลวงพ่อเทศน์ด้วยภาษาง่าย ๆ เปรียบเทียบให้เห็นไม่ต้องใช้สำนวนโวหารอะไรแต่ก็เป็นที่เข้าใจซาบซึ้งแก่คนฟัง แม้ระดับนักโทษที่มีหัวใจมืดมนก็มองเห็นแสงสว่างได้
ปาฐกถาอวดของดี

เมื่อปี พ.ศ.2496 ทางคณะสงฆ์ภาค 7 ได้จัดให้มีการตรวจข้อสอบนักธรรมสนามหลวง ที่ลานพระปฐมเจดีย์ เมื่อตรวจเสร็จแล้ว สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) สมัยเป็นพระเทพเวที รองเจ้าคณะภาค 7 ได้จัดพระภิกษุจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาค 7 ส่งผู้แทนจังหวัดขึ้นมาปาฐกถาอวดของดีในบ้านเมืองของตน จังหวัดไหนมีของดีอะไรให้นำเอามาพูดเป็นการแสดงปฏิภาณโวหารกัน เป็นที่สนุกครื้นเครงไปตามประสาของพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในวงการของท่าน

จังหวัดสุพรรณ ก็คุยว่า สุพรรณเมืองขุนแผน นางพิมพิลาไลย เป็นคนเก่งคนสวย ขุนช้างก็เป็นคนรวย ใครไปสุพรรณสามวันก็รวย ขาไปขี่ม้าขามาต้องขี่ควาย พระเครื่องผงสุพรรณก็เป็นพระดีมีค่า พระกำแพงศอกสุพรรณก็กันไฟได้

จังหวัดกาญจนบุรี ก็ลุกขึ้นมาคุยว่า มีบ่อพลอย มีน้ำตกไทรโยคไหลฉาดฉาน ไหลตระการเสียงดังจ้อง ๆ โครม ๆ มีนกยูงทอง มันร้องโด่งดังเสียงมันดังกระโต้งโห่ง ๆ แม้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินยังหลงใหลความงดงามธรรมชาติของเมืองกาญจน์

จังหวัดราชบุรี ก็ลุกขึ้นมาคุยมีคนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง ไม่มีคนโกงเหมือนเมืองเพชร ไม่มีคนเคว็ด เหมือนสุพรรณ มีถ้ำจอมพลสวยงาม

จังหวัดสมุทรสาคร ก็คุยว่ามีโป๊ะ มีปลาเป็นอาหารของชาวโลก มีพันท้ายนรสิงห์ ชื่อเสียงโด่งดัง

จังหวัดสมุทรสงคราม โดยท่านเจ้าคุณสมุทรโมลี ก็คุยว่า มีหลวงพ่อบ้านแหลม อันศักดิ์สิทธิ์ มีน้ำตาลมะพร้าว พริกบางช้าง เป็นเมืองต้นกำเนิดราชวงศ์จักรีของดีจากเมืองกาญจน์ เมืองราชบุรี ก็ไหลตามแม่น้ำแม่กลองไปรวมอยู่ที่สมุทรสงคราม

จังหวัดเพชรบุรี ก็คุยว่า มีต้นตาลมากมาย ถึงเมืองสุพรรณบุรี จะมีต้นตาลมากมายก็ยังมีน้อยกว่าเมืองเพชรบุรีอยู่อีกต้นหนึ่ง คือต้นยอดด้วน นอกนั้นก็มีข้าวเกรียบเมืองเพชร ขนมหม้อแกงเมืองเพชร เขาวังเมืองเพชร หาดเจ้าสำราญ หาดชะอำ มีถ้ำอันสวยงาม มีน้ำตกท่ายาง

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านมหารูปหนึ่งรูปร่างล่ำ ๆ ขึ้นมาคุยว่ามีหาดทรายชายทะเลหัวหิน มีหนุ่มสาวชาวกรุง นุ่งน้อยห่มน้อย ไปเที่ยวกันบางทีก็มีฝรั่งมาอาบแดดน่าดูนักหนา แม้แต่พระราชาก็ยังมาสร้างพระราชวังไกลกังวลไว้ที่เมืองนี้

พอถึงจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน แทนที่จะคัดเลือกเอาพระมหาเปรียญนักเทศน์ผู้ปราดเปรื่องคล่องแคล่วคารมโวหารดีขึ้นพูดแข่งกับเขา กลับเลือกเอาพระภิกษุแก่ชรารูปหนึ่งขึ้นมาพูด พระภิกษุแก่ชราองค์นั้น อายุ 63 ปีแล้ว คือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

หลวงพ่อเงินพระภิกษุวัยชรา ร่างใหญ่ ห่มจีวรสีคล้ำเป็นแก่นขนุนลุกงุ่มง่ามขึ้นมาหน้าไมโครโฟน พนมมือหลับตาว่าคาถาอะไรอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนั้นผู้เขียนฟังอยู่ด้วย นึกในใจว่า หลวงพ่อเงิน แย่คราวนี้เอง จะไปพูดสู้พระมหาเปรียญเขาได้หรือ ?

หลวงพ่อเงินเอ่ยขึ้นว่า

"ข้าแต่ท่านทั้งหลาย !"

ประโยคแรกเท่านั้น ที่ประชุมหัวร่อฮาลั่นเลย

"นครปฐมเป็นเมืองเก่า" (ฮา)

"เป็นเมืองของคนแก่" (ฮา)

"เขาก็เลยเลือกเอาคนแก่มาพูด" (ฮา ๆ ๆ)

"มันช่างเหมาะสมกันดีแท้ ๆ " (ฮา ๆ ๆ ๆ)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะมีพระปฐมเจดีย์" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมชื่อว่าเมืองทวาราวดี" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมเขาเรียกว่า สุวรรณภูมิ แปลว่า ทองดี" (ฮา)

"นครปฐมเป็นเมืองดี เพราะเดิมเป็นที่ตั้งของเมืองนครไชยศรี แปลว่า ที่มีชัยชนะอันดี"

(ที่ประชุมฮาตึงเลย)

"นครปฐม เป็นเมืองดี เพราะพระโสณเถระ พระอุตระเถระ อันเป็นพระสาวกชั้นดี ได้นำเอาพระพุทธศาสนาอันดี มาเผยแพร่ด้วยดี ก็เลยต้องเลือกเอาเมืองดี พระโสณพระอุตระเลือกเอาเมืองนครปฐมเป็นเมืองแรกที่เผยแพร่ของดี เมืองนครปฐมจึงต้องยืนยันว่าเป็นเมืองดี"

ที่ประชุม ฮากันอยู่นานตอนนี้

"นครปฐม เป็นเมืองดี เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันใหญ่โต และสูงที่สุดในเมืองไทยอันเราได้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ คือ พระปฐมเจดีย์ (ตอนนี้พระถึงแก่ตบมือกราวใหญ่)

ใคร ๆ ฟังแล้วก็ต้องยอมรับกันว่าเป็นปาฐกถาที่สั้นที่สุด มีสาระที่สุด น่าฟังที่สุด มีคารมคมคายเฉียบแหลมที่สุด ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วม เกิดอารมณ์ขันมากที่สุด ไม่มีปาฐกถาของผู้ใดจะเสมอเหมือน เป็นตัวอย่างของนักพูด นักปาฐกถาที่น่าศึกษาที่สุด ที่หลวงพ่อเงินใช้เวลาพูดด้วยท่วงทำนองจังหวะลีลาอันอ่อนน้อมเหมือนฟังดนตรี ด้วยน้ำเสียงอันกังวานแจ่มใสไพเราะเสนาะโสตอย่างน่าอัศจรรย์.

 

.......................................................................................
หลวงพ่อเงิน พระข้าราชการที่ดี

 

ปฏิปทา หรือการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานของหลวงพ่อเงินนั้น ถ้าหากจะติดตาม ศึกษาด้วยความสังเกตพิจารณาโดยตลอดแล้ว ก็จะแลเห็นชัดได้ อย่างหนึ่งคือ

หลวงพ่อเป็นพระข้าราชการที่ดี

คือหลวงพ่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศเวลาทั้งชีวิตอุทิศจิตใจ ทุ่มเทเสียสละมาตลอดชีวิต เพื่อช่วยชาติบ้านเมือง ช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไม่ได้หวังผลอะไรเป็นส่วนตัวในชาตินี้เลย

ถ้าหากหลวงพ่อหวังผลบ้าง ก็คือเป็นพระโพธิสัตว์ อุบัติมาสร้างบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ เพื่อจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลอีกแสนไกล ตามปณิธานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ข้าพเจ้าเคยทราบมาว่าพระศาสนาของศาสนาฮินดูองค์หนึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ที่ประสันตินิลยิม ประเทศอินเดีย ซึ่งมีคนเคารพบูชาทั่วโลก มีสานุศิษย์นับจำนวนล้านทั่วโลก ท่านผู้นี้คือ ท่านภควัน ศรีสัตยา ไสบาบา มีสาวกเป็นคนไทยก็มากมาย ท่านได้ตรัสไว้คำหนึ่งว่า

"Work is worship"

แปลเป็นภาษาไทยยาก แต่พอแปลได้ว่า

"ทำงานเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า"

หรือ

"ทำงานเพื่ออุทิศแด่พระผู้เป็นเจ้า"

หรืออาจจะแปลว่า

"ทำงานเพื่องาน"

หรือ

"ปฏิบัติงานเพื่อการปฏิบัติธรรม"

อะไรทำนองนี้

หมายความว่า ทำงานโดยไม่หวังผลบุญ ไม่หวังความดีความชอบตอบแทนด้วยลาภ ทาน สักการะ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง เกียรติ คำสรรเสริญเยินยอ เพื่อหาพรรคหาพวก หาลูกศิษย์ ลูกหา คนเคารพนับถืออะไรทั้งสิ้น

เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสละราชสมบัติ สละมเหสี สละราชโอรส ออกผนวช เพื่อตรัสรู้พระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วก็ทรงพระอุตสาหะวิริยะภาพเสด็จด้วยพระบาทเปล่า เที่ยวเผยแพร่พระธรรมจนตลอดพระชนมชีพนั้นแหละ

หลวงพ่อเงินก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระบรมศาสดา สละบ้านเรือน ออกบวช อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา

ทำตนเป็นข้าราชการที่ดี ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความอุตสาหะวิริยะภาพมิได้ย่อหย่อน วางใจเป็นกลางได้ ในคนจน คนดีคนชั่ว ทำหน้าที่โดยเที่ยงตรง ตรงไปตรงมา ไม่คกเคี้ยว ไม่มีเล่ห์กระเท่ ไม่มีมารยาสาไถยอะไรเลย ทั้งภายนอกภายในไม่มีอะไรซ่อนเร้นปิดบัง ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความขาวสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีใครจะผิดตาผิดใจ สงสัยแคลงใจอะไรได้เลย แม้แต่น้อย

แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็หาใช่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความปลอดโปร่งไร้อุปสรรค ไม่มีผู้ขัดขวาง ไม่มีผู้ลองดีก็หาไม่ แต่ด้วยความสัตย์ความจริง ความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ จึงดำเนินชีวิต ปฏิบัติหน้าที่มาได้โดยตลอด
หลวงพ่อไม่ใช่พระอรหันต์

คราวหนึ่งมีคนแก่เรียนแก่ปัญหา เข้ามาหาหลวงพ่อแล้วก็ตั้งปัญหาถามว่า

"ทำไมพระภิกษุสมัยนี้จึงไม่มีใครสำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนครั้งพุทธกาล ?"

คล้าย ๆ จะพูดเป็นเชิงสบประมาทว่าหลวงพ่อเงินนี้ถึงจะเก่งยังไง ก็ไม่ใช่พระอรหันต์

หลวงพ่อตอบเรียบ ๆ ว่า

"คนสมัยนี้กับคนโบราณแตกต่างกันด้วยธรรมชาติ คือคนสมัยโบราณร่างกายแข็งแรงกว่า จิตใจเข้มแข็งกว่าคนสมัยนี้

ข้อสอง ศรัทธา ความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีศรัทธาเชื่อมั่นมากกว่าคนสมัยนี้

ข้อสาม สติปัญญา คนสมัยก่อนมีสตินำหน้า มีปัญญาตามหลัง คนสมัยนี้มีปัญญานำหน้า มีสติตามหลัง มีความคิดอันฟุ้งซ่าน แต่ไม่มีสติกำกับใจของตนเอง

ข้อสี่ ความเพียร คนสมัยก่อนมีความเพียรมากกว่าคนสมัยนี้และมีขันติ ความอดทนมากกว่าคนสมัยนี้

หลวงพ่อไม่ได้รับสมอ้างว่าสำเร็จโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคลอะไรเลย แต่พูดตามตรงว่า คนสมัยนี้สู้คนสมัยก่อนไม่ได้ในเรื่องคุณสมบัติที่จะเป็นพระอรหันต์.
ทำนอกรีต

คราวหนึ่ง มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่งตัวภูมิฐานแบบขุนนางสมัยเก่า เดินอย่างสง่าเข้าไปหาหลวงพ่อ เมื่อเชิญให้นั่ง เขาก็เอ่ยขึ้นมาว่า

"นี่ท่านเป็นหมอด้วยหรือ เห็นมีหยูกยาเยอะแยะ ?"

"อาตมาไม่ได้เป็นหมด ยาที่มีอยู่นี้ มีไว้ใช้เองยามป่วยไข้ แต่ถ้าชาวบ้านมาขออาตมาก็แจกไปเป็นทาน"

"อ้าวก็เมื่อท่านไม่มีวิชาทางการแพทย์แล้ว จะแจกยาส่งเดชไปได้ยังไงคนไข้เอาไปกินผิดหยูกผิดยา เป็นอันตรายเกิดตายขึ้นมาจะไม่ผิดกฎหมายรึ ท่านทำนอกรีตแล้วละ"

"ถึงแม้อาตมาจะทำนอกรีตนอกลู่นอกทางก็ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร มีแต่เจตนาดีจะข่วยเขา จึงไม่ถือว่าผิดศีลธรรมผิดวินัย"

"กฎหมายนั้นถึงจะวางบทไว้อย่างไร แต่ก็ไม่เคยช่วยคนไข้คนป่วยในตำบลนี้ เท่าที่อาตมาเคยช่วย"

"นายแพทย์และยาหลวง ก็มีอยู่แต่ในเมือง ช่วยได้แต่คนในเมือง"

"ส่วนคนในตำบลนี้ รัฐบาลก็ไม่เคยช่วย ไม่ได้ตั้งสุขศาลาขึ้น ไม่มียา ไม่มีแพทย์ คนที่ยากจนก็ต้องยอมตายอยู่กับบ้านกันทั้งนั้น"

"อาตมาเห็นว่า เพื่อนมนุษย์ตาดำ ๆ ป่วยไข้ได้ทุกข์ต้องช่วยกันไปตามมีตามเกิด จะว่าอาตมาทำผิดกฎหมายก็ยอมละ แต่จะให้อาตมาผิดศีลผิดธรรมยอมนิ่งดูดาย ไม่ช่วยเหลือคนอื่นนั้นอาตมาทนอยู่ไม่ได้"

"อาตมานึกอยู่เสมอว่า ตำรายาของอาตมาไม่ใช่ตำรายาพิษ หากเป็นยาพิษ บรรพบุรุษของอาตมาคงไม่สืบอายุกันมาถึงอาตมาได้ คงตายกันหมดสิ้นไปแล้ว"

"อ้ายไข้ต่าง ๆ นี่ ท่านรู้หรือเปล่าว่า มันมีอยู่กี่ร้อยกี่พันชนิด ?"

