ReadyPlanet.com


ลูกปัดสุริยเทพ "พระสุริยเทพ"บนลูกปัด


ลูกปัดสุริยเทพ "พระสุริยเทพ"บนลูกปัด เรื่องจริง หรือความเข้าใจผิด? นักโบราณคดีฝรั่งเรียกว่า Face Beads ลูกปัดใบหน้าบุคคล ลูกปัดสุริยเทพเป็นลูกปัดรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันในโลก

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม

โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ลูกปัด
ลูกปัด "พระสุริยเทพ?" พบที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อายุราว พ.ศ. 600-1100
ลูกปัดเป็นประดิษฐกรรมเก่าแก่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า แต่เดิมผลิตขึ้นใช้ในพิธีกรรม คล้ายกับเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่ง

เริ่มแรกจากกลวิธีการผลิตอย่างง่ายด้วยการเจาะรูลงบนวัสดุธรรมชาติจำพวก เปลือกหอย เขี้ยว หรือกระดูกสัตว์ พัฒนาไปเป็นดินเผา หินสีมีค่า แก้ว เรื่อยไปจนกระทั่งถึงโลหะประเภทต่างๆ

กระบวนการผลิตเหล่านี้จำต้อง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิความร้อนของไฟที่ใช้ในการหลอมแก้ว หล่อโลหะชนิดต่างๆ ให้เป็นลูกปัดที่มีทรวดทรงตามต้องการ จนกระทั่งถึงการผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการเจาะรูลูกปัด หรือตัดแต่งหินที่มีความแข็งให้ได้รูปทรงงดงาม นี่ยังไม่นับเทคโนโลยีทางด้านอื่น เช่น การหุง สีหิน เป็นต้น

ผู้ถือครองลูกปัดในสมัยโบราณจึงมักจะเป็น "ชนชั้นนำ" ของชุมชน ที่มีอำนาจในการผลิต และถือครองเทคโนโลยีชั้นสูง ชนชั้นนำเหล่านี้มักจะทำหน้าที่ติดต่อกับสิ่งเร้นลับ เพราะถือเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ จำพวกที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า พ่อมดหมอผี

นานวันเข้าความสวยงามที่เกี่ยวข้องกับการประดับประดาก็ ค่อยสำคัญขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะสัมพันธ์กับสถานภาพ อำนาจ หรือแสดงออกถึงความมั่งคั่งของผู้นำชุมชน หมอผี หรือบุคคลในลำดับถัดไปในชุมชน ตามแต่ระดับความซับซ้อนในแต่ละชุมชน
ลูก ปัด
ลูกปัด "หน้ากาก" ในวัฒนธรรมฟินิเซียน อายุราว พ.ศ. 100-250 ใบหน้าเขียนลงบนพื้นหินสีขาว ประดับแก้วสีโคบอลล์เป็นผม และเครารูปหลอด (ภาพจาก A Universal Aesthetic Collectible Beads)


เทคโนโลยี การผลิตที่สูงขึ้น มาพร้อมการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รูปแบบของลูกปัดค่อยๆ หลากหลายมากยิ่งขึ้น รูปแบบของลูกปัดที่แปลกตา ยิ่งผลิตขึ้นจากวัสดุที่ไม่มีในท้องถิ่น ก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งของมีค่า หลายครั้งที่พบหลักฐานว่า "ลูกปัด" ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามาก่อนเงิน หรือเหรียญกษาปณ์ด้วย

การค้าโลกข้ามคาบสมุทรเมื่อราวหลัง พ.ศ.200 เป็นต้นมา ขยาย และเชื่อมต่อโลกตะวันตก-ตะวันออกเข้าด้วยกัน ความนิยมในลูกปัดบางแบบที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในโลกตะวันตก หรือตะวันออกกลาง จึงสามารถพบได้ตามเมืองท่าเก่าแก่ของอินเดีย อุษาคเนย์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในทิศทางตรงกันข้ามกัน ลูกปัด รวมไปถึงวัตถุบางชนิดจากอุษาทวีปก็ไปพบตามเมืองท่าโบราณของโลกตะวันตก

