ReadyPlanet.com


ผู้ค้าไอทีป่วน!แบงก์ดึงสินเชื่อกลับ


ผู้ค้าไอทีป่วน!แบงก์ดึงสินเชื่อกลับ ยักษ์ค้าส่งกัดฟันหั่นมาร์จิ้นตัวเองต่อลมหายใจคู่ค้า


วง ในเผยนโยบายคุมเข้มสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ส่งผลกระทบผู้ค้าไอทีรายย่อย โดนตัดวงเงินสินเชื่อเจอปัญหาสภาพคล่องการทำธุรกิจ ดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ร้อนใจหวั่นกระทบวงจรธุรกิจ "อินแกรม ไมโคร" ดิ้นหาแนวทางช่วยเหลือผู้ค้า งัดกลยุทธ์ใช้วงเงินบัตรเครดิตต่อลมหายใจคู่ค้า เผยปัญหากำลังซื้อถดถอยยังรับมือได้ แต่ถ้าแบงก์ตัดท่อน้ำเลี้ยงจะเป็นปัญหาใหญ่



นายวีระ วงศ์ทรัพย์คณา กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมืองกระทบต่อภาพรวมของตลาดที่ ฉุดกำลังซื้อชะลอตัวในทุกตลาด แต่ภาคธุรกิจยังสามารถรับมือได้ โดยส่วนใหญ่ก็เข้าสู่นโยบาย "คอนเซอร์เวทีฟ" ควบคุมการใช้จ่ายและลดการลงทุน เพราะถึงอย่างไรตลาดไอทีก็ยังมีการเติบโต แต่ที่ เป็นกังวลมากคือ ผลกระทบจากนโยบาย คุมเข้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของคู่ค้า

โดย ขณะนี้ได้รับข้อมูลจากคู่ค้าหลายรายว่ากำลังประสบปัญหาจากกรณีที่แบงก์ดึง เงินสินเชื่อของบริษัทคืน เช่น ได้วงเงินเครดิต 10 ล้านบาท ก็ถูกตัดลดลงเหลือ 8 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนใหญ่ผู้ค้าใช้บริการหลายแบงก์และทุกแบงก์ก็ตัดวงเงินสินเชื่อ เหมือนกันหมด ก็ทำให้บริษัท ร้านค้าต่างๆ ค่อนข้างมีปัญหา เพราะเท่ากับว่าธุรกิจของคู่ค้าหดตัวลง

นายวีระกล่าวว่า การที่จะช่วยเหลือผู้ค้าในตลาดให้อยู่รอดได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งดิสทริบิวเตอร์และเวนเดอร์ ซึ่งอาจต้องลดกำไรของตัวเองเพื่อเพิ่มกำไรในส่วนของ channel margin เพื่อให้ร้านค้าอยู่ได้

โดยในส่วนของอินแกรมฯได้เพิ่มเครื่องมือ ทางการเงินใหม่ให้คู่ค้า โดยการให้ใช้วงเงินบัตรเครดิตในการชำระราคาสินค้า เพราะถือว่าเป็นวงเงินใหม่ที่เพิ่มเข้ามา และยังมีเวลาการชำระเงินถึง 55 วัน ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปัจจุบันคนไทยมีบัตรเครดิตเฉลี่ยประมาณ 7 ใบ ซึ่งถ้าแบ่งมาใช้เป็นวงเงินเพื่อธุรกิจ 3-4 ใบ ก็ทำให้ร้านค้าจะมีวงเงินเพิ่มขึ้น 1-2 ล้านบาท ทำให้เกิดสภาพคล่องมากพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่ก็จะมีวงเงินการซื้อขายสินค้าประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อเดือน โดยขณะนี้บริษัทได้เริ่มทดลองกับคู่ค้าประมาณ 10 ราย เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ซึ่งร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการก็ค่อนข้างพอใจ

นาย วีระกล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้ให้คู่ค้าใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน เพราะมาร์จิ้นในธุรกิจนี้ค่อนข้างต่ำประมาณ 4% ขณะที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารอีก 1.7% แต่เมื่อมีปัญหาก็มาศึกษาหาแนวทางเพิ่มสภาพคล่อง บริษัทจึงได้ตกลงแบ่งภาระค่าธรรมเนียมกับคู่ค้า โดยบริษัทรับภาระ 1% และคู่ค้า 0.7% อย่างไรก็ตามการใช้บัตรเครดิตคู่ค้าก็จะได้สะสมแต้ม ซึ่งสามารถแลกเป็นเงินสดในการซื้อสินค้าได้ เมื่อคำนวณแล้วที่สุดคู่ค้าจะมีภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 0.1-0.2% เท่านั้น

ขณะที่ในส่วนของเวนเดอร์อาจจะไม่ได้มีการเพิ่มมาร์จิ้น ให้คู่ค้าโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีการทำโปรแกรมพิเศษออกมาให้คู่ค้าเป็นช่วงๆ ก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยต่อลมหายใจให้คู่ค้าได้

นายวีระกล่าว เพิ่มเติมว่า กรณีแบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ยลง 1% เป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการที่มีวงเงินเครดิตอยู่ แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ค้าขาดสภาพคล่องไม่ได้รับสินเชื่อ ซึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นร้านค้ารายย่อย เพราะรายใหญ่ส่วนใหญ่จะมีเครดิตดีอยู่แล้ว

เช่น เดียวกับ นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า วิกฤตที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการไอที คือ ผลกระทบจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ มีการตรวจสอบมากขึ้น หรือลดเวลาการให้สินเชื่อ สั้นลง ทำให้ร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อินเทลค่อนข้างเป็นห่วง อย่างไรก็ตามปัญหาสภาพคล่องของผู้ค้าอินเทลอาจจะทำอะไรได้ไม่มาก โดยในส่วนของอินเทลก็จะเน้นการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือคู่ค้าในรูปแบบ อื่น อาทิ การจัดกิจกรรมกับคู่ค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าหรือกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
ที่มา...http://www.matichon.co.th/prachachat/



ผู้ตั้งกระทู้ News กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-09 20:50:53