"มี 3 ชนิด"

"เอ๊ะ โรคอะไรของท่านมี 3 ชนิด ?"

"หนึ่งโรครักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย

สองรักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย

สามโรครักษาจึงหาย"

ชายผู้นั้นนิ่งไปสักครู่ แล้วถามต่อไปอีก

"ที่ท่านรดน้ำมนต์ไล่ผีนั้นน่ะ ท่านเชื่อหรือว่าผีมีจริง ?"

"ผีมีจริง"

"รู้ได้ยังไงว่าผีมีจริง ?"

"พระพุทธเจ้าบัญญัติว่าภิกษุองค์ใดผีเข้าสิงไม่ต้องทำสังฆกรรม ผีเข้าสิงภิกษุเวลาสวดพระปาฏิโมกข์ให้หยุดสวดพระปาฏิโมกข์ได้ ก็ต้องเชื่อว่าผีมีจริง เหมือนที่เขาว่าพระพุทธเจ้ามีจริง"

หลวงพ่อสำทับว่า

"ถ้าเราไม่เชื่อพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็เท่ากับเราไม่เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า เท่ากับเราไม่มีศาสดา"

ชายผู้นั้นเขาว่าเป็นเจ้าเมืองนครปฐมสมัยนั้น มีศักดิ์เป็นพระองค์เจ้ามีพระนามว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ภายหลังก็มาเป็นสานุศิษย์ของหลวงพ่อเงิน

ลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน จึงมีพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพย์อาภา พระองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองนครปฐม.

 

.......................................................................................
บาทหลวงถอยทัพ

 

ตำบลดอนยายหอม เป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่ง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่จำนวนมาก และค่อนข้างจะมีฐานะเป็นปึกแผ่นไม่ยากจน จึงเป็นที่หมายตาของคณะคาทอลิค ตั้งใจจะไปโบสถ์คริสตัง เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่นั่นเหมือนที่เคยตั้งสำเร็จมาแล้วในท้องที่อื่น ๆ ในจังหวัดนครปฐม แต่บาทหลวงเหล่านี้เขามักจะมีความรอบคอบ มีการสำรวจ วางแผน อย่างมีขั้นตอนตามลำดับ ก่อนจะตั้งโบสถ์ที่ไหน เขาจะต้องสำรวจพื้นที่ และสำรวจศาสนาอื่นที่มีอยู่แล้วว่า มีความมั่นคงคลอนแคลนอย่างไร มีใครเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนในท้องถิ่นนั้น

ครั้งหนึ่ง มีบาทหลวงคนหนึ่ง ได้เดินทางไปสำรวจศึกษาดอนยายหอมแล้วได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่วัดดอนยายหอม ได้พบและสัมภาษณ์หลวงพ่อเงินเป็นการหยั่งดูท่าทีก่อน

"ศาสนาต่าง ๆ ในโลกนี้ ถ้าพูดอย่างเป็นธรรมแล้ว ท่านเห็นว่าศาสนาไหน ดีที่สุด ดีในแง่ไหน ?"

หลวงพ่อเงินตอบว่า

"อาตมาไม่มีความรู้ในเรื่องศาสนาอื่น แต่อาตมาสันนิษฐานว่าไม่ว่าศาสนาใด ก็ดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าผู้ต้นบัญญัติพระศาสดาไม่ดีแล้ว คงไม่มีมหาชนนับถือศาสนาของเขา ศาสนาจึงดีเท่า ๆ กัน เพราะสอนให้คนเป็นคนดีมีความรู้ ฉะนั้น คนที่นับถือศาสนาอะไร ก็ควรจะเรียกว่าเป็นคนดี คือเป็นคนมีศาสนา"

 

บาทหลวงคนนั้น ไม่พบจุดอ่อนหรือปมด้อยของหลวงพ่อเงินเลย จึงถอยทัพกลับไปไม่มาตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาในตำบลดอนยายหอม

คริสตังมานับถือพุทธ

 

 

เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน อัยการจังหวัดนครปฐม ควรจะถูกบันทึกไว้ในเรื่องนี้ด้วย เพราะเจ้าพงศ์ธาดา ผู้นี้เดิมนับถือศาสนาคริสต์อยู่ก่อน เมื่อมาเป็นอัยการจังหวัดนครปฐม ก็ได้เดินทางไปวัดดอนยายหอมด้วยธุระราชการ ได้สนทนากับหลวงพ่อ ได้พูดถึงหลักธรรม ในศาสนาได้เห็นบุคลิกลักษณะอันน่าเคารพของหลวงพ่อ ได้เห็นธรรมะอันมีค่าอยู่ในตัวหลวงพ่อ เช่น พรหมวิหารธรรม ความเมตตา ความกรุณา มุทิตาจิต และอุเบกขาธรรม อันมีอยู่ในจิตใจ ของหลวงพ่อ เขาจึงเปลี่ยนใจมานับถือศาสนาพุทธได้ปฏิญาณเป็นพุทธมามกะ ต่อหน้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อหน้าหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอมนั้นเอง

บุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนบำรุงวิทยา อันเป็นโรงเรียนของคริสตัง และเขานับถือคริสต์ศาสนาอยู่ก่อน ได้ไปโต้ตอบธรรมะกับหลวงพ่อเงินอยู่ก่อน แต่แล้วก็ยอมแพ้อย่างศิโรราบ คือ ขอเข้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ที่วัดดอนยายหอม ยอมให้หลวงพ่อเงิน โกนหัว บวชให้เลยทีเดียว บวชอยู่จนตลอดชีวิต

สองท่านนี้แหละคือเครื่องยืนยันว่า หลวงพ่อเป็นข้าราชการที่ดีของพระพุทธเจ้า รับราชการอยู่ในฝ่ายพุทธจักร

ไม่หนีชั่วไม่กลัวตาย

เป็นประเพณีของสมภารเจ้าวัดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไป คือเมื่อวัดใดสร้างอุโบสถขึ้นสำเร็จแล้ว จะทำพิธีฝังลูกนิมิต สมภารเจ้าวัดนั้นจะต้องหลีกหนีออกไป ให้ไกลสุดเสียงกลอง เมื่อเวลาทำพิธีผลักลูกนิมิตลงหลุม สมภารเจ้าวัดองค์ใดขืนอยู่ร่วมในพิธีนันจะต้องอาถรรพ์ลงหลุมเหมือนลูกนิมิต คือจะถึงกาลมรณภาพไปสู่พรหมโลก เพราะเทวดาได้เล็งเห็นแล้วว่า สมภารเจ้าวัดองค์นั้นได้กระทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ไว้ในพุทธศาสนาเสร็จสิ้นหมดกิจแล้ว ไม่สมควรจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป จำเป็นจะต้องอัญเชิญวิญญาณไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหมโลก สมภารเจ้าวัดทั่วไป ก็เชื่อถือคตินี้ สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล สมภารวัดใดใจแข็งดื้อไม่ยอมหลีกหนีออกไปญาติโยมก็จะจัดการนิมนต์ให้ออกไปให้สุดเสียงกลองจนได้ ถึงแก่แบกขึ้นบ่าให้ขี่คอออกไป

แต่กลับปรากฏว่า หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม ไม่ยอมปฏิบัติตามประเพณีโบราณเมื่อวัดดอนยายหอมมีงานฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ.2492 อย่าว่าแต่จะยอมออกไปให้สุดเสียงกลองเลย หลวงพ่อกลับเข้าร่วมทำพิธีทำสังฆกรรมสวดมนต์ แล้วก็ลงมือผลักลูกนิมิตลงหลุมเองเรียบร้อย ยังความพิศวงสงกาแก่ประชาราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งสมภารเจ้าวัดที่ไปร่วมพิธีในครั้งนั้น ว่าหลวงพ่อช่างไม่รักตัวกลัวตายเสียดายแก่ชีวิตบ้างเลย ช่างกล้าฝืนประเพณีแต่โบราณ ที่เชื่อถือกันมาช้านานหนักหนา

คราวนั้นท่านสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) สมัยยังเป็นพระธรรมปิฎก ได้ไปร่วมในพิธีด้วย ท่านก็ทราบประเพณีนี้ดี จึงได้ถามหลวงพ่อว่า ท่านถือหลักปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้

หลวงพ่อตอบว่า

"ผู้บัญญัติในเรื่องนี้ อาจแยกออกได้ 2 อย่าง คือ ถ้าไม่ฉลาดเลิศก็ต้องโง่งมงาย"

"ฉลาดเลิศ หรือโง่งมงายอย่างไร ?"

"ฉลาดเลิศเพราะเป็นเพียงนโยบายอันหลักแหลม ที่จะให้สมภารบางองค์ที่ไม่บริสุทธิ์ในศีล และเป็นที่รังเกียจของภิกษุในอาราม ไม่ให้เข้าร่วมในพิธีสังฆกรรมอันสำคัญนี้ จนถึงแต่ต้องออกกลวิธีไล่ออกไปเสียจากพิธีทางอ้อม บัญญัติขึ้นเพื่อไล่สมภารที่ศีลไม่บริสุทธิ์ออกไปเท่านั้นเอง"

"ที่ว่าโง่งมงาย ก็เพราะว่าสมัยก่อนนี้ มักจะหนักไปทางเชื่อถือมากจนขาดเหตุผลเชื่อว่าทำบุญสร้างโบสถ์เป็นบุญอย่างเยี่ยมยอดในโลกมนุษย์ จนผู้ทำจะอยู่เป็นมนุษย์ต่อไปไม่ได้ ความจริงถ้าหากว่าการทำความดีถึงขนาดแล้ว จะทำให้เสียชีวิตก็เชื่อว่า ไม่มีนักบุญคนใดที่จะอุทิศชีวิต เพื่อความดีจะต้องหวาดกลังเลย เพราะพระพุทธศาสนาก็สอนว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนของเรา แล้วจะมากลัวอะไรเล่ากับความตาย

อีกอย่างหนึ่ง การทำบุญสร้างโบสถ์ก็จัดว่าเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอันสูงส่ง ไม่น่าจะบัญญัติว่าการทำความดีจะได้ชั่ว คือทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตของผู้กระทำบุญนั้น จะว่าตายไป เกิดเป็นพระพรหมเป็นของดีก็ไม่ใช่ เพราะว่าชีวิตของใคร ๆ ก็รัก อยากจะมีอายุยืนยาว พระพุทธองค์ก็ทรงบัญญัติพร 4 ประการไว้ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ดังนั้นผมจึงไม่เชื่อ"

ดูเหมือนว่านับแต่นั้นมาสมภารเจ้าวัดทั้งหลายรู้เรื่องนี้แล้ว ก็เลิกเชื่อถือเรื่องนี้กันต่อมา โดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ปฏิวัติความเชื่อถือเรื่องนี้เป็นองค์แรก

หลวงพ่อเชื่อมั่นว่า ทำดีต้องได้ดี ไม่ใช่ว่าทำดีที่สุด แล้วจะต้องตาย

หลวงพ่อเชื่อมั่นในศีลของตัวท่านเองว่าบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีด่างพร้อย ไม่ต้องหนีชั่วเพราะกลัวตาย หรือไม่ต้องหนีตาย เพราะเป็นชายชั่ว เพราะไม่ได้ทำชั่วจึงไม่กลัวตาย

ความจริงเป็นอย่างนี้ต่างหากเล่า
คนชั่ว กลัวหลวงพ่อแช่ง

ความจริงนั้น คนบาป คนชั่ว กลัวหลวงพ่อ เพราะเขารู้ว่าหลวงพ่อเป็นพระบริสุทธิ์ ปากศักดิ์สิทธิ์ เขากลัวหนักหนาคือว่า กลัวหลวงพ่อสาปแช่ง ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อไม่เคยแช่งใคร ยิ่งเขารู้ว่าไม่เคยแช่งใครเขาก็ยิ่งกลัวว่า ถ้าหลวงพ่อแช่ง เขาเจ๊งแน่ ๆ เรื่องนี้มีตัวอย่างหลายเรื่อง

เรื่องหนึ่งก็คือ มีคน ๆ หนึ่ง เป็นคนเกเรมากมีคนบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อก็พูดปรารภว่า

"เขาเป็นคนบาปหนา ห้ามเขาไม่เชื่อหรอก ไม่ช้าเขาก็ติดคุก"

อยู่ต่อมาไม่นาน นายคนนั้นไปคบเพื่อนโจรเอาคนมาปล้นบ้านชาวบ้านถูกตำรวจจับไปติดคุก คนก็รู้กันทั่วไป เป็นเรื่องแรกว่า หลวงพ่อปากศักดิ์สิทธิ์นัก
เถ้าแก่เสียงก็กลัว

คราวหนึ่ง เถ้าแก่เสียง เจ้าของโรงสี ได้ออกหวยจับยี่กีขึ้น มีคนแทงหวยกันมาก รู้ถึงหูหลวงพ่อก็เดินไปเยี่ยมเถ้าแก่ถึงโรงสี ถามถึงทุกข์สุขการทำมาหากิน

"คนที่มีปัญญาหากิน และขยันอย่างเถ้าแก่เสียง ไม่มีวันจนแน่นับวันมีแต่จะมั่งคั่งร่ำรวย"

หลวงพ่อพูดไปเรื่อยๆ

"คนบ้านนี้เขารักใคร่นับถือเถ้าแก่เพราะเป็นคนดีมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"

เถ้าแก่ดีใจมากที่หลวงพ่อมาเยี่ยมถึงบ้าน แล้วก็ชมเชยให้ศีลให้พร

"เขาลือกันหนาหูว่า เถ้าแก่ออกหวยจับยี่กี ฉันไม่เชื่อหรอก คนรวย ๆ อย่างเถ้าแก่ จะมาตั้งบ่อยออกหวยจับยี่กี จะคิดสั้นอย่างนั้นเชียหรือ ?"