ควนลูกปัด ที่ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ พบลูกปัดโบราณจำนวนมาก เพราะเป็นเมืองท่าในเส้นทางการค้าข้ามสมุทรของโลกยุคโบราณ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า อาจเป็นแหล่งผลิตแก้ว และลูกปัด มาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานแล้ว
ลูกปัดโมเสค รูปใบหน้าบุคคลในวัฒนธรรมโรมัน อายุราว พ.ศ. 450-650 (ภาพจาก A Universal Aesthetic Collectible Beads)
ลูกปัดโมเสค รูปใบหน้าบุคคลในวัฒนธรรมโรมัน อายุราว พ.ศ. 450-650 (ภาพจาก A Universal Aesthetic Collectible Beads)



ลูกปัดชิ้นเด่นกลุ่มหนึ่งที่พบในชุมทางแลกเปลี่ยนสินค้ายุคเก่าแห่งนี้ คือแบบที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "ลูกปัดพระสุริยเทพ" ผลิตจากแก้วหลากสีสัน ด้วยเทคนิคแบบที่เรียกว่าโมเสค มักมีสัณฐานกลมแบน ตรงกลางเขียนรูปใบหน้าบุคคล ล้อมรอบด้วยลายขีดเป็นแฉกแยกออกจากรูปของใบหน้า คล้ายกับเป็นรัศมี แต่เดิม ลูกปัดสุริยเทพเมื่อถูกพบโดยกลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นจึงเรียกกันว่า ลูกปัดหน้าคน หรือลูกปัดอินเดียนแดง ต่อมา "นักสะสม" ค่อยมาเรียกในภายหลังว่า ลูกปัดพระสุริยเทพ เพราะมีรัศมีล้อมรอบกรอบใบหน้ารูปวงกลมคล้ายรูปพระอาทิตย์ ลูกปัดสุริยเทพ

ลูกปัดแบบ ที่เขียนสี จำหลักลายเป็นรูปหน้าคน มีลวดลายนานาล้อมกรอบสวยงาม แบบที่นักโบราณคดีฝรั่งเรียกว่า Face Beads ยังพบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ โดยเฉพาะในโลกโรมันช่วงระหว่างราว พ.ศ.450-650 ที่นิยมผลิตขึ้นจากโมเสค

ส่วนในวัฒนธรรมที่เก่าแก่ไปกว่านั้นอย่าง ฟินิเซียน ในโลกตะวันออกกลาง (ราว พ.ศ.100-250) มีลูกปัดหินประดิษฐ์เป็นรูปใบหน้าบุคคล คล้ายหน้ากากที่วิจิตรบรรจงยิ่งกว่า

ลูกปัดอย่างที่เรียกว่า ลูกปัดพระสุริยเทพ ลูกปัดสุริยเทพก็ไม่ต่างอะไรไปจากลูกปัดรูปใบหน้าบุคคลเหล่านี้ ซ้ำยังเป็นเทคนิคการประดับแก้วโมเสคอย่างเดียวกับโรมันด้วย เพียงแต่ต่างกันที่รูปทรง ลวดลาย และฝีมือช่าง เพราะผิดแปลกกันไปตามแต่เทคนิค และรสนิยมในท้องถิ่น เพียงแต่ไม่อาจจะกำหนดอายุ ลูกปัดสุริยเทพให้แน่ชัดลงไปได้มากนัก เนื่องจากที่บริเวณควนลูกปัด ยังพบลูกปัดดินเผาจารึกอักษรปัลลวะที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยไปกว่า พ.ศ.1100

จึงอาจจะกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า ลูกปัดใบหน้าบุคคล ลูกปัดสุริยเทพเป็นลูกปัดรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันในโลก (ที่เชื่อมโยงกับการค้าข้ามสมุทร) ระหว่างช่วง พ.ศ.100-1100

ที่เรียกว่าลูกปัดสุริยเทพจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

แต่ที่ไม่ผิดแน่คือ คลองท่อมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโลกยุคโบราณ ที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ลูกปัดรูปใบหน้าบุคคล ลูกปัดสุริยเทพที่นิยมมาก่อนในโลกตะวันออกกลาง และโรมันจึงมาพบอยู่ในพื้นที่โลกสุวรรณภูมิ  ที่มา...ฉบับที่ 11331 มติชนรายวัน



ผู้ตั้งกระทู้ News กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2009-03-19 09:01:43