ReadyPlanet.com


การวางแผนประกันภัย Insurance


การวางแผนประกันภัย Insurance

ในการวางแผนการเงิน นอกจากจะวางแผนการออม วางแผนการลงทุน วางแผนการเกษียณ วางแผนมรดกแล้ว อีกแผนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องวางก็คือ การวางแผนประกันภัย ซึ่งจะหมายถึงทั้งการประกันภัยบุคคล และการประกันภัยทรัพย์สิน

 การทำประกัน เป็นการวางแผนป้องกันไม่ให้ท่านหรือครอบครัวของท่านเดือดร้อน ในยามที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น การเสียชีวิตของบุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญในการหารายได้ให้ครอบครัว  หรือการสูญเสียสินทรัพย์ที่สำคัญ ซึ่งในหลายๆ กรณีสินทรัพย์ที่สำคัญก็คือบุคคล

 การทำประกันภัยเป็นการจัดการความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยการโอนความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นรับแทน ถือเป็นการเตรียมการไว้ช่วยบรรเทาความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ขึ้น เช่น หากเกิดไฟไหม้ ก็จะได้เงินค่าสินไหม หรือเงินชดเชย  ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน หากต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่   อย่างไรก็ดี การทำประกันภัยไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดปัญหา คือความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นก็ยังเท่าเดิม เพียงแต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ต้องแบกรับภาระไว้แต่ลำพัง

 แนวคิดของการประกันภัยคือการเฉลี่ยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลใด บุคคลหนึ่งไปยังกลุ่มบุคคลที่เผชิญกับความเสี่ยงประเภทเดียวกันและมีโอกาส คล้ายๆ กันที่จะรับความสูญเสียหรือความเสียหายจากความเสี่ยงนั้นๆ

 การประกันแยกเป็นสามประเภทหลักๆ คือ การประกันภัยบุคคล ได้แก่การประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ   การประกันทรัพย์สิน ได้แก่ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ ประกันทางทะเลและขนส่ง และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด  และ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย เช่น การประกันความรับผิดชอบของบุคคลต่อบุคคลอื่น การประกันภัยของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะต่อบุคคลอื่น และ การประกันภัยความรับผิดชอบของธุรกิจต่อบุคคลอื่น

 ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือการประกันชีวิต  เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด  เมื่อไม่สามารถใช้ชีวิตได้เยี่ยงคนปกติ อาจจะเนื่องมาจากการชราภาพ ทุพพลภาพ หรือจากการเสียชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือ ผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

 กรมธรรม์ประกันชีวิต ไม่ว่าจะเรียกชื่อเฉพาะว่าอะไร จะมีหลักการคล้ายกันหมดคือ มีอยู่ 3 ประเภท และแบ่งเป็น 4 แบบ

 กรมธรรม์ประเภทแรกคือ ประเภทสามัญ  ประเภทนี้จะมีจำนวนเงินเอาประกันค่อนข้างสูง  โดยทั่วไปกำหนดการจ่ายเบี้ยเป็นรายปี รายหกเดือน หรือรายไตรมาส  หากจำนวนเงินเอาประกันสูง ก่อนทำประกันบริษัทประกันชีวิตอาจกำหนดให้ต้องตรวจสุขภาพ จะชำระเบี้ยประกันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันและอายุของผู้เอาประกัน

 ประเภทที่สองคือประเภทอุตสาหกรรม จำนวนเงินเอาประกันค่อนข้างต่ำ จึงไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่อาศัยข้อมูลจากคำแถลงในใบคำขอเอาประกันภัย  กรมธรรม์ประเภทนี้โดยทั่วไปกำหนดชำระเบี้ยประกันรายเดือน
ส่วนประเภทที่ สาม เป็น ประเภทกลุ่ม คือรับประกันหลายคนในกรมธรรม์เดียวกัน การคิดเบี้ยประกันจะพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของบุคคลในกลุ่ม  การประกันประเภทนี้อัตราเบี้ยประกันจะถูกกว่าการประกันภัยประเภทอื่นๆ

 นอกจากแบ่งตามประเภทแล้ว ยังแบ่งลักษณะได้เป็น 4 แบบ คือ  แบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) ซึ่งจะระบุเวลาคุ้มครองการเสี่ยงภัยที่เกิดจากการเสียชีวิต เมื่อครบสัญญาไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และไม่มีมูลค่าใดๆ คืนเงินให้ด้วย   แบบที่สองเป็น แบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินตามที่ระบุให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกัน ภัยเสียชีวิต ไม่คำนึงว่าจะเสียชีวิตเมื่อใด แต่ถ้าผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 99 ปี บริษัทจะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันแทน ดิฉันมองว่าเสมือนให้รางวัลที่ท่านอยู่มาจนใกล้จะครบร้อยปี

