
พระท่ามะปรางกรุวัดท่ามะปราง และ พระท่ามะปรางของกรุวัดสะตือ
พระท่ามะปราง กรุวัดท่ามะปราง พิษณุโลก เงี้ยวทิ้งปืน
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่อง พระท่ามะปราง หรือท่ามะปรางค์ หรือท่าพระปรางค์ หรือที่โบราณเรียก เงี้ยวทิ้งปืน กันดีกว่านะครับ เรื่องชื่อเรียกพระท่ามะปรางนี้จะเขียนอย่างไรและมีที่มาอย่างไร
วัดท่าพระปรางค์ เป็นวัดหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ที่เรียกว่า "วัดท่าพระปรางค์" ก็เพราะอยู่ริมน้ำและมีพระปรางค์เป็นหลัก ต่อๆ มาชาวบ้านเรียกเพี้ยนเป็น "วัดท่ามะปราง" เข้าใจว่าวัดนี้คงเคยเป็นวัดหลวงในสมัยสุโขทัย และต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ หลักฐานที่เห็นก็คือตัวองค์พระปรางค์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานแบบพระปรางค์ ที่นิยมสร้างกันในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเช่นเดียวกับวัดพระศรี รัตนมหาธาตุ เพราะในยุคนั้นนิยมสร้างพุทธสถานตามแบบขอม
พระเครื่องกรุวัดท่าพระปรางค์ วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านพระเครื่อง ที่สำคัญอยู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า พระท่าพระปรางค์ หรือที่ในปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น พระท่ามะปราง พระท่ามะปรางที่พบมีอยู่สองเนื้อคือ พระเนื้อดินเผาและพระเนื้อชินเงิน และพระกรุนี้ก็เป็นต้นของชื่อพระในสกุลนี้ทั้งหมด เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2445 ได้มีพวกเงี้ยวประมาณ 500 คน ภายใต้การนำของ ปะกาหม่อง เข้าปล้นเมืองแพร่ แล้วทำลายบ้านเรือนราษฎร เผาที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ทั้งยังฆ่าฟันราษฎรจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ยกไปปราบเงี้ยวทันที


ในขณะที่ยกกองทัพมาถึงเมืองพิษณุโลกนั้น ก็ได้มีการเปิดกรุพระท่ามะปรางพอดี จึงได้นำพระมาแจกจ่ายให้แก่ทหารที่ไปราชการในครั้งนั้น และเมื่อกองทหารมาถึงเมืองแพร่ก็ได้เกิดการสู้รบกันอย่างอาจหาญทันที ปรากฏว่าพวกเงี้ยวได้ยิงปืนเข้าใส่ทหารไทยที่ยกขึ้นไปปราบ แต่หาได้ทำอันตรายแก่ทหารไทยอย่างไรไม่ เนื่องจากปืนของพวกเงี้ยวยิงไม่ออก ถึงยิงออกจนทหารไทยล้มคว่ำแต่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีก อย่างกับทหารผี พวกเงี้ยวพากันตกใจถึงกับโยนปืนทิ้ง วิ่งหนีแตกพ่ายเข้าป่าไปดื้อๆ พวกที่หนีไม่ทันก็โดนจับ ศึกเงี้ยวครั้งนี้จบลงอย่างรวดเร็ว มีเงี้ยวถูกจับได้ถึง 195 คน และถูกประหารชีวิตทั้งหมดที่เมืองแพร่นั่นเอง พระท่ามะปราง ในสมัยก่อนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เงี้ยวทิ้งปืน"
ข่าวเรื่องทหารไทยยิงไม่ออกนั้นแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วว่าทหารไทยต่างก็มี พระท่ามะปราง ที่ได้รับแจกจากเมืองพิษณุโลกทุกคน จึงมีการค้นหาพระท่ามะปรางกันมากขึ้น และได้พบพระท่ามะปรางขึ้นอีกหลายๆ กรุในพิษณุโลก เช่น ที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระท่ามะปราง กรุเจดีย์ยอดทอง กรุวัดสะตือ กรุวัดอรัญญิก เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ยังพบอีกหลายกรุในจังหวัดอื่นๆ อีก เช่น ที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น พระทั้งหมดมีลักษณะโดยรวมคล้ายๆ กันมาก ดังนั้น เมื่อพบพระแบบนี้ที่กรุใดจังหวัดใดก็ตามจะเรียกชื่อว่า "พระท่ามะปราง" นำหน้าชื่อกรุหรือชื่อจังหวัดที่พบ พระท่ามะปราง กรุวัดต่างๆ เช่น พระท่ามะปรางกรุวัดสะตือ พระท่ามะปรางสุโขทัย พระท่ามะปรางกำแพงเพชร พระท่ามะปรางกรุสำปะซิว เป็นต้น ข่าวพระเครื่อง
เรื่องพุทธคุณของพระท่ามะปรางทุกกรุจะเหมือนๆ กัน คือเด่นทางด้านคงกระพันชาตรีแคล้วคลาด และเป็นมหานิยมอีกด้วย ในวันนี้ผมได้นำ รูปพระท่ามะปรางกรุวัดท่ามะปราง และพระท่ามะปรางของกรุวัดสะตือมาให้ชมกันสองกรุครับ ด้วยความจริงใจข่าวสด