หลวงพ่อพูดต่อไป

"เพราะถ้าคนบ้านนี้เล่นหวยกัน เขาก็ต้องพากันยากจน ก็จะกลายเป็นคนลักขโมยปล้นสะดม เถ้าแก่ก็จะถูกปล้น"

แล้วหลวงพ่อก็เทศน์ว่า

"ถ้าเถ้าแก่คิดจะตั้งบ่อนจริง ๆ ฉันก็ขอร้องว่าเลิกเสียเถอะ ถ้าเถ้าก็ไม่ยากจนหมดทางหากินอย่างอื่นแล้ว ฉันก็จะไม่ขอร้องให้เลิกเลย"

ตั้งแต่วันนั้นมา หวยจับยี่กีก็เลิกออก

เถ้าแก่เสียงพูดว่า

"แหม-อั้วอายหลวงพ่อแท้ ๆ อีว่าอั้วหมดปัญญาหากินแล้วออกหวยจับยี่กี"

แต่ที่จริงเถ้าแก่เสียงกลัวถูกปล้น ตามคำของหลวงพ่อ

เถ้าแก่เสียงจะถูกปล้นจริง ๆ ด้วย ถ้าไม่เลิกออกหวยจับยี่กี

 

.......................................................................................
พระแม่คงคาก็กลัว

 

เมื่อปี พ.ศ.2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ น้ำท่วมจากถนนราชดำเนิน พายเรือเล่นได้ นครปฐมก็ท่วมไร่นาเสียหายทั่วไป ต้องขนย้ายวัวควายไปอยู่ตามถนนหนทาง วัว ควาย หมู หมา ไก่ ก็ถูกภัยน้ำท่วมล้มตายกันมาก หน้าที่ว่าการอำเภอกำแพงแสน ก็น้ำท่วมจนต้องพายเรือไปอำเภอ

แต่น่าประหลาดปีนั้น น้ำไม่ท่วมวัดดอนยายหอม น้ำไหลอ้อมไปทางบ่อตะกั่ว โคกพระเจดีย์ ไปทางบางแขม บางแพ

คนจึงเล่าลือกันต่อ ๆ ไปว่า หลวงพ่อเงินแสดงปาฏิหาริย์กันน้ำท่วมได้ มีคนไปถามหลวงพ่อเงินว่าจริงหรือเปล่า หลวงพ่อตอบว่า

"ฉันจะไปกั้นน้ำได้หรือ ? ความจริงฉันได้ให้เด็กพายเรือออกไปดูน้ำว่าไหลแรงแค่ไหน ท่วมไร่นาเสียหายไปเพียงไร ในระหว่างที่แล่นเรือไป ฉันก็เป็นห่วงชาวบ้านดอนยายหอม จึงได้ตั้งใจอธิษฐานว่า ขออย่าให้น้ำท่วมข้าวปลาของคนดอนยายหอมเลย ถ้าชาวบ้านยากจนโบสถ์ที่สร้างไว้ จะสำเร็จช้าออกไป เพราะไม่มีใครจะทำบุญ เป็นการเผอิญที่น้ำไหลออกตำบลดอนยายหอมไปได้จริง ๆ"

หลวงพ่อไม่ได้คุยรับสมอ้างอะไร แต่หลวงพ่อบอกว่าเป็นห่วงผู้คน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้น้ำท่วมเลย พระแม่คงคากลัวว่า โบสถ์หลวงพ่อจะสำเร็จช้า จึงไหลอ้อมตำบลดอนยายหอมไป ไม่ท่วมเหมือนตำบลอื่น ๆ

แต่ข่าวเล่าลือกันไปทั่วว่า หลวงพ่อมีบุญบารมีคุ้มครองป้องกันภัยน้ำท่วมก็ได้

แม้แต่พระแม่คงคายังเกรงใจ คนทั้งหลายจะไม่เกรงใจหลวงพ่ออย่างไร

เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก เพราะพระเจ้าตากสินท่านยังตั้งพิธีขอให้ฝนตกฤดูแล้ง จนน้ำท่วมขอนลอยในป่า สมัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ทหารอดน้ำ ท่านกลับตอบว่า

"อย่าปรารมภ์เลย คืนนี้พ่อจะให้ฝนตกลงมาให้จงได้"

ครั้นแล้วก็โปรดให้ตั้งศาลเพียงตา บวงสรวงสังเวยเทพยดา อ้างเอาบุญบารมีที่เคยสั่งสมแต่ปุเรชาติ จงมาเป็นพลังคุ้มครองปกป้องไพร่พลขอให้ฝนตกมาในคืนนี้ให้จงได้

คืนนั้นเพลาห้าทุ่มเศษ ฝนก็ตกใหญ่จนน้ำท่วมนองในป่า จนขอนลอยไปในป่านั้น

พระโพธิสัตว์ย่อมอุบัติมาบำเพ็ญพระบารมีเป็นที่พึ่งแก่ฝูงสัตว์ทั้งหลายในแผ่นดินโลกมนุษย์นี้ ท่านจึงอธิษฐานจิตเพื่อคุ้มครองปวงสัตว์ได้จริง อย่าได้ วิจิกิจฉา อะไรเลย

 

.......................................................................................
บารมีแผ่ไพศาล

 

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงสอนเรื่องสันโดษให้พอใจในสิ่งที่มีที่ได้ที่เป็นที่เราแปลกันว่า "มักน้อย" อันที่จริงแปลไม่ตรงความหมายแท้ของคำสอนนี้ทีเดียว ต้องศึกษาทำความเข้าใจกันให้ถ่องแท้ต่อไป เพราะพระพุทธองค์นั้น ไม่เคยทรงสันโดษในบุญกุศล หรือคุณความดีเลย พระองค์มีพระหทัยเหมือนทะเล ไม่อิ่มน้ำ ในเรื่องการบำเพ็ญบุญกุศล ไม่เคยหยุด ไม่เคยพอเลย ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา พระองค์ไม่เคยหยุดพักการโปรดสัตว์แม้วันสุดท้าย จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่แล้วยังโปรดให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้า เพื่ออุปสมบทให้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายในวันเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเอง

ถ้าดูปฏิปทาของหลวงพ่อเงิน ก็ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทพระบรมศาสดาเหมือนหลวงพ่อทำงานตามหน้าที่ตลอดเวลา ไม่มีพัก ไม่มีหยุด ไม่มีย่อท้อ ไม่มีเบื่อหน่าย ยินดีในการสร้างบุญสร้างกุศลอยู่ตลอดเวลาจับงานทำงานรับทำ อยู่ตลอดเดือน ตลอดปี รับแขกอยู่ตลอดวัน รับนิมนต์ไปทำกิจอยู่ตลอดปี จนมองดูกว้างขวางออกไปทุกที ๆ จะพรรณนาไปก็ไม่หมดสิ้น เพระไม่มีใครติดตามจนจำได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่อง คงพูดกันได้เขียนได้ เล่ากันได้เฉพาะเรื่องที่รู้เห็นเท่านั้น เพราะหลวงพ่อบวชมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2453-2519 รวมเวลา 66 ปี นับว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมากเหลือกำลังที่ใครผู้ใดจะติดตามจดจำมาเล่ากันได้หมดสิ้น เพราะหลวงพ่อทำงานให้แก่พระศาสนามาตลอดเวลา 66 ปีนั้น ไม่เคยหยุดเลย ไม่เคยพักเลย

งานที่หลวงพ่อทำนั้น ถ้าหากจะแยกประเภทออกไปตามหลักของกิจการพระสงฆ์ก็คงจะได้ 10 อย่างคือ

1.การบริหาร   หรืองานปกครองพระสงฆ์

2.สาธารณูปการ หรืองานการบูรณะปฏิสังขรณ์ หรืองานก่อสร้างอาคารวัตถุ

3.การศึกษา   หรืองานด้านพระปริยัติธรรม

4.การเผยแผ่   หรืองานเผยแพร่พระศาสนา

5.การสังคมวัฒนธรรม   คืองานที่เกี่ยวกับเรื่องสังคมท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณี

6.การอุปสมบท    ให้กุลบุตร ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา

7.การช่วยราชการ   คืองานช่วยบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ เช่นทำถนนสร้างโรงเรียน

8.การพระธรรมวินัย   คือการรักษาศีล รักษาธรรม ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน

9.การสงเคราะห์ประชาชน  ในด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การรักษาความสงบ ความปลอดภัย

10.งานเบ็ดเตล็ดอื่น  อันเป็นเรื่องปลีกย่อย และนอกเหนือหน้าที่ เช่น งานเจิมรถ เจิมป้าย งานพุทธาภิเษก งานของทางราชการต่างๆ งานของเอกชน ที่มาขอร้องให้ช่วย

งานทั้ง 10 ประเภทนี้ หลวงพ่อรับทำ รับธุระ เอามาเป็นภาระธุระทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเบื่อหน่าย ไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยออกปากบ่นเลย

บารมีหลวงพ่อจึงแผ่ไพศาลครอบคลุมไปทั่วบ้านเมือง

 

.......................................................................................
สร้างอาคารเรียนราคาล้าน

 

เมื่อ พ.ศ.2496 หลังจากสร้างอุโบสถเสร็จได้ 3 ปีเต็ม หลวงพ่อก็เริ่มงาน ก่อสร้างใหม่อีก ได้เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารเรียนประชาบาล ขนาดใหญ่ เป็นตึกคอนกรีตตามรูปแบบรูปของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เป็นตึก 2 ชั้น ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร 18 ห้องเรียน ไม่ใช่ตกก่ออิฐถือปูนธรรมดาแต่เป็นตึกเทคอนกรีตทั้งหลัง หลังคาทรงไทยสวยงาม นับเป็นอาคารเรียนตึกคอนกรีตหลังแรกของจังหวัดนครปฐม ไม่มีสมภารเจ้าวัดองค์ใดจะกล้าหาญชาญชัยทำการก่อสร้างตึกขนาดนี้มาก่อน แม้โรงเรียนมัธยมของรัฐบาล ก็ยังไม่มีขนาดนี้ อาคารเรียนหลังนี้ได้รับเงินงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 200,000 บาทโดยพลอากาศเอก หลวงเชิดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดวุฒากาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น ได้ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม เมื่อเห็นกำลังลงมือทำการก่อสร้างอยู่ก็ได้สอบถามหลวงพ่อว่าสร้างด้วยเงินอะไร สิ้นเงินไปเท่าไร เมื่อทราบว่าไม่ได้เงินงบประมาณเลย ก็รับปากว่าจะจัดสรรเงินงบประมาณให้ 400,000 บาท แต่เมื่อกลับไปแล้วก็จัดสรรเงินมาสมทบทุนก่อสร้างได้เพียง 200,000 บาท หลวงพ่อได้ทำการก่อสร้างคิดเป็นค่าวัสดุที่จำเป็นต้องซื้อ เช่น หิน ทราย เหล็ก ปูน ประตู หน้าต่าง และตัวไม้อื่น ๆ ประมาณ 1,600,000 บาท ในสมัยนั้น ส่วนค่าแรงนั้น ชาวตำบลดอนยายหอมได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำงาน ขุดหลุม ตอกเข็ม ขนดิน ขนทราบ แบกหาม โดยไม่คิดค่าแรงงานเลย จนแล้วเสร็จ อาคารเรียนหลังนี้ ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐมสมัยนั้นได้ตั้งชื่อว่า "โรงเรียนหลวงพ่อเงินอุปถัมภ์" เป็นอาคารเรียนที่ชาวตำบลดอนยายหอมภาคภูมิใจมาก เพราะได้ลงมือสร้างร่วมบุญรวมกุศลกับหลวงพ่อ ทั้งบริจาคเงินและแรงงานโดยมีหลวงพ่อเป็นประธานในงานบุญนี้ เป็นอาคารซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดี และพลังแห่ง ความรักสามัคคีของผู้คนจำนวนมาก สมกับพระพุทธวัจนะ แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า

พลัง สังฆัสสะ สามัคคี

(สามัคคีก่อให้เกิดพลังแก่หมู่คณะ)

สุขา สังฆัสสะ สามัคคี

(สามัคคีก่อให้เกิดความสุขแก่หมู่คณะ)

แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีแกนแห่งความสามัคคี สามัคคีจะก่อให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีแกนรวมน้ำใจ และแกนแห่งความสามัคคีนั้นก็คือบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมมา ด้วยพลังแห่งศีล พลังแห่งธรรมหลายสถาน เช่น เมตตาธรรม เป็นต้น หลวงพ่อเงินคือ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติดังว่านี้ คนทั้งหลายจึงเชื่อมั่นว่า หลวงพ่อเงินคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาเกิดเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

 

.......................................................................................
สร้างสถานีอนามัย

 

ก่อนหน้านี้หลังจากสร้างอุโบสถ เป็นตึกคอนกรีตเสร็จลงใน พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นโบสถ์คอนกรีตหลังแรกในจังหวัดนครปฐม ราคาล้านนั้นแล้วก็มาสร้างตึกคอนกรีตอาคารเรียน ยาว 2 เส้น จนแล้วเสร็จอีกเมื่อ พ.ศ.2496 นั้น ช่วง 3 ปี ที่เว้นว่างนั้น ที่จริง มิได้เว้นว่างเลยเพราะหลวงพ่อได้สร้างสถานีอนามัยขึ้นข้างวัดดอนยายหอมหลังหนึ่ง โดยหลวงพ่อได้จัดซื้อที่ดิน ติดต่อวัดทางด้านใต้ขยายออกไปอีก 1 ไร่ นายอยู่ ด้วงพูล พี่ชายของหลวงพ่อได้บริจาคเงินให้ครั้งหนึ่ง นอกนั้นยังมีผู้ขายบ้านและถวายห้องแถวให้ ชาวตำบลดอนยายหอมก็ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ช่วยแรงงาน สร้างสถานีอนามัยจนสำเร็จ ในปี พ.ศ.2495 เมื่อทำพิธีเปิดป้ายและมีงานฉลองก็มีคณะกรรมการ จังหวัด เช่น ขุนเชาว์ปรีชาศึกษากร ศึกษาธิการจังหวัด และนายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการอำเภอมาร่วมงานด้วยมาก แม้ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตอะไรมากนักแต่ก็เป็นสถานที่อำนวยความสุขให้แก่ประชาชน ตำบลดอนยายหอม ชาวตำบลนี้จึงถือว่าหลวงพ่อเงินเกิดมาเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนตำบลนี้ จึงมีแต่ความเคารพบูชา จงรักภักดี โดยทั่วหน้า