 แบบที่สามเป็นแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance) ซึ่งถือเสมือนเป็นการออมรูปแบบหนึ่ง คือถ้าเสียชีวิตในระหว่างช่วงเวลาที่คุ้มครอง บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ แต่ถ้าผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่เมื่อครบสัญญาที่กำหนด เช่น 10 ปี 20 ปี บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินให้ผู้เอาประกัน ณ วันครบสัญญา เบี้ยประกันที่จ่ายไปในแต่ละปีก็นำไปใช้คุ้มครองการเสี่ยงภัยส่วนหนึ่ง และออมไว้ใช้ในยามเกษียณอีกส่วนหนึ่ง
แบบสุดท้ายเป็น แบบเงินได้ประจำ (Annuities Insurance) คล้ายๆ กับแบบที่สาม แต่เมื่อครบสัญญา บริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นประจำ โดยทั่วไปจะจ่ายให้ทุกปี จนครบเงื่อนไขตามสัญญา เสมือนหนึ่งบริษัทจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เอาประกันหลังเกษียณอายุงานค่ะ แทนที่จะเป็นเงินก้อนหนึ่งเหมือนเงินบำเหน็จอย่างในแบบสะสมทรัพย์

 สมาคมประกันชีวิตไทยแนะนำว่า หากต้องการความคุ้มครองระยะสั้น เช่น 5 ปี 10 ปี และต้องการจ่ายเบี้ยต่ำ โดยไม่มีเงินคืนในตอนท้าย ก็ควรเลือกประกันชีวิตแบบชั่วเวลา  หากต้องการความคุ้มครองระยะสั้นและออมเงินไปด้วย ก็เลือกแบบสะสมทรัพย์  แต่หากต้องการความคุ้มครองแบบถาวร ก็เลือกแบบตลอดชีพ  เท่าที่ดิฉันทราบ ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีบริษัทประกันขายกรมธรรม์แบบเงินได้ประจำค่ะ 

 ท่านจะเลือกทำประกันชีวิตแบบไหนก็ควรศึกษาดูรายละเอียดและเงื่อนไข เพื่อจะเลือกทำประกันได้เหมาะสมกับตัวท่านนะคะ  สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันว่า หากอยากประกันสุขภาพ เพื่อเวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลแบบเป็นคนไข้นอกแล้วไม่ต้องจ่ายเงิน จะทำได้ไหม และเรื่องเกี่ยวกับการประกันสินทรัพย์ต่างๆ จะมีให้เลือกมากน้อยเพียงใดค่ะ

ที่มา...http://newsroom.bangkokbiznews.com/
By วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
_______________________________________
(ข้อมูลบางส่วนจาก “รอบรู้เรื่องประกันชีวิต” ของสมาคมประกันชีวิตไทย  และจากหลักสูตรการวางแผนประกันภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนักวางแผนการเงิน จัดทำโดยสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

ท่านทราบหรือไม่ว่า.....
- ท่านสามารถบอกยกเลิกการทำประกัน ชีวิตได้ภายใน 15 วันนับจากวันได้รับกรมธรรม์ โดยจะได้รับเบี้ยประกันคืนหักด้วยค่าใช้จ่ายในการตรวจร่างกายและค่าใช้จ่าย ในการออกกรมธรรม์ 500 บาท
- หากท่านเลิกสัญญาประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ภายในระยะเวลาเกินกว่า 15 วัน แต่ยังไม่ถึง 2 ปี ท่านจะไม่ได้รับเงินคืน  กรมธรรม์ส่วนใหญ่จะคืนเงินเมื่อเกิน 2 ปีขึ้นไป โดยเงินคืนนี้เรียกว่า “มูลค่าเวนคืนเงินสด”
- หลังจากส่งเบี้ยประกันมาระยะหนึ่ง หากไม่มีเงินที่จะส่งเบี้ยประกันต่อ ให้ติดต่อตัวแทนประกัน เพราะท่านจะสามารถรับความคุ้มครองตามระยะเวลาของสัญญาเดิมได้ แต่ทุนประกันจะลด ซึ่งภาษาประกันเรียกว่า “มูลค่าใช้เงินสำเร็จ”  หรือ ให้ความคุ้มครองตามทุนประกันเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า  “การขยายเวลา”
- กรมธรรม์จะไม่คุ้มครองการเสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวตาย ภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่เริ่มทำประกัน



ผู้ตั้งกระทู้ News กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-22 08:40:29