ReadyPlanet.com


มะเร็ง...ป้องกันได้


มะเร็ง...ป้องกันได้

หากถามว่า เรากลัวเป็นโรคอะไรมากที่สุด หลายคนมีคำตอบตรงกันว่า มะเร็ง เพราะเป็นโรคที่รักษายาก

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : หากมะเร็งลุกลามอยู่ในระยะ 3 และ 4 โอกาสรอดชีวิตย่อมมีน้อย

แล้วจะดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ป่วยเป็นมะเร็ง ก่อนอื่นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่

มะเร็งบางชนิดสืบทอดผ่านยีน หรือพันธุกรรมจากคนในครอบครัว ดังนั้นคนเราควรรู้ประวัติการป่วยของคนในครอบครัวด้วย มีปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่ ญาติใกล้ชิดคนใดเป็นมะเร็งชนิดไหน หากรู้ไว้แต่เนิ่นๆ ก็จะประเมินความเสี่ยงสำหรับตัวเองได้ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ
อาทิ การรับประทานอาหารปิ้งย่างบ่อยๆ อาหารปนเปื้อนสารพิษ หรือเคยทำงานในโรงงานที่เกี่ยวกับการใช้สารเคมี รวมถึงการติดเชื้อไวรัส ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้...ทำให้คุณมีความเสี่ยง ที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกาย และการดำเนินชีวิตด้วย

1.

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ในร่างกายที่แข็งแรง อาจมีเชื้อโรคบางชนิดแฝงอยู่ และบางครั้งร่างกายก็ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือน ถ้าอยากให้ชีวิตปลอดมะเร็งก็สามารถป้องกันได้ แม้จะไม่เต็มร้อย แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งก่อนที่จะสายเกินแก้ ก็เป็นข้อหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ดี
ปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลให้บริการด้านนี้ ส่วนโรงพยาบาลที่ดูแลและรักษาด้านมะเร็งโดยเฉพาะในศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัด โรคมะเร็ง สถาบันจุฬาภรณ์ ได้มีการตั้งคลินิกประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง ซึ่งเปิดบริการแล้ว โดยปีหน้าจะเปิดอย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องการประเมินความเสี่ยง การตรวจคัดกรองมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็ง เปิดบริการคนไข้จำนวน 100 เตียง แพทย์ประมาณ 30 คน โดยมีแนวคิดว่า อยากให้ประชาชนป้องกันมะเร็งก่อนที่จะลุกลามจนยากจะรักษา 

"ผมคิดว่า การลงทุนป้องกันคุ้มค่ากว่าปล่อยให้เป็นมะเร็งแล้ว มะเร็งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ประมาณ 40 % สามารถป้องกันได้ อยู่ที่ว่าเราได้ป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ การที่ปล่อยให้มีอาการแล้วค่อยรักษา การรักษาก็จะไม่ค่อยดี มีข้อมูลยืนยันว่าประมาณ 80% ตรวจพบอาการผิดปกติและเป็นมะเร็งในระยะ 3 และ 4 แล้ว"  น.พ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เล่าและบอกว่า หากเป็นมะเร็งระยะที่ 1 โอกาสหายขาดย่อมมีมาก ส่วนระยะที่ 3 ก็ยังมีโอกาสหายอยู่บ้าง แต่ระยะที่ 4 แทบจะไม่มีโอกาสหายเลย

การประเมินความเสี่ยงของคลินิกแห่งนี้ ขั้นแรกจะให้กรอกแบบสอบถามในคอมพิวเตอร์กว่า 30 ข้อ โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นความลับเฉพาะบุคคล คำถามที่ให้ตอบมีทั้งเรื่องสภาพชีวิตความเป็นอยู่ พฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย ยกตัวอย่างเช่น “ท่านเคยทำงานโรงงานที่เกี่ยวกับสารเคมีไหม” “ท่านเคยสัมผัสสารเคมีนานกว่า  5 ปีหรือไม่” "ท่านเคยออกกำลังวันละสามครั้งในหนึ่งสัปดาห์ไหม"  และ"ท่านเคยได้รับการผ่าตัดมดลูกออกแล้วหรือไม่"  ฯลฯ

2.

 หลังจากตอบคำถามเสร็จ คอมพิวเตอร์จะทำการประเมินผลออกมาว่า คุณมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็งชนิดไหนกี่เปอร์เซ็นต์

“แพทย์ที่นี่ทำงานวิจัยและดูแลคนไข้ มะเร็งโดยเฉพาะ เรามีคลินิกให้บริการคนที่ยังไม่ป่วยเป็นมะเร็ง พยายามหาวิธีดึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาเพื่อหาแนวทางป้องกันมะเร็ง แบบสอบถามที่ให้กรอบเพื่อสำรวจพฤติกรรมทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรม เรารวบรวมจากวารสารการแพทย์ และตำราทางการแพทย์ เมื่อตอบคำถามเสร็จแล้ว คอมพิวเตอร์จะทำการวิเคราะห์ออกมาเป็นกราฟเพื่อบอกว่า คุณมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดไหน” คุณหมอวิสุทธิ์ บอกและว่า แบบสอบถามส่วนใหญ่รวบรวมมาจากข้อมูลต่างประเทศ และยังไม่มีใครบอกได้ว่า จะใช้กับคนไทยได้ผลหรือไม่ เพราะระยะเริ่มต้นข้อมูลยังไม่สมบูรณ์