ข้าพเจ้าเคยไปนั่งอยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อ ขณะที่หลวงพ่อยังไม่โผล่หน้าออกมานั่ง มีชายคนหนึ่งแสดงอาการมึนเมาส่งเสียงพูดดังลั่น เอะอะอยู่ พอหลวงพ่อโผล่หน้าออกมาเท่านั้นชายขี้เมาคนนั้นจึงเงียบกริบ ไม่กระดุกกระดิกเลย มองเหมือนตุ๊กตาจีนทาหน้าสีแดงเรื่อ ๆ แม้แต่คนขี้เมายังรู้สึกตัวเกรงกลัวหลวงพ่อเหมือนถูกสะกดจิต หรือถูกมนต์ "นะจังงัง" เข้าฉะนั้น

 

.......................................................................................
หลวงพ่อเงิน ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี

 

หลวงพ่อเงิน มิได้คิดการแต่เพียงภายในอาณาเขตของวัดดอนยายหอมเท่านั้น แต่หลวงพ่อคิดการโดยกว้างขวางออกไปนอกอาณาเขตของวัดด้วย หลวงพ่อเงินเห็นว่าเมืองนครปฐมเป็นเมืองต้นตระกูลแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแต่โบราณเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว ประจักษ์พยานก็คือ พระปฐมเจดีย์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.235 สมัยเมื่อพระโสณเถระ และพระอุตระเถระมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ เมืองท่าแห่งนี้

แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองนครปฐม ไม่มีสำนักศึกษาพระบาลีเลย พระมหาเปรียญที่เป็นคนเลือดเนื้อเชื้อไขคนนครปฐมไม่ค่อยมี หลวงพ่อจึงคิดว่าน่าจะหาทางส่งเสริมการศึกษาพระบาลีขึ้นจึงได้ปรึกษาหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆ ไปตามจังหวะเวลาและโอกาสเหมาะเช่น น.ส.แอ๊ด กลกิจ นางสะอาด ตู้จินดา นายมาลัย บุญวัฒน์ และขุนเชาวน์ปรีชาศึกษากร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ก็เห็นดีเห็นชอบ ปวารณาตัวว่าจะช่วยเหลือหลวงพ่อให้ทำการต่อไป หลวงพ่อจึงตกลง ตั้งโรงเรียนสหศึกษาบาลี ขึ้นที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ.2494

ครั้นถึง พ.ศ.2496 ทางการคณะสงฆ์เห็นคุณงามความดีของหลวงพ่อ ที่เอาเป็นธุระในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของจังหวัดเป็นส่วนรวม ไม่คิดเอาธุระอยู่แต่ภายในวัดดอนยายหอมเท่านั้น จึงได้แต่งตั้งท่านให้เป็นคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ในตำแหน่งเผยแพร่จังหวัดนครปฐมตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์สมัยนั้น ซึ่งแบ่งหน้าที่ออกเป็น ปกครองจังหวัด ศึกษาจังหวัด เผยแผ่จังหวัด สาธารณูปการจังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน น่าเสียดายที่การแบ่งงานบริหารการคณะสงฆ์ นี้ได้ถูกยกเลิกเสียโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับต่อมาใน พ.ศ.2505 เหลือแต่เจ้าคณะจังหวัดเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ทำหน้าที่เผยแผ่จังหวัด

งานในหน้าที่เผยแผ่พระธรรมวินัย หรือเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น อันที่จริงหลวงพ่อทำหน้าที่อยู่แล้วตามปกติ ถึงจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเผยแผ่จังหวัด หลวงพ่อก็เป็นเผยแผ่จังหวัดอยู่แล้วตลอดมา เพราะจะมีผู้ไปนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ อยู่เสมอมา หลวงพ่อจึงเทศน์ทั้งในวัดและนอกวัด การเทศน์ของหลวงพ่อก็ทันสมัย ทันโลก จะนิมนต์ขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ หลวงพ่อก็ถือพระธรรมคัมภีร์เทศน์ใบลานไว้ในมือ หลับตาอ่าน หลับตาเทศน์ได้คล่องแคล่ว จะให้เทศน์ปากเปล่า หลวงพ่อก็เทศน์ได้แบบปาฐกถาธรรมะ ภาษาที่ใช้ ก็เป็นภาษาชาวบ้านพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา พูดให้คนมองเห็นจริง มีแทรกถ้อยคำที่ขำขัน น่าขบน่าคิด น่าหัวเราะลงไปด้วย แต่หลวงพ่อมักจะพูดสำรวมวาจา ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดตลกคะนอง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเยาะเย้ย ไม่พูดถากถาง ไม่พูดเสียดสี ไม่พูดยกตน ไม่พูดข่มท่าน ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดเลอะเทอะ ไม่พูดน้ำท่วมทุ่ง ไม่พูดตามอารมณ์เหมือนดังพระเปรียญบางองค์ บางรูปคำพูดหลวงพ่อเด็กฟังได้ ผู้ใหญ่ฟังดี ไม่พูดแบบคาดคะเน ไม่พูดแบบยกเมฆ ไม่พูดแบบข่าวเขาเล่าว่า จระเข้มาที่ท่าน้ำอะไรทำนองนี้ หลวงพ่อมีปฏิภาณเอาเหตุการณ์เฉพาะหน้าเฉพาะเรื่อง เฉพาะประชุมชน เฉพาะกาล เฉพาะสมัย ขึ้นมาพูดได้เสมอ มีประจักษ์พยานอยู่หลายเรื่อง จะพูดสอนนักโทษก็พูดได้ จะพูดสอนโจรก็พูดได้ จะพูดสอนพ่อค้าออกหวยเถื่อนก็ได้ จะสอนคนกำลังบ้าดีเดือด ถือมีดจะทำร้ายตนอยู่ก็พูดได้ จะพูดโต้ตอบบาทหลวงนอกศาสนาก็ได้ จะพูดจูงใจคนนอกศาสนาให้เห็น ให้เข้ามานับถือพุทธศาสนาก็ได้ จะพูดอวดของดีเมืองนครปฐมก็พูดได้ดีไม่มีใครเหมือน หลวงพ่อพูดออกมาแล้วมากมายนับหนไม่ถ้วน นับเรื่องไม่ถูก ไม่มีใครได้กำหนดจดจำไว้ได้ หลวงพ่อเองก็จะไม่ได้ว่าเทศน์เรื่องอะไร เทศน์ที่ไหน เทศน์ว่าอย่างไร มีแต่คนที่เคยฟังหลวงพ่อพูดก็จำได้กระท่อนกระแท่น นำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง คนละนิดคนละหน่อย ดังจะได้เล่าต่อไปสักเรื่องหนึ่ง

หลวงพ่อพูดครั้งนี้ เป็นการพูดในตำแหน่งเผยแผ่จังหวัด ไปพูดที่วัดธรรมศาลา พูดให้คณะทอดผ้าป่า ซึ่งมีคุณหญิงประจญปัจนึก ภรรยาของพระยาประจญปัจนึกซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนำมาทอด เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.2497 มีคนฟังประมาณ 600 คน ส่วนมากเป็นนักเรียน เรียกว่าหลวงพ่อเทศน์ให้เด็กนักเรียนชั้นประถมฟัง ซึ่งค่อนข้างพูดยาก ในการที่จะพูดให้เด็กวัยนี้ฟังได้

วันนั้นหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์เทศน์ปากเปล่าเรื่อง "ลูก 4 คน" ดำเนินความว่า

"เด็กที่โรงเรียนวัดธรรมศาลานี้มี 600 คน ถ้าได้รับการศึกษาดี มีความฉลาด มีความประพฤติดีเพียง 100 คน อีก 500 คนโง่ เป็นขโมยขะโจร อีก 100 คนนั้นจะมีความสุขได้อย่างไร จึงต้องช่วยกันทำให้เด็กอีก 500 คนนั้น ประพฤติดีมีความฉลาดด้วย จะทำให้เด็กเป็นคนดีต้องให้การศึกษาอบรม มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นลูก 4 ลูก ต่อไปนี้

1. ลูกลาก ลูกชนิดนี้เป็นลูกลากพ่อแม่ใช้พ่อแม่ก็ต้องลากโครงเลี้ยงลูกไป เติบโตขึ้นก็ลากเอาแต่ความทุกข์ร้อนมาให้ เอาความฉิบหายมาสู่พ่อแม่ ลูกอย่างนี้ทำให้พ่อแม่มีเคราะห์กรรม

2. ลูกหลง พ่อแม่คู่หนึ่งมีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิง คนหนึ่งเป็นชาย ลูกชายไปได้เมียอยู่ฟากตรงข้าม แม่ป่วยหนัก ลูกชายก็ไม่มาเยี่ยม น้องสาวต้องไปตาม เอาเรือไปรับจึงข้ามฟากคลองมาดูใจแม่จึงสั่งเสียก่อนตายว่า

"ลูกเอ๋ย ลูกมาก็ดีแล้ว แม่กำลังจะจากลูกไปอย่างไม่มีวันกลับ แม่เห็นจะไม่ได้อยู่ดูแลความทุกข์สุขของลูกต่อไปแล้ว แม่ขอฝากน้องด้วย ขอให้ตั้งใจทำมาหากิน เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียให้ดี" แม่ ยังสั่งไม่ขาดคำ ฝั่งโน้นก็ตะโกนเรียกมาว่า เมียเจ็บท้องจะคลอดลูก ลูกชายก็กระโดดน้ำว่ายข้ามคลองไปหาเมียเสียแล้ว ลูกอย่างนี้คือลูกหลง คือหลงไปว่าคนอื่นดีกว่าแม่หลงเมียจนลืมแม่ แม่ป่วยต้องเอาเรือไปรับ จึงมาเยี่ยมแม่ เมียเจ็บท้องก็ข้ามน้ำไปเองโดยไม่ต้องเอาเรือรับ ทั้ง ๆที่แม่เจ็บจวนตาย เมียเพียงแค่เจ็บท้อง

3. ลูกเลิก คือลูกที่เบียดเบียนพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็จะเอาเสียให้หมด เมื่อได้ข้าวของไปจนพ่อแม่หมดเนื้อหมดตัวแล้ว ลูกก็หายหน้าไป ครั้นพ่อแม่จะพึ่งพาอาศัยบ้างก็ไม่ได้ มีความรังเกียจ เลิกเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันตอนหมดทรัพย์สมบัตินี่เอง

4. ลูกหลีก คือลูกที่เห็นแก่ตัวจัด เอาเปรียบพ่อแม่ เมื่อไม่มีเงินทอง หรือขนมติดมือมาก็แวะบ้านพ่อแม่ พ่อแม่มีอะไรก็หยิบกินฉวยกิน ถือว่าเป็นบ้านพ่อแม่ มีอะไรก็หยิบเอาไป ถือว่าเป็นของลูก แต่พอตัวมีเงินทอง ทรัพย์สิน ก็หายหน้า กลัวพ่อแม่จะไปเบียดเบียน มีขนมติดมือมาก็อุตส่าห์เดินหลีกบ้านพ่อแม่ไปเสีย รีบหลีกหนีเอาไปฝากลูกเมีย จะแวะบ้านพ่อแม่ก็กลัวว่าจะต้องแบ่งให้พ่อแม่กิน ลูกอย่างนี้เรียกว่าลูกหลีก

พอเทศน์จบเรื่องลูก 4 ลูก คุณหญิงประจญปัจนึก ก็ยกมือขึ้นสาธุ ร้องว่า

"สาธุ หลวงพ่อเทศน์มีคติดีแท้ ๆ"

จะเห็นว่าการเทศน์ของหลวงพ่อนี้ เป็นเทศน์แบบปฏิภาณ เทศน์ให้เด็กฟังได้ เป็นอย่างดี เด็กก็ฟังกันรู้เรื่องดี เป็นที่จับใจตั้งแต่ต้นจนจบ

พระที่เทศน์ได้อย่างนี้ก็เห็นมีพระอริยสงฆ์อีกองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มีคนไปนิมนต์ว่า ให้เทศน์เรื่องนักษัตร เพราะเขาฟังนายสั่งไม่เข้าใจ นายสั่งว่า ให้นิมนต์สมเด็จเทศน์เรื่อง "อริยสัจจ์" เขาก็ไปนิมนต์สมเด็จให้เทศน์เรื่อง "นักษัตร" เสีย สมเด็จท่านก็ไม่ว่ากระไร ไปถึงบ้านก็เทศน์ "ชวดฉันว่าหนู ฉลูฉันว่าวัว ไปตามลำดับ เอาธรรมะสอดแทรกและสรุปลงเป็นธรรมะ ว่าวันเดือนปีเคลื่อนคล้อยไป คนก็แก่และเจ็บตายกันไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ จะดับทุกข์ได้ด้วย การบำเพ็ญบารมี 10 ประการ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ชาติสุดท้ายก็จะได้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศ แล้วอุบัติเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตายไปเกิดเป็นวิสุทธิเทพอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายให้เกิดทุกข์เวทนาต่อไป"

ท่านก็เทศน์เข้าเรื่องอริยสัจจ์จนได้ นี่คือแบบอย่างการเทศน์ของพระโสดาบันบุคคลผู้ได้ธรรมจักษุ ได้ดวงตาเห็นแจ้งธรรมะปรุโปร่งตลอด

 

........................................................................................
ช่วยราชการบ้านเมือง

 

พระเจ้าตากสินมหาราช เคยตรัสกับพระสงฆ์ว่า

"เรื่องอาณาจักรเป็นเรื่องของโยม

เรื่องพุทธจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า"

หมายความว่า ภาระหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองนั้น เป็นเรื่องของฆราวาสญาติโยมแต่เรื่องภาระธุระทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์

คำว่า พระผู้เป็นเจ้านั้นหมายถึง พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เจ้าทั้งหลายทั้งปวง

ความหมายที่ลึกลงไปกว่านี้ก็คือ การปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น จะต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายพุทธจักร จึงจะสามารถรักษาชาติศาสนาไว้ได้

สมัยโบราณท่านถือว่า แม้พระยาช้าง พระยาม้า ก็รับราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองรักษาพระราชอาณาจักร พระสงฆ์เจ้าคณะทั้งปวง ตลอดจนพระครูสอนพระธรรม ก็รับราชการด้วย ท่านจึงถวายเงินนิตยภัต พัดยศ ตราตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นข้าราชการนั่นเอง

หลวงพ่อเงิน ดูเหมือนว่าจะถือคติโบราณอันนี้มาตลอดเวลา ตลอดชีวิตของท่าน ท่านถือว่าตัวท่านมีภาระหน้าที่ต้องช่วยราชการบ้านเมือง ไม่ต้องบอกไม่ต้องนิมนต์ ไม่ต้องสั่ง ท่านก็ทำอยู่โดยปกติธรรมดา

เมื่อทางราชการขอร้องท่านก็ทำสิ่งใดการใดที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง แก่พระศาสนา หรือเป็นประโยชน์สุขแก่มหาชน หลวงพ่อทำ หลวงพ่อรับภาระ หลวงพ่อช่วยเหลืออย่างเต็มสติปัญญาไม่เคยหลีกเลี่ยง ไม่เคยเกี่ยงงอน ไม่เคยรีรอ ไม่เคยเล่นแง่ ไม่เคยต้องให้ขอร้อง ไม่เคยคิดเอาหน้าเอาชื่อ ไม่เคยวางใหญ่ ว่างานนี้ร้อง ฉันต้องเป็นหัวหน้า ฉันเป็นประธาน ฉันเป็นผู้ชี้ขาด ฉันต้องมีอำนาจคุม ไม่มีเลยในเรื่องเหล่านี้

ดูเหมือนหลวงพ่อจะถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วย จะต้องทำไปหมดทุกเรื่อง ไม่ต้องรอให้ผีเห็น คนเห็น ไม่ต้องรอให้คนยกย่อง ไม่ต้องรอเอาชื่อเอาหน้าอะไรทั้งสิ้น คนที่รู้จักหลวงพ่อจะต้องยอมรับในเรื่องนี้ บางทีลูกศิษย์คิดค้านก็มีว่าเรื่องนี้หลวงพ่อไปรับทำทำไม ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของหลวงพ่อเลย แต่หลวงพ่อเฉย หลวงพ่อทำต่อไปตามปกติ

จะขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง

คือเรื่องโรงพยาบาลนครปฐม แต่เดิมนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในที่ดินคับแคบ มีอาคารไม้หลังเล็ก ๆ มีไม่กี่เตียง อยู่ในบริเวณทิศตะวันตกขององค์พระปฐมเจดีย์

ต่อมานายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด น.พ.สมใจ สุชาดำ สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษากันว่า ควรตจะย้ายไปสร้างใหม่ในที่ราชพัสดุ หน้าโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นของโรงเรียนนายร้อยนครปฐม เมื่อได้ที่ดินซึ่งกว้างขวางพอสมควรแล้ว ก็มาถึงงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งจะต้องใช้เงินนับสิบล้าน จะได้มาอย่างไร แน่นอนส่วนใหญ่จะต้องได้มาจากการบริจาคของประชาชน แต่การที่ประชาชนจะบริจาคนั้นเขาจะต้องมีสิ่งที่เขาเลื่อมใสศรัทธา จะต้องมีแกนกลางของการบุญกุศล หยิบยกเอามาเป็นประธาน เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นจุดดึงดูดบุญบริจาค มองดูจนทั่วทิศรอบองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ไม่มีใครจะวิเศษเท่าหลวงพ่อเงินเลย จึงตกลงจะให้หลวงพ่อเงินเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ โดยวิธีหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเงินขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นของสมนาคุณผู้บริจาคเงิน ได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบ หลวงพ่อก็ยินดีอนุญาตให้ทำได้ตามความประสงค์ จึงได้ดำเนิการกันต่อมา มีผู้บริจาคทรัพย์จำนวนมาก พอที่จะสร้างโรงพยาบาลได้ โดยยกหลวงพ่อเงินเป็นประธานโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงสร้างต่อมาได้ดังความประสงค์ ด้วยเงินจำนวนมาก และทางกรรมการก็ได้สร้างอาคารตึกพยาบาลขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งชื่อว่า "อาคารราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน)" พ่อค้าขายดีก็บริจาคทรัพย์กันรายละมาก ๆ เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนก็มีมาก

นี่คือบารมีของหลวงพ่อเงินที่ได้ช่วยชาติบ้านเมืองเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังมีหลักฐาน ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

และดูเหมือนจะเป็นต้นแบบที่เกิดโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่สุพรรณบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนโรงพยาบาลหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ในเวลาต่อมาด้วย กล่าวเช่นนี้คงจะไม่เกินความจริงอะไร เพราะโรงพยาบาลนครปฐมของหลวงพ่อเงินเกิดก่อนแห่งอื่น ๆ ทุกแห่ง

 

........................................................................................
กรมตำรวจส่งคนมาศึกษา

 

เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนั้น ท่านทำมานาน เช่น เรื่องการปราบหวยเถื่อน ปราบโจร สร้างโรงเรียน สร้างสถานีอนามัย รวมทั้งการสร้างถนน สายพระปฐม - ดอนยายหอม ซึ่งต่อมาก็สร้างถึงอำเภอบ้านแพ้วด้วยนั้น ก็เกิดจากผู้หลักผู้ใหญ่ไปหาหลวงพ่อที่วัด แล้วให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่งจึงเกิดถนนสายนี้ขึ้น

เรื่องการช่วยราชการบ้านเมืองของหลวงพ่อนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปมานานแล้ว ราชการกรมกองไหนที่จะทำการพัฒนาบ้านเมือง ก็ต้องนึกถึงหลวงพ่อเงิน รู้จักหลวงพ่อเงินทั้งนั้น กรมตำรวจก็รู้ดีว่า โจรผู้ร้ายสงบ เพราะบารมีของหลวงพ่อช่วยอยู่ทางอ้อม

เมื่อ พ.ศ.2497 สมัย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ก็เคารพนับถือหลวงพ่อมาตั้งแต่ครั้งปราบเสือผาด ทับสายทอง เคยนิมนต์หลวงพ่อไปพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง "สมเด็จเผ่า" ที่วัดบางขุนพรหม นิมนต์หลวงพ่อไปทำพุทธาภิเษก เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ

นอกจากนั้น สมัยนั้นเริ่มการโอนอำนาจการสอบสวนจากอำเภอไปให้ตำรวจ ได้ประชุมพิจารณากันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2497 ท่านอธิบดีกรมตำรวจได้กล่าวว่า

"ต่อไปข้างหน้า การสอบสวนจะเป็นของตำรวจ ปลัดอำเภอจะให้ไปทำงานด้านเศรษฐกิจ จึงควรชี้แจงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทราบ เพราะการเศรษฐกิจเป็นของสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดีแล้ว โจรผู้ร้ายหัวลักหัวขโมยก็จะไม่มี เช่น สมภารวัดดอนยายหอม ท่านมีวิธีการอย่างไร จึงสอนคนให้ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีพได้ ท่านเรียกเอานายทุนมาชุมนุมกัน เรียกเอาอันธพาลมาชุมนุม แล้วชี้แจงประกาศตัวคนร้าย คนร้ายก็ไม่มี เพราะประชาชนรู้จักตัว และคอยปราบปราม ท่านชี้แจงว่านายทุนต้องอาศัยคนจน คนจนก็ต้องอาศัยนายทุน ห้ามสูบฝิ่นกินเหล้า จึงรวมความว่า อำเภอควรรับหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจและคงให้มีอำนาจในทางสอนสวนบ้างเหมือนกัน

"เรื่องสมภารวัดดอนยายหอม ให้ พ.ต.ท.สุนทร พันธุมณี และ พ.ต.อ.กว้าง โรหิตรัตน์ ไปสืบเสาะเขียนมา จะได้พิมพ์แจกนายอำเภอเดือนหน้าให้เสร็จ"

เรื่องนี้ พ.ต.ท.สุนทร พันธุมณี ได้ไปหาหลวงพ่อ และเขียนวิธีการปกครองของหลวงพ่อตามคำสั่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตำรวจ ฉบับพิเศษ วันตำรวจเล่ม 20 ประจำปี พ.ศ.2497 ผู้สนใจจะค้นหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือนั้น

เล่าเรื่องนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าทางราชการกรมตำรวจก็ทราบดีว่าหลวงพ่อได้ช่วยราชการบ้านเมืองอยู่อย่างไร และเรื่องที่ช่วยราชการนั้น ก็ไม่ได้มีใครไปไหว้วานหลวงพ่อเลย

คำกล่าวที่ว่าหลวงพ่อเป็นพระโพธิสัตว์มาอุบัติในโลกนี้ เพื่อบำเพ็ญบารมี เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย จึงไม่เกินความจริงแต่ตรงกับจริยาวัตรของหลวงพ่อตามปกติธรรมดาเท่านั้น.

 

........................................................................................
หลวงพ่อโปรดสัตว์

 

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงบรรทมเมื่อเวลาเที่ยงคืนล่วงไปแล้ว 1 ชั่วโมง คือบรรทมเวลา 1 นาฬิกา และทรงตื่นบรรทมเวลา 4.00 นาฬิกา ตื่นแล้วก็ทรงเข้าฌานสมาบัติ สอดส่องพระญาณไปตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งปวงว่าจะมีใครอยู่ในข่ายที่จะไปโปรดได้ แล้วก็ส่องพระรัศมีไปโปรดผู้นั้นจนถึงตัวปรากฏพระองค์ต่อผู้อื่น เช่น การโปรดองคุลีมาล เป็นต้น การที่องคุลีมาลไล่วิ่งกวดไม่ทัน ทั้งที่เป็นชายกำยำนั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสามัญ แต่เป็นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งคนสมัยนี้ไม่เชื่อว่าทำได้ และพระเยซู แสดงอิทธิฤทธิ์เสกขนมปัง 5 ก้อน เลี้ยงคนตั้ง 5,000 คน ได้ ชาวคริสต์เขาเชื่อ ท่านไสบาบาแห่งประสันตินิลยิม เนรมิตรสร้อย ล็อกเกต นาฬิกา ขนม วิภูติแจกคนได้ เสด็จไปช่วยสาวกต่างหัวเมืองได้ เป็นหมอผ่าตัดเนื้อร้ายในท้องคนไข้ได้ สาวกของท่านเชื่อถือกันสนิทใจ ไม่สงสัยเลย จึงน่าสงสารชาวพุทธที่เป็นกำพร้า อนาถาไร้ที่พึ่ง ไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์แผ่รัศมีไปปรากฏพระองค์ต่อหน้าองคุลีมาล สั่งสอนองคุลีมาลจนใจอ่อนยอมบวช จนสำเร็จ เป็นพระอรหันต์ ได้ ชาวพุทธบางจำพวก ที่เป็นปัญญาชนกลับไม่เชื่อจึงน่าเวทนาสงสารที่เขาเกิดมาเป็นชาวพุทธที่กำพร้าเหล่านั้นเสียจริง ๆ

หลวงพ่อเงินไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ คือไม่สำเร็จอภิญญาญาณไม่มีมโนมยิทธิ แสดงฤทธิ์ไม่ได้ อย่างพระผู้มีพระภาคเจ้า (ซึ่งแปลว่า แบ่งภาค หรือเปล่งรัศมีไปโปรดคนได้ ภ = แสงสว่าง ค = ส่องแสงไป = พระผู้มีพระภาคเจ้า คือพระผู้เป็นเจ้า ผู้แบ่งภาคได้ หรือพระผู้เป็นเจ้า ผู้แบ่งภาคได้ หรือพระผู้เป็นเจ้าผู้เปล่งพระรัศมีไปได้ในที่ไกล)

แต่หลวงพ่อเงินก็โปรดสัตว์อยู่เสมอ อย่างที่เคยเล่าว่า ไปเป่าหัวเข่าคนที่ปวดหัวเข่าหายเป็นปลิดทิ้ง แล้วถวายพระบรมธาตุให้แก่หลวงพ่อ เป็นต้น

มีเรื่องเล่าประกอบการโปรดสัตว์ของหลวงพ่ออีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องจริง มีตัวตนยืนยันได้ คือ

คุณอนงค์ สุทธิมณฑล ภรรยาของ พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล ป่วยเป็นโรคประสาท จนผ่ายผอมหน้าซุบซีด เที่ยวรักษาหมอไทย หมอจีน หมอโบราณ หมอแผนปัจจุบันหลายแห่ง ก็ไม่หาย ได้ข่าวว่าหลวงพ่อเงินเป็นพระอาจารย์ขลังนัก จึงไปหาหลวงพ่อ ขอให้รดน้ำมนต์ให้

เมื่อพบหน้าหลวงพ่อแล้วก็มีความเลื่อมใสศรัทธามากเพราะหลวงพ่อมีสง่าราศีผุดผ่อง ผิวพรรณขาวสะอาด แจ่มใส พูดจาไพเราะ โอภาปราศรัย ยิ้มแย้มแจ่มใส ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ เหมือนคนคุ้นเคยกันมานับแรมปี

ก่อนจะรดน้ำมนต์ คุณอนงค์ จึงเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า คุณผู้ชายเจ้าชู้แอบไปมีเมียน้อยไว้ ไม่ค่อยห่วงบ้านช่องเลย

หลวงพ่อได้ฟังดังนั้น ก็เข้าใจถึงสภาพจิตใจ อันเป็นสมุฏฐานของโรคได้ทันที หลวงพ่อจึงพูดถึงธรรมะ การครองชีวิต ความทุกข์ความสุขของตนแม้กระทั่งเทวดาในเทวโลก แล้วก็วกลงมาว่า

"ความรัก ความชัง ความดีใจ เสียใจ เป็นธรรมดาของมนุษย์เหมือนมีมืดมีสว่าง มีสุขก็มีทุกข์ เป็นของคู่กัน มนุษย์จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าไพร่ผู้ดีมีจน คุณนายเคยมีสุขมาแล้ว บัดนี้ทุกข์มันก็เข้ามาหาเราบ้าง ถึงเราไม่ชอบไม่ต้องการ ก็ต้องยอมรับและต่อสู้กับมัน ไม่ควรจะปล่อยให้มันย่ำยีโดยยอมแพ้ง่ายๆ ทางที่จะต้องสู้กับความทุกข์คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ขอให้เราเชื่อว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน ไม่ว่ายากดีมีจนมีทุกข์เดือดร้อนเหมือนกันทั้งนั้น แต่มันทุกข์คนละอย่าง คนมีก็ทุกข์ ไปตามเรื่องของคนมี คนจนก็ทุกข์ไปตามประสาของคนจน จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อยอยู่ที่การกำหนดจิตใจ กำหนดจิตใจของตนเองได้ก็มีทุกข์น้อย หากปล่อยใจก็มีทุกข์มากทุกข์อย่างเดียวกัน แต่คนสองคนก็ทุกข์ไม่เท่ากัน เช่น คนสองคนไปปล้นเข้ามา ถูกจับได้ต้องติดตะรางเท่า ๆ กัน แต่คนหนึ่งทุกข์มาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ จนผ่ายผอมแต่คนหนึ่งปลงใจได้ว่าทำกรรมไว้ กรรมก็ตามมาสนอง ทนใช้กรรมยอมติดคุกไป เมื่อหมดกรรมก็ออกจากคุกได้ เขาก็ไม่เดือดร้อนใจ

ตามธรรมดาไฟนั้นจะลุกลามได้ใหญ่โตก็เพราะได้เชื้อที่อ่อนนิ่ม ถ้าเพลิงไหม้ไม้เนื้อแข็งก็ลุกลามได้ยาก เหมือนจิตใจคน ถ้าเข้มแข็งทุกข์ก็เกิดได้ยาก

ในโลกนี้อะไร ก็เป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น มนุษย์หาความสุขกันไป วัน ๆ หนึ่ง สมมติกันว่า เจ้านั้นรวย เจ้านี่จน เจ้านั่นนาย นั่นเมีย นั่นผัว สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ตัวของเราก็ไม่เหลืออยู่ ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะเราห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายไม่ได้ ทำไมเล่า เราจะไปมัวนึกว่าของอื่น ๆ นอกกายเป็นของเราอีกเล่า

สามีที่ไปมีภรรยาใหม่นั้น เพราะเขามีกรรม เขาจึงสาละวนขวนขวายอยู่ในกองกามกิเลส ถ้าภรรยาตัดใจได้ว่า ปล่อยเขาไปตามกรรม เราตั้งมั่นอยู่ในความดี หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน สามีผู้โลดแล่นไปเหมือนตะไลขึ้นสู่ฟ้า เมื่อหมดฤทธิ์ดินขับ ก็ย่อมตกลงสู่พื้นดินจนได้ หนีความดึงดูดของโลก ไปไม่พ้นเลย

ความดีความงามของภรรยาก็เหมือนแผ่นดิน ย่อมจะดึงดูดสามีให้กลับมาหาจนได้เมื่อเขาหมดเวรหมดกรรม

การมีภรรยามาก เป็นธรรมเนียมของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เรื่องภรรยานี้ มีอยู่ทั่วไปไม่เว้นคน กษัตริย์มีบุญญาธิการ ยังมีสนมไว้มากมาย เทพบุตรก็ว่ามีนางฟ้าเป็นบริวารมากมายหลายหมื่น คุณผู้ชายก็มียศถาบรรดาศักดิ์ หากจะผิดพลาดไปในเรื่องนี้ก็ควรอภัย หมดเวรหมดกรรมกับเมียน้อยเมื่อไร ก็คงกลับมาอยู่กับคุณนาย คุณนายก็มีกินมีใช้ไม่เดือดร้อนอะไรในเวลานี้ ทำใจให้สงบสบายดีกว่า เอ้าเตรียมตัวเข้ามารดน้ำมนต์เสีย จิตใจจะได้สบาย"

คุณอนงค์ สุทธิมณฑล ยกมือขึ้นประนมสั่นหัว ตอบว่า

"ไม่ต้องอาบน้ำมนต์ก็ได้เจ้าค่ะ ได้อาบพระพุทธมนต์แล้ว ทำใจแล้ว ต่อไปจะไม่ทุกข์ในเรื่องเช่นนี้อีก"

ต่อมาไม่นาน คุณอนงค์ ก็มาหาหลวงพ่ออีก คราวนี้ไม่ได้มาคนเดียว เหมือนคราวก่อน แต่มี พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล มาด้วย

เมื่อ พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล ได้นั่งพิจารณาหลวงพ่ออยู่ครู่หนึ่ง พ.ต.อ.เทียบ ก็เข้ามากราบหลวงพ่อ พูดด้วยความเคารพนอบน้อมว่า

"กระผมรู้สึกเป็นบุญเหลือเกินที่ได้มานมัสการหลวงพ่อ กระผมได้รับคำบอกเล่าจากภรรยา กระผมก็อัศจรรย์ใจ กระผมจึงอยากจะมาดูให้เห็นจริง บัดนี้กระผมทราบแล้วว่า ภรรยาของกระผมโชคดีมากที่ได้มาพบหลวงพ่อ ความจริงนั้นกระผมไม่ค่อยเชื่อถือพระที่ไหนนัก เพราะมีแต่หลวงตาแก่ ๆ รดน้ำมนต์อ่านโองการเป็นชั่วโมง ๆ จนภรรยาผมตัวสั่น ก็ยังรดน้ำมนต์โครม ๆ แต่เสร็จแล้วร้อยทั้งร้อยไม่ได้เรื่องสักราย แต่หลวงพ่อรักษาภรรยาผมด้วยปากจนหายได้อย่างอัศจรรย์"

นับแต่วันนั้นมา พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล ต้องนิมนต์หลวงพ่อไปฉันอาหารที่บ้านในวันทำบุญวันเกิดทุกปี เพื่อนฝูงถามว่าทำไมจึงนิมนต์พระองค์เดียว พ.ต.อ.เทียบ สุทธิมณฑล ตอบว่า

"ผมมีหลวงพ่อองค์เดียว"

คำเทศนาโปรดคุณอนงค์ สุทธิมณฑล ของหลวงพ่อนั้น ลองอ่านทบทวนดูอีกสักครั้งเถิดจะเรียกว่า "พระแม่ธรณีสูตร" ได้หรือไม่ เพราะหลวงพ่อสอนว่า คุณงามความดีของภรรยานั้นเหมือนแม่พระธรณีอันหนักแน่นไม่หวั่นไหว ของที่หลุดลอยไป สู่ฟ้าด้วยแรงขับแรงดันอะไรก็ตามย่อมจะถูกดึงดูดตกลงมาสู่ แผ่นดินเสมอ

คำสั่งสอนอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลายได้จริง ๆ สอนได้เหมาะเจาะแก่บุคคลจริง ๆ รักษาโรคใจของคนป่วยให้หายได้จริง ๆ เพราะท่านพูดออกมาจากจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาจริง ๆ ไม่ได้จดจำเอามาจากไหนเลย

 

........................................................................................
ยึดผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์

 

หลวงพ่อเงิน บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อายุครบบวช เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453 จนกระทั่ง พ.ศ.2519 รวมเวลา 66 ปี อุทิศชีวิตอยู่ในเพศพรหมจรรย์มาโดยตลอดอย่างบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธิ์ใจไม่เคยเกคลื่อนไหวว่าจะสึก โดยกระทำให้ศีลด่างพร้อยมัวหมองเลย แม้แต่สิกขาบทเดียว ไม่เคยพูดถึงเรื่องลาสิกขากับใครเลย มีแต่ลั่นวาจาว่าจะบวชตลอดชีวิต ไม่เคยคิดแม้แต่สักแวบหนึ่งในใจว่าจะลาสิกขา ตั้งใจมุ่งมั่น แน่วแน่แต่จะฝากชีวิตไว้ในผ้าเหลือง ขอยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์ คำนี้เป็นคำโบราณ พูดกันมานานนับร้อยนับพันปี "ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็น ธงชัยพระอรหันต์" เหมือนทหารยึดเอาธงไชยเฉลิมพลเป็นที่พึ่งที่ระลึกยามเข้าสงคราม การบวชเป็นพระภิกษุนี้ ก็ต้องทำสงครามกับกิเลสตัณหา ความรู้สึกฝ่ายต่ำอยู่ตลอดเวลา คือเรื่อง ราคะ โทสะ โมหะ คนโบราณเข้าใจดี เวลาทอดกฐินเขาจึงทำธง เขียนรูปจระเข้ รูปคลื่น รูปนางมัจฉา 4 ผืนไปปักไว้หน้าวัด

1.ธงรูปจระเข้ คือเรื่องกิน จระเข้นั้นเห็นแก่กิน ตายเพราะกิน เตือนใจพระว่าอย่าเห็นแก่กินเหมือนจระเข้เข้า อย่าเอาแต่กินกับนอน

2.ธงรูปคลื่นนั้น ก็คือ อารมณ์โกรธหรือโทสะเหมือนคลื่นในทะเลพัดเรือจม การบวชเป็นพระนั้น ท่านว่าเป็น "ผู้ชายพายเรือ" อยู่ในทะเลและมหาสมุทร ให้ระวังคลื่นลมพัดเรือจม เรือแตก จะไปไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน จะไม่ได้มรรคผล นิพพานอะไรเลย

3.ธงรูปนางมัจฉานั้น หมายถึงราคะ หรือสตรีเพศ เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ พระภิกษุบวชอยู่ไม่ไหว ร้อนผ้าเหลืองเป็นไฟ ก็เพราะสตรี จึงให้สำรวมระวังอย่าเข้าใกล้ อย่าเผลอปล่อยกายปล่อยใจ อย่าพ่ายแพ้แก่อิตถีเพศ

4.รูปวังน้ำวน หมายถึง วัฏสงสารที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะกิเลสตัณหา อุปาทาน

ชาวบ้านสอนพระไม่ได้ เขาจึงทำธง 4 ผืนไปปักหน้าวัดเวลาทอดกฐิน เป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล เขาปักธงไว้สอนพระ

แต่สำหรับหลวงพ่อเงิน ดูเหมือนธงทั้ง 4 ธงนี้ ไม่มีความหมายอะไรแก่ท่านเลยก็ว่าได้

เพราะท่านยึดเอาผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์อยู่ในชีวิตจิตใจ ถึงแม้ว่าชาตินี้จะมีบุญวาสนาไม่สำเร็จมรรคผล เป็นพระโสดา พระสกิทาคามี พระอานาคามี หรือพระอรหันต์แต่ก็มีผ้าเหลืองเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นธงชัยพระอรหันต์ที่มุ่งหมายจะบำเพ็ญสมณธรรมให้บรรลุในที่สุด ถ้าไม่บรรลุในชาตินี้ก็ขอบรรลุในชาติต่อ ๆ ไป

หลวงพ่อเงินเป็นพระมหานิกาย โดยเฉพาะก็คือ เป็นพระสงฆ์ที่เชื่อถือลัทธิพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ซึ่งเป็นความเชื่อถือสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยแล้ว หลักฐานก็คือ หนังสือไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละ ที่พระเจ้าลิไทยธรรมราชาแต่งขึ้น ก็แสดงความเชื่อถือเรื่องลัทธิพระโพธิสัตว์อย่างชัดแจ้งที่สุด

ลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ที่ย่อที่สุดก็คือเชื่อว่า ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายในชาตินี้ แต่ยังมีชีวิตสืบเนื่องต่อไปหลังความตาย จะต้องไปเกิดใหม่ในชาติหน้าจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ตัดกิเลสสิ้นขาดแล้ว แต่พระอรหันต์ที่ดับขันธ์ไปสู่นิพพานก็ใช่ว่าจะสิ้นสูญ ยังคงมีชีวิตสถิตอยู่ในพระนิพพานเมืองแก้วนั้นเอง เป็นชีวิตอมตะไม่รู้จักตายเป็นชีวิตนิรันดร เที่ยงแท้ไม่แปรผัน ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ยังคงมี "ชีวิต" อยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร

ชีวิตของคนผู้ยังไม่บรรลุพระอรหันต์นั้น จะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต้องตายเกิดตายเกิดอยู่เช่นนี้ตลอดไปไม่รู้จักสิ้นสุด ต้องทนทุกข์เวทนา เพราะการเกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่รู้จักสิ้นเวรกรรมลงได้เลย พระพุทธองค์เห็นทุกข์เห็นภัยในวัฏสงสารเช่นนี้ จึงแสวงหาโมกขธรรม แสวงหาพระนิพพาน ความหลุดพ้นโลก เป็นโลกุตระ (เหนือโลก พ้นโลก) ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงสถิตอยู่ในพระนิพพานนั้น ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ยังมีพระพุทธานุภาพอยู่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อประดุจพลังงาน ไฟฟ้ามีอยู่คู่โลกธาตุ

ชีวิตอมตะ หรือชีวิตนิรันดรนั้นมีอยู่ทุกศาสนา ศาสนาฮินดูตายแล้วก็ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ศาสนาคริสต์ ตายแล้วก็ไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า ศาสนาอิสลาม ตายแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็รับไปอยู่ในสวรรค์ ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อตายร่างกายแตกดับ ถ้าหากว่าพระนิพพานสูญสิ้นเชื้อ ไม่เหลือเลย คนก็กลัวนิพพาน

แต่ชาวพุทธที่นับถือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์สอนไว้มากมายนักหนา ในเรื่องชาดกต่างๆ 500 ชาติ ว่าพระองค์ก็เคยเกิดเสวยพระชาติเป็นสัตว์น้อย ๆ ตั้งแต่นกกระจาบ นกคุ่ม จนกระทั่งถึงสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง พญาฉัททันต์ จนกระทั่งเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นเสนาอำมาตย์ เป็นพราหมณ์ เป็นฤาษี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเวสสันดรชาติสุดท้าย ก่อนจะอุบัติเกิดมาเป็นพระพุทธองค์ในชาตินี้ นี่คือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ อันเป็นพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ มากกว่า 2000 ปีแล้ว

หลวงพ่อเงินท่านบวชในนิกายสยามวงศ์ หรือนิกายพระโพธิสัตว์นี้ เหมือนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้นิพนธ์เรื่องปฐมสมโพธิกถาไว้ ในหนังสือเรื่องนี้ ก็สอนเรื่องพระโพธิสัตว์ไว้ตลอดเรื่อง ทรงเรียกพระนิพพานว่า

"พระอมตะมหานิพพาน"

แปลว่า พระนิพพานอันเป็นอมตะอย่างยิ่ง คือ พระพุทธเจ้านั้นสถิตอยู่ในพระอมตะมหานิพพาน ท่านไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านเป็นอมตะ ยังอยู่ในพระนิพพานชั่วนิรันดร

ขอยืนยันว่า ปฏิปทาของหลวงพ่อก็ดี จริยาวัตรของหลวงพ่อก็ดี คำสอนของหลวงพ่อก็ดี หลวงพ่อเชื่อถือเรื่องพระโพธิสัตว์ หลวงพ่อเชื่อว่าตัวท่านคือพระโพธิสัตว์อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย และชาติสุดท้ายท่านจะได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลอีกแสนไกล
โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายพระพร

เมื่อ พ.ศ.2507 หลวงพ่อได้รับนิมนต์เข้าไปสวดพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จแล้วก็ออกจากวัง มีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขับรถตามมา พอทันก็ถามว่า

"หลวงพ่อเงินใช่ไหม?"

"ใช่"

"หยุดก่อน"

"อาตมาทำผิดอะไร?"

"ไม่ผิดอะไรหรอก แต่ในหลวงมีรับสั่งให้หลวงพ่อเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์"

"ไม่ดีหรอก อาตมากระเร่อกะร่าเข้าไปจะแลดูรุ่มร่าม ตะกี้พระองค์ท่านก็พบ อาตมาไม่เห็นว่าจะนิมนต์"

"ทรงระลึกได้ว่าใช่หลวงพ่อเงินหรือเปล่า พอแน่พระทัยก็รับสั่งให้กระผมมานิมนต์"

"กราบทูลท่านได้ไหมว่า จะขอเฝ้าภายหลังในโอกาสหน้า"

"ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณเถิด รับสั่งให้กระผมมานิมนต์หลวงพ่อ ถ้าพบหลวงพ่อแล้วนิมนต์เข้าไปเฝ้าไม่ได้ กระผมจะกราบทูลยังไง กระผมจะเสียผู้เสียคนคราวนี้เอง หลวงพ่อนึกว่าเมตตากระผมเถิด"

หลวงพ่อสงสารนายตำรวจผู้นั้น จึงยอมกลับไปเฝ้าในหลวง เมื่อทอดพระเนตรเห็นหลวงพ่อแล้ว ก็ทรงดีพระทัยมาก เสด็จเข้ามาประทับใกล้ๆ กราบนมัสการหลวงพ่อ แล้วก็ทรงยื่นพระหัตถ์ทั้งสองมากุมมือหลวงพ่อไว้ ตรัสว่า

"ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว อยากพบหลวงพ่อ อยากรู้จักตัวหลวงพ่อมานานแล้ว"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงกราบหลวงพ่อ ทรงเรียกว่า "หลวงพ่อ" เหมือนประชาชนทั้งหลาย

นี่คือพระราชจริยาวัตรของพระบรมโพธิสัตว์ต่อพระโพธิสัตว์ ผู้อุบัติมาบำเพ็ญบารมีเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ได้พบแล้วสนทนาวิสาสะกัน.

พระเจ้าอยู่หัวคือพระบรมโพธิสัตว์

หลวงพ่อเงิน คือพระโพธิสัตว์

อุบัติมาบำเพ็ญพระทศบารมี

 

........................................................................................
สมเด็จป๋า วัดโพธิ์

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น) วัดพระเชตุพน สมัยยังเป็นพระธรรมวโรดม ได้เล่าให้ น.ส.แอ๊ด กลกิจ คหบดีจังหวัดนครปฐมฟัง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2503 ว่า ท่านได้ไปในงานทำบุญครบ 5 รอบ 60 ปี ของหลวงพ่อเงิน เมื่อปี พ.ศ.2493 ทางวัดได้ถวายพระเครื่องหลวงพ่อเงินให้องค์หนึ่ง เป็นพระผงสีดำ ท่านก็รับไว้ ครั้นเมื่อกลับไปถึงวัดก็ล้วงย่ามจะเอาพระที่ได้จากวัดดอนยายหอมไปไว้ที่โต๊ะบูชา แต่ค้นหาเท่าไรก็ไม่พบ แต่เอาของอื่น ออกหมดย่าม จนลงมือเอาย่ามสะบัดก็ไม่มี ก็เลยปลงใจว่าคงหายเสียแล้ว

ครั้นอยู่ต่อมาท่านล้วงย่ามอีก ใจก็นึกถึงพระเครื่องหลวงพ่อเงินที่หายไปว่ามันหายไปได้ยังไง แต่คราวนี้เหมือนปาฏิหาริย์ พระหลวงพ่อเงินติดมือขึ้นมาจากย่ามได้ ท่านก็เลยนึกในใจว่า พระหลวงพ่อเงินคงอยากอยู่ในย่าม จึงได้ใส่ในย่ามไว้ตามเดิม

ในงานวัดใหม่ประตูน้ำราชบุรี ในระหว่างที่กำลังสวดมนต์อยู่ ได้ยินพระภิกษุรูปหนึ่งสวดมนต์เสียงดัง ชัดเจนดีก็ชอบใจ พอสวดเสร็จก็เรียกเข้ามาหา ถวายย่ามให้เป็นรางวัลแก่พระรูปนั้นไป

ครั้นแยกกันไปแล้ว ก็นึกได้ว่า พระเครื่องหลวงพ่อเงินองค์นั้นติดย่ามไปด้วย ก็รู้สึกเสียดาย เพระเป็นพระที่มีอภินิหารชอบกลอยู่ จึงเที่ยวตามหาพระภิกษุรูปนั้นก็ไม่พบ ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่าอยู่วัดไหน จึงรู้สึกเสียดายมาก

พอตกกลางคืน ขณะที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่กับแขกเหรื่อในปะรำโรงพิธี ท่ามกลางแสงไฟที่สว่างไสวนั่นเอง มีวัตถุชิ้นหนึ่งบินมาตกแป๊ะลงที่หัวเข่า จึงตกใจนึกว่าเป็นจิ้งจก หรือแมงเหนี่ยง จึงสะบัดตกลงไปที่พื้น แต่ครั้นก้มลงมองดูว่าเป็นอะไร ก็ปรากฏว่าเป็นพระเครื่องผงสีดำของหลวงพ่อเงินที่ติดย่ามใบที่ถวายพระเสียงดังองค์นั้นไปเมื่อตอนหัวค่ำนั้นเอง

สมเด็จป๋า ได้ประจักษ์อภินิหารด้วยตนเองดังนี้ จึงเชื่อถือพระเครื่องหลวงพ่อเงินแต่นั้นมา ภายหลังเมื่อสมเด็จป๋าสร้างพระเครื่อง "สมเด็จแสน" แจกบ้าง จึงได้นิมนต์หลวงพ่อเงินไปปลุกเสกด้วย

พระสมเด็จแสน ของสมเด็จป๋าวัดโพธินี้ ข้าพเจ้าได้รับแจกจากท่านองค์หนึ่ง เป็นพระเครื่องสามเหลี่ยม แบบพระนางพญาพิษณุโลก ที่เรียกสมเด็จแสน เพราะสร้าง 100,000 องค์ เป็นพระที่มีปาฏิหาริย์เหมือนกัน คนที่เป็นลูกศิษย์สมเด็จป๋า เลื่อมใสกันทุกคน สมเด็จป๋า เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ
นายสุรินทร์ นาทวรทัต

เมื่อ พ.ศ.2504 มีเรื่องเศร้าและสยดสยองเกิดขึ้นที่จังหวัดนครปฐม โดยรถยนต์โดยสารคันหนึ่งแล่นตัดหน้ารถไฟ ที่ทางแยกถนนมาลัยแมน จะไปอำเภอกำแพงแสน มีรถไฟขบวนหนึ่งแล่นจากทางใต้จะเข้ากรุงเทพฯ คนที่นั่งในรถยนต์ตะโกนว่า "รถไฟมา ๆ" แต่เด็กกระเป๋าท้ายตะโกนบอกคนขับว่า "ไป - พ้น" คนในรถยนต์คนหนึ่งตะโกนว่า "ไม่พ้นๆ" คนขับจะลังเลใจหรือไม่เห็นรถไฟ จึงขับรถยนต์แล่นตัดหน้ารถไฟ จึงถูกรถไฟชนตูมเข้า เสียงดังสนั่นหวั่นไหวคนโดยสารตายทันทีหลายคน บาดเจ็บ อีกหลายคน แต่คนที่ร้องตะโกนว่า ไม่พ้น ๆ นั้น บาดเจ็บสาหัส ส่งโรงพยาบาลแล้วก็ยังร้องว่า "ไม่พ้น ๆ ๆ" จนกระทั่งขาดใจ

คนที่โดยสารรถยนต์คันนั้น มีอยู่คนหนึ่ง ชื่อคุณสุรินทร์ นาทวรทัต ปลัดอำเภอเมืองนครปฐม นั่งรถคันนั้นจะไปทัพหลวง เขานั่งอยู่ด้านซ้ายที่รถไฟชนพอดี แต่ไม่ทราบเป็นอย่างไรจึงกระเด็นออกนอกรถยนต์มานอนอยู่ที่พื้นดิน ห่างจากรถยนต์คันนั้นมาก พอได้สติก็ลุกขึ้นตรวจดูร่างกายว่าบาดเจ็บที่ไหนบ้าง ก็ไม่ปรากฏว่าบาดเจ็บอะไรเลยแม้แต่น้อย แต่คนที่นั่งเคียงข้างเขาตายทั้งคู่ เขาจึงเดินทางกลับบ้าน เล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟัง พ่อของเขาคือ นายหิรัญ นาทวรทัต ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม ทุกคนก็ลงความเห็นว่า ที่เขาปลอดภัยเพราะมีเหรียญหลวงพ่อเงินคล้องคออยู่

รุ่งเช้า นายสุรินทร์ นาทวรทัต ก็ไปหาหลวงพ่อที่วัดดอนยายหอม กราบนมัสการแล้วเล่าให้หลวงพ่อฟัง แล้วขอให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์เรียกขวัญที่หนีดีฝ่อไปกลับคืนมา

หลวงพ่อก็รดน้ำมนต์ให้ตามความประสงค์ ก่อนกลับหลวงพ่อได้พูดกับเขาว่า

"คนที่นับถือพระนั้น บางทีคุณพระก็คุ้มครองได้จริง ๆ "

นายสุรินทร์ นาทวรทัต เป็นเพื่อนนักเรียนโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัยร่วมโรงเรียนกับ นายชื่น ทักษิณานุกูล และข้าพเจ้าผู้เขียนเรื่องนี้ บิดาของเขาเป็นเจ้านายเก่าของผู้เขียน คือนายหิรัญ นาทวรทัต อาของเขาคือ ครูไชย นาทวรทัต เป็นครูของผู้เขียน.

 

........................................................................................
หญิงชราถูกปล้น

 

หญิงชราชาวลาวโซ่งคนหนึ่ง ได้มาหาหลวงพ่อเล่าว่า นางเคยเป็นชาวจังหวัดนครปฐม ได้อพยพไปทำมาหากินอยู่ที่จังหวัดพิจิตร เมื่อนางจะเดินทางไปอยู่จังหวัดพิจิตรนั้น ได้เคยมาหาหลวงพ่อขอพระเครื่องไปคุ้มครององค์หนึ่ง นางก็เก็บติดตัวเสมอ ก่อนนอนก็สวดมนต์ระลึกถึงหลวงพ่ออยู่เสมอไม่ขาด คราวหนึ่งถูกโจรปล้นบ้าน นางหนีไม่พ้น แต่มีสติดีระลึกถึงหลวงพ่อ แล้วก้มหน้าลงกราบหลวงพ่อมือกำพระเครื่องหลวงพ่อไว้แน่น ฟุบหน้าลงกับพื้น นึกเหมือนว่านั่งหมอบกราบหลวงพ่ออยู่ตรงหน้ากุฏิหลวงพ่อ หลับตามองเห็นหลวงพ่อนั่งเคี้ยวหมากอยู่ตรงหน้า ฝ่ายพวกโจรก็ค้นบ้านโครมครามอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อไม่ได้ของมีค่าอะไรก็เตรียมกลับไป ได้ยินเสียงมันบ่นว่า

"นี่เจ้าของบ้านมันไปไหนหมด ?"

แล้วมันก็ลงเรือนเงียบหายไป

น่าประหลาดก็คือ วันรุ่งขึ้น มันกลับมาเอาเชี่ยนหมากที่มันถือติดมือไป เอามาโยนทิ้งคืนไว้ที่หน้าบ้านด้วย

หลวงพ่อฟังหญิงชราคนนั้นเล่าจบแล้ว ก็ตอบว่า

"ศรัทธา ความยึดมั่นถือมั่น โดยระลึกถึงคุณพระด้วยความเชื่อมั่น คุณพระจึงบันดาลให้โจรมองไม่เห็นโยม เมื่อมันกลับไปเห็นว่าในเชี่ยนหมากไม่มีเงินทอง มันก็เลยเอามาคืนให้..."
หลวงพ่อเงินเล่า

เรื่องทั้งหมดที่เล่าประกอบเรื่องพระเครื่องของหลวงพ่อเงินนั้น เป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง จึงขออนุญาตออกชื่อไว้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานสำหรับผู้สนใจจะได้ทราบข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ใช่เรื่องโฆษณาขายพระเครื่องหรือโฆษณาชวนเชื่อชื่อเสียงของหลวงพ่อเงิน เพราะบัดนี้หลวงพ่อเงินก็ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2519 นับจนถึงปีที่เขียนเรื่องนี้ พ.ศ.2529 ก็ 10 ปีเต็มแล้ว จึงไม่ได้เขียนเพื่อประโยชน์อย่างอื่นตามที่บางท่านอาจจะสงสัย

แต่ผู้เขียนขอเล่าเรื่องที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเมื่อประมาณ ปีพ.ศ.2516 หลวงพ่อเงินได้รับกิจนิมนต์ไปนั่งเป็นประธานในงานผูกพัทธสีมาวัดลาดเป้ง ผู้เขียนเรื่องนี้ได้นั่งรถยนต์กลับจากจังหวัดนครปฐมกับหลวงพ่อในระหว่างนั่งอยู่ในรถยนต์ด้วยกันตอนเบาะท้ายรถ หลวงพ่อก็เล่าให้ฟังในฐานะครูอาจารย์กับลูกศิษย์

หลวงพ่อเล่าว่า คราวหนึ่งได้นั่งแท็กซี่ไปจังหวัดลพบุรี ไปด้วยกัน 2 คัน หลวงพ่อนั่งคันหลัง คนที่ไปด้วยนั่งคันหน้า แล่นไปในระหว่างทางเวลากลางคืน ก็ถูกคนร้ายดักปล้นจี้แท็กซี่ เมื่อไม่ยอมให้เงินมัน มันก็ยิงเอา 2-3 นัด คนที่ถูกยิงก็สลบไป คือตกใจจนสลบไม่ได้สติ หลวงพ่อนั่งไปคันหลังจึงส่งกระแสจิตไปช่วยคุ้มครอง รถคันหน้าแล่นหนีไป มาถึงรถหลวงพ่อ มันไม่ยิง เพราะมันเห็นเป็นพระภิกษุนั่งอยู่ มันก็ไม่ยิง เมื่อพ้นอันตรายแล้ว คนขับก็หยุดดูอาการของคนที่ถูกปล้นแล้วถูกโจรยิง เขาฟื้นสติขึ้นมา ลุกขึ้นลูกปืนก็หลุดออกมาจากรักแร้ ในเสื้อผ้า 3 ลูก แต่ไม่เข้า ไม่มีบาดแผลที่ไหนเลยมีแต่ลูกปืน 3 ลูก

หลวงพ่อเล่าแล้วก็หัวร่อ ผู้เขียนก็ได้แต่นั่งฟัง ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะผู้เขียนเชื่อศีลธรรม คุณธรรมของหลวงพ่อ หลวงพ่อทรงศีลทรงคุณธรรม อยู่เต็มตัว จะคุยเรื่องโกหกหลอกลวงให้ฟังทำไม เพื่อประโยชน์อะไรเล่า ?

