"เหรียญพระปฏิมากรมงคลบพิตร ปี 2460" เหรียญพระพุทธที่นับว่าทรงคุณค่าเหรียญหนึ่ง เนื่องด้วยพระประธานจำลองมาจากพระพุทธรูปเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวพระนครศรีอยุธยาและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศครับผม
"พระมงคลบพิตรหรือหลวงพ่อมงคลบพิตร" เป็นพระพุทธรูปหุ้มทองสัมฤทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดังปรากฏในหนังสือ "ประวัติพระมงคลบพิตร" ของ นายถมยา กุศลสร้าง กล่าวไว้ว่า ประวัติ หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร หรือ พระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร "..หน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูงแต่ทับเกษตรถึงพระเมาฬี 12.45 เมตร พระกรรณยาวข้างละ 1.80 เมตร พระเนตรยาวข้างละ 1.05 เมตร พระนาสิกตั้งแต่ใต้พระอุณาโลมถึงปลายพระนาสิก 1.23 เมตร ฐานปูนก่อบนพื้นพระวิหารภายในสูง 5.50 เมตร รวมทั้งองค์พระด้วย 16.95 เมตร.."
ดูจากพุทธลักษณะแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น อันเป็นช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเมืองเหนือและรับเอาแบบอย่างการสร้างพระพุทธรูปและพระเจดีย์มาจากสุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารและหนังสือเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาหลายๆ ฉบับ อาทิ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า "พระมงคลบพิตรนี้ เดิมประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกนอกพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้ชะลอมาไว้ทางทิศตะวันตก ตรงที่ประดิษฐานอยู่ทุกวันนี้" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า "พระมงคลบพิตรนี้ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวร และสร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าทรงธรรมพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างต่อ จึงย้ายไปสร้างตรงที่ทรงพระราชดำริเห็นว่าเหมาะสม" ฯลฯ
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 วัดวาอารามต่างๆ ถูกเผาทำลายจนสิ้น รวมทั้ง "พระวิหารมงคลบพิตร" และได้ถูกปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2461 พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาในสมัยนั้น ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยได้บูรณะพระวิหาร พระเมาฬีและพระกรข้างขวา การซ่อมครั้งนี้ ได้พระพุทธรูปจำนวนหนึ่งในพระกรข้างขวา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนคร ศรีอยุธยา และได้จัดสร้าง "เหรียญพระปฏิมากรมงคลบพิตร" เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมสมทบทุนในการบูรณะ อันนับเป็นเหรียญรุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบหูเชื่อม พื้นเรียบ ยกขอบทั้งหน้า – หลัง มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง พิมพ์ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อมงคลบพิตร ปางมารวิชัย ประทับบนอาสนะแท่น จารึกอักษรโดยรอบว่า "พระปฏิมากร มงคลบพิตร ศรีอยุธยา" ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็น "ยันต์เฑาะว์"
การจัดสร้างพระในครั้งนี้ มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นร่วมปลุกเสก อาทิ พระญาณไตรโลก (ฉาย) วัดพนัญเชิง พระพุทธวิหารโสภณ (อ่ำ) วัดวงฆ้อง หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม พระอธิการชม วัดพุทไธศวรรย์ หลวงปู่ปั้น วัดพิกุลโสคัน และหลวงพ่อขันธ์ วัดนกกระจาบ เป็นต้นจะเห็นได้ว่า "เหรียญพระปฏิมากรมงคลบพิตร" นับเป็นเหรียญพระพุทธอันทรงคุณค่า น่าสะสมทีเดียวครับผม ข่าวพระเครื่อง
พันธุ์แท้พระเครื่อง โดย ราม วัชรประดิษฐ์ ข่าวสด