หลังจากผลประเมินความเสี่ยงของแต่ละคน ออกมาแล้ว ก็จะมีพยาบาลให้คำแนะนำในเรื่องการปรับเปลี่ยนอาหารและวิถีชีวิต บางคนอาจต้องลดน้ำหนัก บางคนต้องมาตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดที่คนคนนั้นอาจมีความเสี่ยง

“ไม่ต้องตกใจ หากประเมินออกมาแล้วความเสี่ยงสูง นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็ง แต่มีแนวโน้มที่จะเป็น เราพยายามทำให้การป้องกันมะเร็งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากขึ้น แทนที่ทุกคนจะต้องตรวจเหมือนกันหมด”

ส่วนขั้นต่อไปก็ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนั้น

“เราใช้ระบบนัดหมายกับคนไข้ล่วงหน้า ไม่อยากให้คนไข้มารอนานๆ เต็มโรงพยาบาล” คุณหมอวิสุทธิ์ กล่าว

การให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งระยะแรก ของที่นี่ ก็ไม่ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป คือ ตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ใหญ่

“การตรวจมะเร็ง บางทีก็มีปัญหา อย่างก้อนเนื้อเล็กๆ แค่หนึ่งเซนติเมตร อาจไม่เห็นในฟิล์มเอกซเรย์ ก่อนจะตรวจคัดกรองมะเร็ง เราก็ต้องให้ข้อมูลก่อนว่า ถ้าตรวจเจอสิ่งผิดปกติ อาจสร้างความกังวลให้คนคนนั้นได้ แต่นั่นอาจไม่ใช่มะเร็งก็เป็นได้”

3.

 ใน อนาคตหน่วยงานรัฐหลายแห่งและศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จะให้บริการประชาชนในการตรวจคัดกรองมะเร็งมากขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งที่พบบ่อยและมีปัญหาในประเทศประมาณกว่า 10 ชนิด อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ

โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากระบบภายในของ ผู้หญิง ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่  ฯลฯ ก่อนอื่นผู้หญิงต้องเรียนรู้การตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง ช่วงที่ดีที่สุดในการตรวจคลำเต้านม คือ ช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7-10 วัน อาจตรวจคลำตอนอาบน้ำ โดยใช้ปลายนิ้วทั้งสามคลำเต้านมรอบๆ ถ้าสัมผัสได้ว่า มีก้อนๆ กลิ้งไปกลิ้งมา ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ควรปรึกษาแพทย์

“สำหรับคนที่มีอายุน้อย ถ้าตรวจคลำเจอก้อนเนื้อ อาจไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่ถ้าเจอก้อนเนื้อแล้วสงสัยควรไปพบแพทย์ ส่วนผู้หญิงวัยสามสิบปีขึ้นไป ควรตรวจภายในทุกปี ส่วนผู้หญิงอายุสี่สิบขึ้นไป นอกจากตรวจภายในแล้ว อาจมีการเอกซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมเพิ่มเติม” คุณหมอวิสุทธิ์ กล่าว

โรคภายในอีกชนิดที่ผู้หญิงพึ่งระวัง คือ มะเร็งปากมดลูก แม้จะมีข้อมูลออกมาว่า มีวัคซีนเอชพีวีใช้ป้องกันไวรัสเอสพีวี โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของโรค แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า วัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดคือ ชนิดสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชพีวี (ไวรัสหูด) สี่สายพันธุ์คือ 6,11,16 และ 18 และชนิดสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อเอชพีวีสองสายพันธุ์คือ 16 และ 18

หากวัคซีนทั้งสองชนิดใช้กับคนอายุ 26 ปีขึ้นไปอาจได้ผลไม่เต็มร้อย

จึงมีข้อแนะนำว่า ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี เพราะผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม และผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกปีละกว่า 3,000 คน

สำหรับการตรวจภายในสามารถทำได้โดยการ ตรวจเซลล์ปากมดลูก หรือทำแป็ปสเมียร์ (Pep smear) วิธีเก่าจะใช้ไม้ปาดเยื่อบุปากมดลูก เก็บเซลล์นำไปปาดบนแผ่นสไลด์เพื่อนำไปตรวจ ส่วนอีกวิธีเก็บเซลล์จากปากมดลูก แล้วนำมาใส่น้ำยาเพื่อตรวจสอบเซลล์ ซึ่งวิธีหลังจะได้ผลดีกว่า

“การตรวจแป็ปสเมียร์ทั่วไปจะตรวจได้ แค่เซลล์ผิดปกติ แต่ถ้ามีการตรวจลงไปถึงระดับดีเอ็นเอ ก็จะละเอียดมากขึ้น ถ้าไม่มีเชื้อ...ก็มีทางเลือกว่า อาจฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ถ้ามีเชื้อแล้ว วัคซีนไม่อาจช่วยได้ ต้องเฝ้าระวังตัวเอง เราก็พยายามกระตุ้นให้คนหันมาดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเอง เพราะเซลล์ผิดปกติก่อนเปลี่ยนเป็นมะเร็งจะใช้เวลา 5-10 ปี ถ้าตรวจพบก่อนระยะเป็นมะเร็งก็จะตัดตอนได้“ คุณหมอวิสุทธิ์ กล่าวถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

4.

 ส่วน มะเร็งอีกชนิดที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือ มะเร็งตับ มีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ เป็นตับแข็งเพราะดื่มแอลกอฮอล์มาก ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและไวรัสบี และที่น่าเศร้าคือ ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากไม่ทราบว่าตัวเองมีเชื้อไวรัสบี พอมาโรงพยาบาลก็พบว่าเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับแล้ว

คนที่คิดว่า ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็งตับ ก็ต้องไปตรวจเลือดเพื่อดูว่า มีเชื้อไวรัสซีหรือไวรัสบีหรือไม่ บางคนอาจใช้วิธีตรวจคลื่นเสียงของตับหรืออัลตราซาวด์ ถ้าต้องการตรวจให้ละเอียดก็ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน

“เด็กที่ติดเชื้อไวรัสบี จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในช่วงอายุมากขึ้น แต่ปัจจุบันเด็กๆ ทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสบี ในยุคหลังคนที่เป็นพาหนะเชื้อไวรัสบีมีน้อยลง”

ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ได้รับการฉีด วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสบี ที่เป็นห่วงคือ ผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสบี หากไม่รู้ว่ามีเชื้อหรือไม่ ก็ควรตรวจสักครั้งในชีวิต เพราะบางคนมีพฤติกรรมเสี่ยงใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น

กลุ่มที่มีเชื้อไวรัสบีในร่างกาย คุณหมอบอกว่า น่าจะแยกแยะออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เชื้อไวรัส แต่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี เชื้อก็จะหายไปเอง 2. กลุ่มที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ อาจเป็นพาหนะของโรคสามารถแพร่เชื้อได้ และ 3. กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วและมีอาการตับอักเสบเรื้อรังจะมีความเสี่ยงสูง

“คนที่จะแต่งงานกับคนที่มีเชื้อไวรัส ตับอักเสบบี ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งตับหลายคน ก็ต้องดูว่า ครอบครัวนั้นๆ ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งครอบครัวไหม แม่บางคนอาจเป็นพาหนะ ถ่ายทอดมาถึงลูก ซึ่งปัจจุบันเวลาฝากครรภ์ตามโรงพยาบาลจะมีการตรวจไวรัสบีให้ด้วย” คุณหมอวิสุทธิ์ กล่าว

นอกจากมะเร็งตับที่ฆ่าชีวิตคนจำนวน มาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็น่ากลัวไม่แพ้กัน ปกติแล้วคนที่มีอาการท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยๆ หรือถ่ายเป็นมูกหรือเลือด มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในลำดับความสัมพันธ์ใกล้เคียงกันหลายคน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุณหมอแนะนำว่า คนที่มีความเสี่ยงอาจตรวจอุจจาระ หรือใช้วิธีการส่องกล้อง อย่างการตรวจอุจจาระ ถ้ามีเลือดปนมากับอุจจาระ หากไม่ได้มีสาเหตุจากแผลโรคกระเพาะ แผลลำไส้อักเสบ ก็ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะมะเร็งระยะเริ่มแรกไม่มีอาการ

“เมื่อก่อนคนคิดว่า มะเร็งเป็นโรคเวรโรคกรรม ปัจจุบันคนที่เป็นมะเร็ง อาจมาจากการติดเชื้อไวรัส สัมผัสกับสารเคมีเยอะ สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้ามาก และยาบางชนิดทำให้เกิดมะเร็งได้ ตากแดดมากไปก็มีโอกาสเป็นมะเร็ง และเท่าที่พิสูจน์ได้ 5-10% มีการถ่ายทอดมะเร็งทางพันธุกรรม ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่

“ถ้าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยๆ ต้องระวังว่า มะเร็งชนิดนั้นอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม” คุณหมอกล่าว และย้ำว่า

มะเร็งจากพันธุกรรม เรามีวิธีการประเมินความเสี่ยงโดยการซักประวัติก่อน จากนั้นก็ตรวจคัดกรองว่ามียีนตัวนั้นหรือไม่
ที่มา...www.bangkokbiznews.com

เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

ภาพ : กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร



ผู้ตั้งกระทู้ News กระทู้ตั้งโดยเว็บมาสเตอร์ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2008-12-07 08:05:59