แต่เสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อผู้ถูกปล้นผู้ถูกยิงว่าชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ดูเหมือนจะบอกชื่อให้ฟังด้วย แต่ผู้เขียนมัวฉงนเสีย ไม่ได้จดจำไว้ คือเชื่อสนิทใจจนไม่สงสัยถึงแก่จะต้องจดชื่อไว้สอบถามเขาภายหลัง นึกได้ว่าคือ คุณอรุณี สุจริตจิตต์ ภรรยาของคุณวัฒนา สุจริตจิตต์ อดีตนายอำเภอซึ่งเคยเป็นครูของข้าพเจ้า




ประวัติพระเกจิอาจารย์ ประวัติพระคณาจารย์ พระเครื่องพระเกจิ

ประวัติหลวงพ่อบุญมี โฆสธัมโม วัดเภาเคือง รวมข้อมูลพระเครื่อง
ประวัติพ่อท่านลอย กุสโร วัดชายคลอง ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ประวัติหลวงพ่อเปรม ติสสโร วัดวิหารสูง มะกอกใต้ จังหวัดพัทลุง
ประวัติหลวงพ่อโปร่ง โชติโก วัดถ้ำพรุตะเคียน ท่าแซะ จ.ชุมพร
ประวัติหลวงปู่จันทร์ ฐิตาจาโร วัดซับน้อย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
ประวัติหลวงพ่อคง วัดธรรมโฆษณ์ จ.สงขลา
ประวัติหลวงพ่อเหลื่อม วัดนาท่อม พระเครื่องและวัตถุมงคลหายากเมืองพัทลุง
ประวัติพระครูพนังศีลวิสุทธิพุทธภักดี วัดศาลาแก้ว นครศรีธรรมราช
ประวัติหลวงพ่อแดง วัดโทตรี จ.นครศรีธรรมราช
ประวัติหลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด จ.นครปฐม
ประวัติหลวงพ่อแฉล้ม ฉันทวัณโณ วัดกระโดงทอง จ.อยุธยา
ประวัติหลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี
ประวัติพ่อท่านท้วง สำนักสงฆ์คลองแคว จ.นครศรีธรรมราช
ประวัติหลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ จ.กาญจนบุรี
ประวัติหลวงปู่แผ้ว ปวโร วัดประชาราษฎร์บำรุง (วัดรางหมัน)
ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
ประวัติ หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เหยียบน้ำทะเลจืด
ประวัติ พระอาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง article
ประวัติพ่อท่านไข่ วาจาสิทธิ์ วัดลำนาว จ.นครศรีธรรมราช
ประวัติพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน เทวดาเมืองคอน
ประวัติ พ่อท่านนวล ปริสุทโธ วัดไสหร้า (วัดประดิษฐาราม)
ประวัติ พ่อท่านเอื้อม กตปุญโญ วัดบางเนียน ละสังขารแล้ว
ประวัติหลวงพ่อจาด พระครูสิทธิสารคุณ วัดบางกระเบา
ประวัติ พระครูสุนทรดิตถคณี (นาค โชติพโล) วัดดินดอน
ประวัติพ่อท่านหีต ปภังกโร วัดเผียน(คีรีรัตนาราม) นครศรีธรรมราช
ประวัติ พ่อท่านเขียว กิตติคุโณ วัดห้วยเงาะ
ประวัติ หลวงปู่เสาร์ ธัมมจาโร วัดบูรพาเกิ้งใต้ จ.มหาสารคาม
ประวัติ หลวงพ่อแสง ธัมมสโร วัดในเตา
ประวัติหลวงพ่อตัด ปวโร วัดชายนา จ.เพชรบุรี
ประวัติ พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา article
ประวัติหลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดหนองจอก
ประวัติหลวงปู่ทวด วัดควนวิเศษ
ประวัติ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร article
ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร
ประวัติหลวงพ่อสาคร มนุญโญ วัดหนองกรับ จ.ระยอง
ประวัติหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
ประวัติ หลวงปู่แพงตา เขมิโย วัดประดู่วีรธรรม จ.นครพนม
ประวัติ หลวงปู่ถิน สารานุโม วัดบ้านดงเมืองน้อย
ประวัติหลวงปู่ทิม วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา
ประวัติ หลวงปู่แฟ้บ สุภัทโท วัดป่าดงหวาย จ.สกลนคร
ประวัติ พระอุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน
ประวัติ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี (พระครูโกวิทสมุทรคุณ)
ประวัติ หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง
ประวัติ พระอาจารย์หรีด วัดปาโมกข์
ประวัติพระอาจารย์ประสูติ ปิยธัมโม วัดในเตา
ประวัติ หลวงพ่อมุ่ย วัดป่าระกำเหนือ
พ่อท่านจันทร์ ประวัติ หลวงพ่อจันทร์ สุเมโธ วัดทุ่งเฟื้อ article
ประวัติหลวงปู่เขียว วัดหรงบล จ.นครศรีธรรมราช article
ประวัติหลวงพ่อปลอด ติสฺสโร วัดนาเขลียง article
ประวัติ หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน พระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต)
หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง
ประวัติพระอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา จ.พัทลุง รวมพระเครื่องและวัตถุมงคล article
ประวัติพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา(นำ แก้วจันทร์) article
ประวัติ พ่อท่านคลิ้ง จันทสิริ วัดถลุงทอง
ประวัติพ่อท่านแก่น วัดทุ่งหล่อ รวมพระเครื่องและวัตถุมงคล article
ประวัติ อาจารย์นอง วัดทรายขาว พระครูธรรมกิจโกศล article
ประวัติ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร วัดช้างให้ (พระครูวิสัยโสภณ ทิม)



[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (66231)

    กระผมรู้สึกทราบซึ้งมากครับจนพูดไม่ออกครับเพราะทุกอย่างที่ท่านเขียนมานั้น

  ทำให้คนอ่านพูดไม่ออกสักนิดเดี๋ยวครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น utan (saneetantikul-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-05-29 15:24:50


ความคิดเห็นที่ 2 (88271)
ผมศรัทธาในตัวท่าน ตอนผมไปเป็นทหารที่นครปฐมและผมก็ได้เหรียญปี2506ยิ่งเพิ่มความศรัทธาผมไปพวกเซียนก็หาว่าเหรียญท่านปลอมผมบูชามาแค่ 100บาท เนื้ออาปาก้า สวยครับ ด้านหลังเป็นพัดยศ เพราะความดีของท่านครับผมจึงเก็บ เหรียญท่านไว้ มีเหรียญเดียวครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น arm วันที่ตอบ 2009-09-04 22:30:07


ความคิดเห็นที่ 3 (88353)

ดีใจมากค่ะที่เปิดดูแล้วได้รับรู้ถึงสิ่งที่อยากรู้เนื่องจากได้ฝันถึงวัดดอนยายหอม คิดว่าคงเป็นกุศลดีๆที่เคยทำ

ไว้จึงได้พบและได้อ่านเพื่อเป็นความปิติในใจ

ผู้แสดงความคิดเห็น pat วันที่ตอบ 2009-09-13 11:33:50


ความคิดเห็นที่ 4 (89121)

สวยมาก...แต่ยัง

ผู้แสดงความคิดเห็น 11รด วันที่ตอบ 2009-12-11 20:24:49


ความคิดเห็นที่ 5 (106371)
ขอบคุณมากครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น โจ้ (silber_man-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-02-04 15:18:40


ความคิดเห็นที่ 6 (106700)

เป็นคนนครปฐมค่ะ  แต่อยู่ติดกับกรุงเทพ ฯ คุณย่าเคยเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนกาล เวลาที่น้ำท่วม หรือเรียกว่า ปีน้ำโล้ง คือน้ำจะท่วมไปทุกย่อมหญ้าจนไม่มีพื้นดินเเลย ที่บ้านย่าจะเลี้ยงควาย ย่าจะต้อนควายไปกินหญ้าที่ดอนยายหอม เพราะเป็นสถานที่ ที่เดียว ที่สูงที่สุดและมีหญ้าขึ้นอยู่มากมาย ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้จักดอนยายหอมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(แต่ยังไม่เคยไป) และที่บ้านข้าพเจ้า คุณพ่อก็มีหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอมอยู่รุ่นหนึ่งเหมือนกัน   ภูมิใจค่ะ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ตะวัน วันที่ตอบ 2010-03-11 11:21:37


ความคิดเห็นที่ 7 (106847)

ฃอความกรุณาไครที่มีคาถา ของหลวงพ่อเงินช่วยลงไห้ด้วยครับเมล์มาก็ใด้ไม่เห็นมีใครลงไว้เลยขอบพระคุณอย่างสูง

ผู้แสดงความคิดเห็น boonnp (shrut2009-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-02 11:35:01


ความคิดเห็นที่ 8 (107174)

สุดยอดมากครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น boongu (yutana99-dot-5-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-05-11 10:30:10


ความคิดเห็นที่ 9 (135295)
นามสกุล หลวงพ่อ ด้วงพูล หรือว่าด้วงมูลครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น yut วันที่ตอบ 2010-09-04 18:31:58


ความคิดเห็นที่ 10 (135834)

ผมชอบมากเลยครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น แป๊ะยิ้ม (sanya_kkk-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-11-08 13:43:41


ความคิดเห็นที่ 11 (137048)

อ่านแล้วได้ความรู้มากมาย

ขอบคุณที่ทานเอามาลงเผยแพร่ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น new (kmit_newwagon-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-11-29 16:23:47


ความคิดเห็นที่ 12 (147672)

ขอบคุณครับสําหรับเรื่องดีๆ                                                                                                    

ผู้แสดงความคิดเห็น คนดอนยายหอม วันที่ตอบ 2011-05-12 11:47:20


ความคิดเห็นที่ 13 (148054)
ขอบคุณมากครับ ศรัทธาท่าน ความดีท่านครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น ประนอม วันที่ตอบ 2011-07-27 09:20:43


ความคิดเห็นที่ 14 (148103)

ผมเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มา 2 ครั้ง หนักพอดู เห็นสภาพรถคิดว่าคนข้างในไม่น่ารอด แต่ท่านเชื่อหรือไม่ผมและคนในรถไม่เป็นอะไรเลยเพราะหน้ารถและในคอของผมคล้องเหรียญหลวพ่อเงินไว้ สุดยอดของเทพเจ้า สุดยอดในหัวใจของผม

ผู้แสดงความคิดเห็น โยธี เชิญขวัญชัย (yothi1 -at- hotmail-dot- com)วันที่ตอบ 2011-08-07 16:08:36


ความคิดเห็นที่ 15 (150211)

พี่ครับแล้วที่ว่าหลวงพ่อเงิน  จนฺทสุวณฺโณ ท่านเป็นอาจาย์ของเสือผ่ากนะจริงหรือป่าวครับ

ผมได้รู้มาว่าท่านสักให้เสือผ่าก 9 จังหวัดจริงปะ

แล้วหลวงพ่อท่านก็ต้องหักเข็มสักเพราะกรมตำรวจมาขอใช้ปะครับ

จาก เด็กชอบส่อง[พี่ตอบกับให้ไว้ๆด้นะพี่]

ผู้แสดงความคิดเห็น เด็กชอบพระ วันที่ตอบ 2011-10-11 02:37:27


ความคิดเห็นที่ 16 (150304)
พี่ครับอยากรู้ราคาเหรียญ6รอบหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอมสภาพ70-80ปอเช็น เเละราคาเหรียญจิกโก่เล็กเล็กบหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอมสภาพ70-80ปอเช็น ช่วยตอบให้ผมรู้หน่อยนะครับ...เพราะผมกำลังจะเปล่าเเต่ไม่เเน่ใจเรื่องราคาว่า ปัจจุบันเล่นกันอยู่ราคาเท่าไรเเล้วจะได้ไม่เสียรู้เขา
ผู้แสดงความคิดเห็น อยากรู้ราคาพระ (looktao-dot-007-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-11-03 00:20:40


ความคิดเห็นที่ 17 (150946)
ศัทธาหลวงพ่อเงินมากค่ะ เพราะเป็นคนดอนยายหอมค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น สุกัญญา ลี้เจริญ วันที่ตอบ 2012-05-07 17:03:56


ความคิดเห็นที่ 18 (150977)

ผมมีหลวงพ่อเงินอยู่ 1 องค์ครับ

วัดดอนยายหอม ปี 2500 รุ่น 2

ใครสนใจติดต่อได้ที่นี่เลยครับ 087-1871601

downkung@hotmail.co.th

ผู้แสดงความคิดเห็น ศรัณย์ (downkung-at-hotmail-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2012-05-16 16:12:38


ความคิดเห็นที่ 19 (151123)
ข้าพเจ้าขุนศึกไตรรงค์ ขอบพระคุณบุญบารมีของหลวงปู่ที่ช่วยปกป้องข้าพเจ้าไม่ให้เจ็บไม่ให้ไข้ไม่ให้มีเพศภัยอันตรายไดๆเกิดกับตัวข้าพเจ้า
ผู้แสดงความคิดเห็น ข้าพเจ้าขุนศึก ไตรรงค์ ทรัพย์ทวีกิจรุ่ง (pop_trirong-at-hotmail-dot-co-dot-th)วันที่ตอบ 2012-07-06 03:13:41


ความคิดเห็นที่ 20 (151836)

 มีหลวงพ่อเงินรุ่น๑คะ อยากทราบราคาเช่าคะ

ผู้แสดงความคิดเห็น แพมรดา วันที่ตอบ 2013-09-14 08:40:30


ความคิดเห็นที่ 21 (153815)

 อ่านแล้วเหมือนมีคนเอาแว่นมาสวมให้ มองโลกชัดขึ้นมาก ขอบคุณคร๊าบ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น เอกฉัตร (aud5515-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2014-11-12 21:55:12


ความคิดเห็นที่ 22 (174207)

 อนุโมทนาบุญร่วมกับท่านท่ีนำความดีหรือลายละเอียดของหลวงพ่อมาบอกเล่าแก่ลูกศิษย์และผู้ศัทธาได้รับรู้อนุโมทนาสาธุ

ผู้แสดงความคิดเห็น ตาโอ๊ค วันที่ตอบ 2017-07-22 22:09:00



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล