ReadyPlanet.com


หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี ปี2465


"หลวงพ่อฉุย" อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาราม จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวเพชรบุรี เนื่องด้วยท่านเป็นผู้พัฒนาวัดคงคารามและสร้างความเจริญรุ่งเรืองมาจนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน และวัตถุมงคลที่ท่านสร้างล้วนเป็นที่นิยมและแสวงหาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ "เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย ปี 2465" ได้รับการยอมรับว่ามีความงดงามโดดเด่นและเป็นที่นิยมสะสมอย่างมากในแวดวงผู้นิยมสะสมพระเครื่องรวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปครับผม

"วัดคงคาราม" เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี ได้รับการยกย่องและแต่งตั้งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แห่งแรกของ จ.เพชรบุรี กล่าวกันว่าพระเถระชาวเพชรบุรีที่เข้ามามีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ หลายรูป จะมีความเกี่ยวข้องกับวัดคงคาราม อาทิ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) และพระโพธิวงศาจารย์ (ผ่อง) เป็นต้น

หลวงพ่อฉุย สุขภิกฺขุ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ที่บ้านสะพานช้าง ต.มะม่วง อ.คลองกระแชง จ.เพชรบุรี เริ่มศึกษาเล่าเรียนที่วัดคงคารามมาแต่ยังเยาว์ จนอายุครบบวชจึงอุปสมบท ณ วัดนี้ ได้รับฉายา "สุขภิกฺขุ"

ท่านมีความใส่ใจในการศึกษาหาความรู้ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะด้านวิปัสสนากรรมฐาน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ครุฑ วัดมหาธาตุ หลวงพ่อฉุยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เรื่อยมาจนเป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสุวรรณมุนี ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด และได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 แห่งวัดคงคาราม สืบต่อจากพระพิศาลสมณกิจ (ริด) สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นโท มีราชทินนามที่พระสุวรรณมุนี นรสิห์ธรรมทายาท สังฆปาโมกข์ และได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัด ท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างความเจริญแก่วัดคงคารามมาจนเป็นที่รู้จักเลื่องลือ ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2466 สิริรวมอายุ 65 ปี

"เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย ปี 2465" เป็นเหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่สร้างในช่วงที่หลวงพ่อยังดำรงชีวิตอยู่ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองมณฑป วัดคงคาราม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธชินราชจำลอง" "พระ พุทธชินสีห์จำลอง" และ "พระศรีศาสดาจำลอง" ในปี พ.ศ. 2465 มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มหูเชื่อม รูปไข่ เนื้อทองแดงรมดำ แม่พิมพ์ด้านหน้า รอบเหรียญแกะลวดลายดอกไม้ และโบประดับอย่างงดงาม ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ภายในโบจารึกอักษรไทยด้านบนซ้ายว่า "พ.ศ." ด้านบนขวาว่า "65" ด้านล่างซ้ายว่า "พระสุวร" และด้านล่างขวาว่า "รณมุณี" ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลัง เป็น "ยันต์ห้า" คล้ายยันต์กระบองไขว้ ภายในยันต์รอบนอกเป็นอักขระขอมอ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ตรงกลางยันต์เป็นอักขระขอมอ่านว่า "สะ" แยกออกเป็น 2 พิมพ์คือ บล็อกโมมีไส้และบล็อกโมไม่มีไส้ โดยสังเกตที่ตัวอักขระขอมคำว่า "โม" ถ้ามีขีดขวางตรงกลางคือ "บล็อกโมมีไส้" ถ้าไม่มีคือ "บล็อกโมไม่มีไส้"

ด้วยพุทธลักษณะที่งดงามและพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ จึงนับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสะสมอย่างสูง แต่ค่อนข้างจะหาดูยากพอสมควร เนื่องจากผู้มีไว้ครอบครองบูชาต่างก็หวงแหนมากครับผม

สนใตติดต่อได้ที่ ลุงหนวด อายาเซอร์วิส ปาย แม่ฮ่องสอน Thailand 086-1981148



ผู้ตั้งกระทู้ ลุงหนวด โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-11 23:17:14