
พระขุนแผนใบพุทรา กรุวัดใหญ่ชัยมงคล |
พระขุนแผนใบพุทรา กรุวัดใหญ่ชัยมงคล
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในขบวนที่มีชื่อว่า "พระขุนแผน" ด้วยกันแล้ว พระกรุที่มีราคาสูงที่สุดและนับว่าหายากที่สุดก็ต้องยกให้พระขุนแผนเคลือบ ของกรุวัดใหญ่ชัยมงคลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ และพระกรุนี้สร้างในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกด้วย
วัดใหญ่ชัยมงคลเดิมชื่อวัดป่าแก้ว เป็นพระอารามหลวงซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1900 และต่อมาในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราช และทรงได้รับชัยชนะ เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นที่วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่จำพรรษาของสมเด็จพระนพรัตน์ พระเถระผู้ยิ่งใหญ่และได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดใหญ่ชัยมงคล เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามครั้งนั้น
ในการนั้นได้มีการสร้างพระเครื่องบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ด้วย พระที่สร้างบรรจุไว้นั้นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ก็คือสมเด็จพระนพรัตน์ และพิธีในครั้งนั้นต้องยิ่งใหญ่มากด้วยเช่นกัน พระที่พบในครั้งหลังมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ แต่พระขุนแผนเคลือบนั้นกลับพบได้น้อยมาก สันนิษฐานว่าคงจะสร้างประดับติดไว้รอบๆ ด้านในขององค์พระเจดีย์ และเมื่อผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จึงทำให้พระขุนแผนเคลือบที่ติดอยู่กับผนังเจดีย์เกิดร่วงหล่นลงมา พระส่วนใหญ่จึงแตกหักชำรุดเสียเป็นส่วนใหญ่คงเหลือที่สมบูรณ์จำนวนไม่มากนัก ทำให้ปัจจุบันหาได้ยากมากและสนนราคาสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียวครับ
พระขุนแผนเคลือบนั้นเท่าที่พบมีอยู่ด้วยสองพิมพ์ทรงคือพิมพ์อกใหญ่ ลักษณะคล้ายกันมากกับพระขุนแผนของกรุวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี และพิมพ์อกเล็กหรือพิมพ์แขนอ่อน ซึ่งเป็นเนื้อกระเบื้องเคลือบเช่นเดียวกับพิมพ์อกใหญ่ ทั้งสองพิมพ์เป็นพระที่หายากและราคาสูงทั้งสองพิมพ์นอกจากนี้ภายในกรุนี้ยัง พบพระเครื่องอีกหลายพิมพ์ ทั้งพระขุนแผนเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง พระขุนแผนในพุทราเนื้อชินเงิน พระขุนแผนใบพุทราเนื้อดินอีกด้วย
พระขุนแผนใบพุทรานี้เป็นพระที่พบขึ้นจากกรุพร้อมกับพระขุนแผนเคลือบ โดยพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2445 ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ก็ยังมีพบอีกครั้ง และพบจำนวนมากกว่าพระขุนแผนเคลือบ สนนราคาจึงยังไม่แพงมากนัก และเป็นพระเครื่องที่น่าสนใจมากเนื่องจากสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับพระขุนแผนเคลือบ พระขุนแผนใบพุทราเนื้อดินถ้าดูจากรูปพรรณสัณฐานโดยรวมแล้วก็มนๆ กลมๆ คล้ายกับใบพุทราจริงๆ ลักษณะองค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัวสองชั้นใต้ฐานมีแท่งนูนคล้ายเป็นก้านของดอกบัว ที่พระเศียรมีประภามณฑลโดยรอบ เท่าที่พบมีทั้งชนิดดินละเอียดและเนื้อค่อนข้างหยาบ ด้านหลังมักอูมนูนน้อยๆ ส่วนพระขุนแผนใบพุทราเนื้อชินนั้นเป็นพระเนื้อชินเงิน รูปพรรณของพระโดยส่วนมากมักจะติดชิดกับองค์พระไม่มีปีกกลมมนเช่นพระเนื้อดิน สนนราคาพระเนื้อดินจะสูงกว่าพระเนื้อชินมาก พระเนื้อดินราคาจะอยู่ที่หลักหมื่นมากน้อยก็แล้วแต่ความสวยสมบูรณ์เป็นหลัก
พุทธคุณของพระขุนแผนใบพุทราก็เฉกเช่นเดียวกับพระขุนแผนเคลือบ ซึ่งเด่นทั้งทางด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยมครับ พระขุนแผนใบพุทราตามที่ผมกล่าวมานี้จึงเป็นพระที่น่าสนใจและมีความสำคัญ เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของชาวไทยเรา ถ้าหากพระขุนแผนเคลือบไว้บูชาไม่ได้ พระขุนแผนใบพุทรานี่แหละครับน่าบูชามากที่สุด ในวันนี้ผมก็มีรูปของพระขุนแผนใบพุทราเนื้อดินมาให้ชมกันทั้งสองด้านหน้าและ ด้านหลังครับ ด้วยความจริงใจ แทน ท่าพระจันทร์ ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด