 หลวงปู่ทูล หัฏฐสโร
เกจิไสยเวทสายเขมร |
"หลวงปู่ทูล หัฏฐสโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนหลี่ ต.หนองบัวแก้ว
อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมของภาคอีสาน
มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ร่วมสมัยกับพระครูสีหราช
วัดบ้านแก่นท้าว
อัตโนประวัติ หลวงปู่ทูล มีการบันทึกไว้น้อยมาก
จากการสืบค้นข้อมูลจากวัด ทราบเพียงว่า หลวงปู่ทูลเกิดที่บ้านทับค่าย จ.สุรินทร์
ชื่อเดิมทูล บุญสะอาด เกิด ปี พ.ศ.2404 ส่วนบิดา-มารดาไม่ทราบชื่อ
ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
ชีวิตช่วงวัยเยาว์ พออายุได้ 12 ปี
โยมบิดา-มารดา ได้นำท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดในหมู่บ้าน ครั้นอายุครบ 20 ปี
ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ไม่ทราบชื่อพระอุปัชฌาย์
ภายหลังอุปสมบท
ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความมุ่งมั่น ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัยที่ลึกซึ้ง
ท่านเดินทางไปศึกษาต่อที่สำนักวัดพระโต จ.ศรีษะเกษ
ยุคนั้นเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเขต อีสานตอนใต้
ท่านต้องศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ไทยน้อย อักษรลาว
หลังมุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปี มีความรู้แตกฉานสามารถอ่านเขียนได้อย่างชำนาญ
ประมาณ ปี พ.ศ.2427 บ้านทับค่าย เกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี
โยมบิดา-มารดา ตัดสินใจอพยพครอบครัวมาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่บ้านดอนหลี่
ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
ด้วยความเป็นห่วงโยมบิดา-มารดา
ที่ชรามากแล้วรวมทั้งน้องๆ หลวงปู่จึงติดตามครอบครัวมา
จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนหลี่ และจำพรรษาอยู่ที่นี่มาโดยตลอด
หลวงปู่ทูลเป็นผู้มีอุปนิสัยชมชอบความสงบวิเวก
ท่านมักออกเดินธุดงควัตรไปแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสาน
ตามรอยพระตถาคต โดยเฉพาะป่าในประเทศกัมพูชา
รวมทั้งได้ศึกษาไสยเวทจากพระเกจิเขมรหลายรูป เก่งทางด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี
ล่องหนหายตัว กันบ้านกันเมือง
จากการที่หลวงปู่ทูล
เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย มีพุทธาคมแก่กล้า
ทำให้หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็วในเขต ภาคอีสาน
ในแต่ละวันจึงมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ
รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดโทนที่เข้มขลังจากหลวงปู่อย่างล้นหลาม
ถึงแม้วัตถุมงคลของท่านจะเข้มขลังเพียงใดก็ตาม
แต่ท่านไม่เคยโอ้อวด กลับพร่ำสอนให้ญาติโยมดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ขอให้ญาติโยมประกอบแต่กรรมดี หลวงปู่ทูล ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา
โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค หาได้เก็บงำไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่
ท่านได้นำมาพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัดไม่ว่าจะเป็นกุฏิ กำแพงแก้ว ประตู
โดยเฉพาะอุโบสถ ท่านได้ขอแรงญาติโยมร่วมกันสร้าง สมัยก่อนนั้นปูนซีเมนต์ยังไม่มีขาย
เป็นสินค้าที่หายาก ต้องใช้เกวียนเทียมควายหลายสิบเล่มไปขนหอยกาบจากลำน้ำมูล
จากนั้นนำมาเผาผสมกับยางไม้ทำเป็นปูนใช้ก่อสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จ
ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้ทางกรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว
หลวงปู่ทูล วัดบ้านดอนหลี่
ยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร
โดยท่านได้ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น นอกจากท่านจะรับหน้าที่เป็นครูสอนแล้ว
ยังจัดหาพระสงฆ์และฆราวาสที่มีความรู้มาเป็นครูสอนประจำ
ทำให้สำนักเรียนวัดบ้านดอนหลี่ ยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังดังขจรไกล
แต่ละปีมีพระภิกษุ สามเณรมาศึกษาเล่าเรียนนับร้อยรูป
นอกจากนี้
หลวงปู่ยังชมชอบการทำเกษตร หากว่างจากวัตรปฏิบัติ จะพาภิกษุสามเณร ปลูกพืชผักผลไม้
อาทิ แตงกวา สับปะรด เผือก มัน เป็นไว้สำหรับฉันเพื่อผ่อนเบาภาระญาติโยม
สำหรับตำแหน่งทางปกครองหลวงปู่ทูล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนหลี่
เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นเจ้าคณะตำบล
ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร หลวงปู่ทูล
ได้ปวารณาตนสืบทอดพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ช่วงปัจฉิมวัยท่านอาพาธบ่อยครั้ง
พ.ศ.2484 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคชรา สิริอายุ 80 พรรษา 60 แม้หลวงปู่ทูล
จะละสังขารไปนานกว่าหกสิบปี
แต่คุณงามความดีของท่านยังปรากฏอยู่ในจิตใจพุทธศาสนิกชนชาวอีสานอย่างไม่เสื่อมคลายตราบจนถึงปัจจุบัน
ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด