
งานเทศกาลคเณศจตุรถี
รวมพลคนศรัทธาพระพิฆเนศ
" เทศกาลคเณศจตุรถี" นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ
จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10
ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ
เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุด
แก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน ในเทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการ
เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศอินเดียและทั่วโลก
มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา
จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ
ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพันองค์
ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล
เทศกาลคเณศจตุรถีและ พิธีกรรมต่างๆ กระทำกันมาแต่โบราณ
มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมสำคัญที่กระทำกันก็คือ
"พิธีสรงน้ำ สรงนม ถวายอาหารและอารตีบูชาไฟ" โดยในเมืองไทยนั้น
เมื่อเทศกาลนี้มาถึงกลุ่มผู้เคารพนับถือในองค์พระพิฆเนศจะร่วมกันประกอบ
พิธีกรรมตามรูปแบบที่ยึดถือกันมา
เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตอันเกิดจากบารมีของเทพเจ้าแห่งความสำเร็จองค์นี้
สำหรับปีนี้ ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับห้างเดอะมอลล์ บางแค จัดงาน
"คเณศจตุรถี" ขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 ก.ย. 2551 ณ เอ็มเอ็มซี ฮอลล์ ชั้น 4
ห้างเดอะมอลล์ บางแค โดยในวันที่ 3 ก.ย.2551
ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติขององค์พระพิฆเนศ จะมีพิธียิ่งใหญ่เป็นพิเศษ
และทุกวันในเวลา 17.19 น จะมีพิธีอารตีบูชาไฟขอพรพระพิฆเนศ
โดยพราหมณ์จากประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ได้มีการอัญเชิญรูปเคารพของ 12
เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วโลกเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูง
พระพิฆเนศวร (พระพิฆเนศ) หรือพระคเณศ
เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ตามความเชื่อว่าเป็นเทพแห่งศิลปะความรู้
และความสำเร็จ ถ้าหากบูชาจะป้องกันความขัดแย้ง และชนะในอุปสรรคทั้งปวง
เป็นเทพเหนือการรจนาหนังสือใดๆ
จึงพบว่าชาวฮินดูจะกล่าวคำกราบไหว้พระพิฆเนศเมื่อจะแต่งหนังสือ
โดยเฉพาะวรรณคดีอินเดียจะไหว้พระพิฆเนศด้วยโศลกบทแรก
เนื่องเพราะทรงเป็นเทพแห่งการชนะอุปสรรคทั้งปวง คือขจัดความขัดข้องทั้งมวล
อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจกรรมต่างๆ
ดังนั้นชาวฮินดูจึงนิยมกราบไหว้ก่อนกระทำการใด
พิฆเนศ นั้นเป็นนามเฉพาะ
หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในอุปสรรค เป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่างๆ
เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมใด หรือศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการใด
จึงมีกล่าวคำไหว้บูชาต่อพระพิฆเนศวรก่อน เพื่อขอพรให้ปลอดภัย
และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวง และอำนวยพรให้เกิดความสำเร็จลุล่วงด้วยดี
ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างพระพิฆเนศวรเป็นสิ่งมงคลเพื่อสักการบูชาในหลายรูป แบบ เช่น
รูปแกะสลัก, เทวรูปบูชาขนาดต่างๆ, รูปหล่อลอยองค์ เหรียญ, ภาพวาด, ผ้ายันต์
ตำนานการ กำเนิดของพระพิฆเนศนั้นมีกล่าวกันไปต่างๆ กัน
ตามแต่ละชาติจะเขียนขึ้นมา จึงมีหลายตำนานตามความเชื่อและความนับถือ
โดยรูปลักษณ์ก็จะแตกต่างกันไปตามคติความเชื่อของแต่ละชาติ
ซึ่งพระพิฆเนศมีหลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระคเณศ พระคณบดี คณนายก
(ผู้เป็นใหญ่ในคณะเทพ) วิฆนราช (ผู้เป็นใหญ่ในความติดขัด) วิฆนนาศน์
(ผู้ขจัดความขัดข้อง) กรีมุจ (ผู้มีหน้าเป็นช้าง) เอกทันต์ (ผู้มีงาเดียว) อาขุรถ
(ผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ) สัพโพทร (ผู้มีท้องย้อย) ลัมพกรรณ (ผู้มีหูยาน)
รูปลักษณ์ของพระพิฆเนศโดยปกติถืองาช้างข้างหนึ่ง แต่ของทิเบต จีน ญี่ปุ่น
จะถือหัวผักกาดมีใบสามแฉกคล้ายตรี หรือวชิราวุธ ของอินเดียท้องจะพลุ้ย และมีงาเดียว
ส่วนของไทยท้องไม่พลุ้ย และบางครั้งมีงาครบทั้ง 2 ข้าง
ด้วยเหตุที่พระพิฆเนศมีถึง 51 ปาง จึงมีรูปลักษณะท่าทางมากมาย
และบางทีก็มีหลายพระหัตถ์ จึงมีสิ่งของที่ทรงถือในพระหัตถ์แตกต่างกันออกไป เช่น
ถือขวาน ค้อน จักร ตรี เชือกบาศ งา ส้ม ขนมต้ม ถือพิณ ถือดอกบัวและทับทิม เป็นต้น
ในโอกาสนี้ทางชมรมพระพุทธรูปฯ
จึงขอเชิญบรรดาผู้ศรัทธาในพระพิฆเนศเข้าร่วมงานคเณศจตุรถี
หรือวันคล้ายวันเกิดของท่านได้ตามวันเวลาดังกล่าว
โดยผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้รับมอบภาพพระพิฆเนศ
พร้อมหนังสือประวัติและพิธีบูชาฟรี! ที่มาข่าวสด