ReadyPlanet.com




แนะ8วิธีดูแบงก์ปลอม


แนะ8วิธีดูแบงก์ปลอม เหนือ-อีสานระบาดหนัก ผวาไม่กล้ารับใบละพัน

คอลัมน์ สดจากสนามข่าว
วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6602 ข่าวสดรายวัน
ที่มา...
www.khaosod.co.th

กลับมาระบาดอีกครั้งกับแบงก์ปลอมที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว

เดี๋ยว นี้ไม่ว่าใครจะรับเงิน-จ่ายเงินเป็นต้องยกแบงก์ขึ้นส่องดูเพื่อให้ เกิดความแน่ชัด ว่าแบงก์ที่อยู่ในมือเป็นแบงก์จริงหรือแบงก์ปลอมกันแน่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่ากันว่าวันไหนขายของได้แบงก์ปลอมโดยเฉพาะแบงก์พันเป็นอันต้องกุมขมับกันเลยทีเดียว

สร้างความหวาดผวาไปตามๆ กัน

ยิ่ง ในระยะหลังมีข่าวพบแบงก์ปลอมใบละพันแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ ยิ่งทำให้ทุกคนต่างพากันหวาดผวาว่าเงินในกระเป๋าจะมีแบงก์ปลอมปะปนด้วยหรือ เปล่า? หรือจะเผลอไปรับแบงก์ปลอมมาจากที่ใดที่หนึ่งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์?

ทำให้เวลาจะใช้เงินต้องคิดหน้าคิดหลังอยู่นาน

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้!!?



ใน เขตกรุงเทพฯ พบการแพร่ระบาดอย่างหนักตามท้องตลาด ร้านค้าปลีก ไปจนถึงปั๊มน้ำมัน วิธีการคือกลุ่มคนร้ายจะเอาแบงก์พันปลอมไปซื้อของที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บุหรี่ เหล้า และสินค้าทั่วไป รวมไปถึงการเติมน้ำมัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอนและใช้ประโยชน์จากข้าวของเหล่านั้น

นอกจาก นี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่อย่าง จ.ขอนแก่น นครราชสีมา เชียงราย เชียงใหม่ และจังหวัดที่ติดแนวชายแดนอย่าง จ.ตราด สระแก้ว อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และยโสธร ก็มีการใช้แบงก์ปลอมอย่างแพร่ระบาด จนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องออกตรวจตราและสกัดกั้นเพื่อไม่ให้เกิดการ แพร่หลาย เนื่องจากเป็นการสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถวตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว ซึ่งมีรายงานว่าเป็นแหล่งแบงก์เก๊แหล่งใหญ่ ตำรวจกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด



สถานการณ์ การแพร่ระบาดของแบงก์ปลอม ทำให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม 1 (รอง ผบ.ตร.ปป.1) มีบันทึกข้อความ ที่ 0001 (ปป1)/8928 ลงวันที่ 19 ธันวาคม ถึง ผบช.น. ผบช.ก. ผบช.ภาค 1-9 และ ผบก.กองพัฒนาการป้องกันและควบคุมอาชญากรรม (กพป.) ให้เร่งรัดป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของธนบัตรปลอมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะธนบัตรชนิดราคา 1,000

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลปี ใหม่ซึ่งมีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยจำนวน มาก ก็จะยิ่งทำให้แบงก์ปลอมมีโอกาสแพร่ระบาดได้มาก ดังนั้น การกวดขันจับกุมและการป้องกันโดยการให้ความรู้กับประชาชนในการสังเกตตรวจสอบ แบงก์ปลอม จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดการแพร่ระบาดได้

ต้องรีบดำเนินการก่อนที่ทุกอย่างจะสาย



ส่วน วิธีการตรวจสอบแบงก์ปลอมอย่างง่ายๆ พ.ต.อ.เสรีย์ จันทรประทิน นักวิทยาศาสตร์ (สบ.5) กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ออกมาอธิบายจุดสังเกตธนบัตรด้วยตนเอง 8 วิธี

เริ่มจาก 1.ให้ดูที่ลายน้ำพระบรมสาทิสลักษณ์ มองเห็นได้ชัดเจน เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง และรูปลายไทยจะโปร่งแสงเป็นพิเศษ 2.แถบสีโลหะในเนื้อกระดาษ นำเนื้อกระดาษตามแนวตั้ง เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง จะเห็นตัวเลขและตัวอักษรโปร่งแสง 3.พิมพ์เส้นนูน พระบรมสาทิสลักษณ์ ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะรู้สึกสะดุด 4.ตัวเลขแฝง ซึ่งอยู่ในลายไทย มองเห็นได้ เมื่อยกธนบัตรเอียงเข้าหาแสงสว่าง โดยมองจากมุมล่างซ้ายเข้าหากึ่งกลางธนบัตร 5.ภาพซ้อนทับพิมพ์แยกส่วนไว้บนด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อยกส่องกับแสงจะมองเห็นภาพสวยงาม โดยแบงก์พันจะเป็นรูปดอกบัว แบงก์ 500 เป็นรูปดอกพุดตาล แบงก์ 100 เป็นตัวเลข 100 แบงก์ 50 เป็นตัวเลข 50 แบงก์ 20 เป็นตัวเลข 20



6. ตัวเลขจิ๋ว บรรจุในตัวเลขไทยด้านหน้า มองเห็นได้ชัดเจนด้วยแว่นขยาย 7.แถบฟอยล์ สีเงินมองเห็นเป็นหลายมิติ และสะท้อนแสงเมื่อพลิกไปมา และ 8.หมึกพิมพ์พิเศษ ตัวเลข 1000 จะมองเห็นด้านบนสีทอง ด้านล่างสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างขึ้นจะเห็นเป็นสีเขียวทั้งหมด ส่วนแบงก์ 500 ตัวเลข 500 จะมองเห็นตัวเลขสีเขียว เมื่อพลิกขอบล่างจะมองเห็นเป็นสีม่วง นอกจากนี้ ยังมีวิธีนำบริเวณลอยนูนของแบงก์ เช่น คำว่ารัฐบาลไทย ถูกับกระดาษสีขาว ของจริงจะปรากฏสีให้เห็น

ทั้งนี้ ข้อสังเกตดังกล่าวเจ้าหน้าที่แนะนำว่าต้องใช้เวลาดูด้วยใจเย็นๆ อย่ารีบร้อน หากไม่แน่ใจในธนบัตรที่สงสัยให้นำธนบัตรที่แน่ใจว่าเป็นของจริงมาเทียบ

เพียงเท่านี้ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อแบงก์ปลอมเหล่านั้น



สำหรับ ความผิดในข้อกฎหมายการจงใจนำแบงก์ปลอมออกใช้ นับเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ มีอัตราโทษสูง โดยผู้ใดที่ทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราไม่ว่าจะปลอมเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร ที่รัฐบาลออกหรือให้อำนาจออก มีความผิดตาม ป.อาญา ม.240 อัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต แม้จะเพียงแค่นำเข้ามาไม่ได้ปลอมเอง ก็มีอัตราโทษเดียวกัน ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ก็จะมีความผิดตาม ป.อาญามาตรา 244 อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปีและปรับ

ดังนั้น ใครที่ทราบที่มาของธนบัตรปลอมเหล่านี้ขอให้แจ้งเบาะแสได้ที่ตำรวจ!!

ส่วน ความผิดสำหรับผู้ใช้แบงก์ปลอมโดยไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ใช่ว่าจะต้องรับผิดตามกฎหมายเสมอไป เพราะตามกระบวนการแล้วตำรวจจะเชิญตัวไปสอบปากคำว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำ หรือตั้งใจเอามาจากแหล่งผลิตหรือไม่ หากตั้งใจหรือเกี่ยวข้องจึงจะได้รับโทษตามกฎหมาย เพราะถือเป็นเจตนาในการกระทำความผิด

แต่ถ้ารับแบงก์ปลอมมาโดย บังเอิญหรือไม่ได้ตั้งใจ เจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาอีกกรณีหนึ่ง แต่ถ้ารู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังเอาไปใช้ จะทำให้มีความผิดทันที ซึ่งมีอัตราโทษสูงจำคุกเป็น 10 ปี และนอกจากนี้ การปฏิเสธที่จะไม่รับแบงก์หรือธนบัตรชนิดต่างๆ เพื่อชำระหนี้ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะปฏิเสธไม่รับธนบัตรไม่ได้ ยกเว้นรู้ชัดแล้วว่าเป็นแบงก์ปลอม

หากไม่รับก็จะมีความผิดเช่นกัน!!



ที่ ผ่านมามีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเกี่ยวกับแบงก์ปลอมหลายราย อย่างที่ จ.สมุทรสาคร ตำรวจจับกุมนายกฤษดาวุฒิ สูตรสุข อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 15/6 หมู่ 9 ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ที่พกธนบัตรใบละ 1,000 บาท จำนวน 5 ใบ ธนบัตรฉบับละ 500 บาท 29 ใบ ธนบัตรฉบับละ 100 บาท 20 ใบ ธนบัตรฉบับละ 50 บาท 9 ใบ และธนบัตรฉบับละ 20 บาท 6 ใบ รวมทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 22,070 บาท ซึ่งเป็นแบงก์ปลอมจึงควบคุมตัวไว้ โดยนายกฤษดาวุฒิให้การรับสารภาพว่า ซื้อเครื่องถ่ายเอกสารสีมา 1 เครื่อง ในราคา 4,500 บาท แล้วลองนำธนบัตรจริงมาถ่ายเอกสาร ซึ่งก็ดูเหมือนธนบัตรจริงมาก จึงคิดรวยทางลัดทำออกใช้

ในขณะที่ จ.ยโสธร มีรายงานว่ามีคนร้ายนำแบงก์พันปลอมมาเติมน้ำมัน โดยในกระเป๋าคนร้ายมีแบงก์ปลอมจำนวนหลายใบ จ.นครปฐม ตำรวจจับกุมแก๊งโจ๋นำแบงก์พันปลอมออกมาใช้เติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันย่านใจ กลางเมืองเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรายที่ตำรวจจับได้และกำลังขยายผลไปถึงแหล่งผลิต

จับได้เข้าคุกยาว!!
ผู้ตั้งกระทู้ News กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-26 08:20:35